จับตาเอกชนหันใช้ “รถโดยสารไฟฟ้า” 3 สายการบินจ่อแผนผลิตรับ-ส่งผู้โดยสารขึ้นเครื่อง

นายสุชาติ พันธุ์ไพศาล หนึ่งในนักวิจัย “การพัฒนาต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน สำหรับประเทศไทย” ซึ่งได้ร่วมมือกับคณะนักวิจัยสร้าง “รถโดยสารต้นแบบ” ทดลองใช้ได้จริง ให้สัมภาษณ์ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ถึงแนวทางการใช้รถโดยสารไฟฟ้าในประเทศขณะนี้ว่า เริ่มต้นได้ทำการศึกษาเรื่องรถโดยสารไฟฟ้า โดยเริ่มจากงานวิจัยปริญญาเอก ที่ทำ ร่วมกับ รศ.ดร.ธนัดชัย กุลวรวานิชพงษ์ จากสำนักวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยทำการทบทวนเอกสารและงานวิจัยทีเกี่ยวข้องประมาณ 1 ปี จากนั้นทีมงานจากบริษัท อู่เชิดชัยอุตสาหกรรม จำกัด เป็นหน่วยงานเอกชนซึ่งมาช่วยประกอบอุปกรณ์ที่สั่งซื้อจากต่างประเทศให้เป็นตัวโครงสร้างรถภายในระยะเวลา 6-8 เดือน และเมื่อประกอบเสร็จเรียบร้อยบริษัทผู้ผลิตมอเตอร์จากเยอรมันเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อตรวจรับรองคุณภาพความเหมาะสม

“ตอนที่เราบอกบริษัทมอเตอร์จากเยอรมันว่าเราผลิตรถโดยสารไฟฟ้าเสร็จแล้ว ในตอนแรกเขาไม่เชื่อด้วยซ้ำ แต่เขาก็มาดูเราแสดงศักยภาพการวิ่งรถขึ้นโทลเวย์ ด้วยความเร็ว 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเพื่อเช็คประสิทธิภาพและอัตราเร่งที่จะเป็นไปตามมาตรฐานยุโรปตามที่มอเตอร์เขาควรจะเป็น”นายสุชาติกล่าว

ผู้วิจัยพัฒนาต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้า กล่าวว่า ในส่วนของการออกแบบฟังก์ชั่นของรถเป็นการออกแบบโดยคำนึงถึงความเป็นจริงของกรุงเทพมหานครโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นสภาพการจราจรติดขัด หรือสภาพถนนที่เอ่อด้วยน้ำรอการระบาย หรือแม้แต่เพื่อรองรับผู้โดยสารพิการนั่งรถเข็น ซึ่งยังเป็นกลุ่มชายขอบต่อภาพรวมขนส่งมวลชนไทย

“ต้นทุนการผลิตรถต้นแบบคันนี้อยู่ที่ 13 ล้านบาท ซึ่ง 60% ของราคาตัวรถเป็นค่าแบตเตอรี่ หากใช้ในกรุงเทพเพียงที่เดียวอาจลดจำนวนแบตเตอรี่ลงได้เพื่อประหยัดต้นทุนของตัวรถในอนาคต และเมื่อมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาในอนาคตอาจทำให้ราคาแบตเตอรี่ลดลงอีก”เขากล่าว

นักวิจัยจากสำนักวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าระบุว่า หลังจากการผลิตลุล่วงไปด้วยดีและได้เปิดตัวที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเมื่อปี 2014 แล้ว นับแต่นั้นมาต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้านี้ถูกใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แต่ขณะนี้มีการย้ายรถโดยสารไฟฟ้าดังกล่าวไปยังจังหวัดโคราช เนื่องจากผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเตรียมเปิดตัวสถานีชาร์จเป็นแห่งแรกในภาคพื้นตะวันออกเฉียงเหนือที่โคราช

“ตอนนี้ทั้งต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้าและสถานีชาร์จอยู่ที่โคราช เนื่องจากโคราชกำลังอยู่ในช่วงตั้งโครงการทำรถรางโดยสารไฟฟ้าวิ่งรอบเมืองโดยใช้วิธีการชาร์จแบตแบบสถานีชาร์จด้านบนเหนือตัวรถ จะทำให้รถลดจำนวนแบตเตอรี่ลง ส่งผลด้านราคาที่คุ้มค่าเงินมากขึ้น เพราะวิ่งเพียง 22 กิโลเมตรภายในโคราช แต่ก่อนหน้านี้ใช้ในการรับส่งพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจากบางเขนไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนวนคร โดยขับขึ้นโทลเวย์โดยใช้ความเร็วที่ 70-90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และบางครั้งก็มีการส่งพนักงานรอบกรุงเทพด้วย”

สำหรับประเทศไทยหากมีการสร้างรถโดยสารไฟฟ้าเช่นนี้ขึ้นในอนาคต สุชาติ กล่าวว่า การเลือกวิธีชาร์จแบตเตอรี่ต้องคำนึงถึงจำนวนรถเพื่อถ่วงดุลความคุ้มค่าการลงทุน หากมีการผลิตรถเพิ่มจำนวนมากจะเกิดความคุ้มค่าต่อการสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างสถานีชาร์จด้านบนเหนือตัวรถ แต่หากมีการผลิตรถจำนวนคันน้อย การใช้วิธีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่หรือการชาร์จโดยตรงกับตัวรถจะคุ้มค่ามากกว่า ซึ่งข้อมูลโดยเฉลี่ยรถโดยสารในกรุงเทพมักขับในระยะทาง 12 กิโลเมตรต่อรอบ และมีการวิ่งรถเฉลี่ย 2-4 เที่ยวต่อวัน

“การเลือกรูปแบบการชาร์จแบตเตอรี่ที่เหมาะสมขึ้นกับแนวทางของรัฐบาล ถ้ารัฐบาลบอกว่าสร้าง 1,000 คัน และรัฐบาลสนับสนุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานสำคัญจะดีสุด แต่หากสร้างเพียง 100-200 คัน แบบชาร์จปลั๊กอินหรือเปลี่ยนแบตเตอรี่จะดีกว่า”เขากล่าว และว่า ขณะนี้ตนและสายการบิน 3 แห่ง ได้แก่ การบินไทย บางกอกแอร์เวย์และแอร์เอเชีย กำลังอยู่ในช่วงทำแผนงานสร้างรถโดยสารไฟฟ้าในสนามบิน เนื่องจากสายการบินเล็งเห็นว่าพลังงานไฟฟ้าสามารถช่วยลดภาระให้กับสิ่งแวดล้อมได้


ทั้งนี้ สามารถติดตามอ่าน รายงานพิเศษฉบับเต็ม >> อนาคต “รถโดยสารไฟฟ้า” นวัตกรรมไทย “ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว”..จะอยู่หรือไปในกำมือรัฐบาล บนเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์