“ไทย-ปินส์-อินโดฯ” โหยหารถยนต์ไฟฟ้า

รายงานโดย นริศรา สื่อไพศาล

“นิสสัน มอเตอร์ส” เผยผลการศึกษาร่วมกับ ฟรอสต์ แอนด์ซัลลิแวน หัวข้อ “อนาคตของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” โดยผลวิจัยพบว่า ปัจจุบันผู้บริโภค 1 ใน 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วางแผนจะซื้อรถยนต์ในเร็ว ๆ นี้ แสดงให้เห็นว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพในการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า

วิจัยดังกล่าว ศึกษาผลในสิงคโปร์ อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ โดยใช้ตัวอย่างประเทศละ 300 คน ซึ่งชาวฟิลิปปินส์ ไทย และอินโดนีเซีย คือกลุ่มที่มีความต้องการมากที่สุด ส่วนสิงคโปร์ มีความต้องการอยู่ในอันดับรั้งท้าย แม้ว่าจะเป็นประเทศที่ดูพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สุด แต่เนื่องจากการขอใบอนุญาตเป็นเจ้าของรถยนต์มีราคาสูงมาก ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สนใจในการซื้อรถยนต์เท่าประเทศอื่น ๆ

นายวิเวก ไวทยา รองประธานอาวุโสฝ่ายระบบขับเคลื่อนจากฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน ผู้จัดทำวิจัยดังกล่าว บอกว่า ผลการศึกษาที่ระบุว่าความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในอาเซียนมีอยู่สูง ถือเป็นเรื่องที่สร้างความประหลาดใจให้พอสมควร แต่ก็ถือว่าเป็นจุดที่ชี้ให้เห็นว่า รถยนต์ไฟฟ้าเริ่มเข้ามาในภูมิภาคนี้บ้างแล้ว

อย่างไรก็ตาม การสร้างตลาดรถยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังเป็นเรื่องที่ต้องดูกันไปอีกยาว โดยในงาน “นิสสัน ฟิวเจอร์ส 2018” ซึ่งจัดขึ้นที่สิงคโปร์ และเป็นการเปิดตัวรถยนต์ “นิว นิสสัน ลีฟ” ในภูมิภาคนี้ครั้งแรก ผู้กำกับกฎหมายและสมาคมต่าง ๆ ที่ดำเนินกิจการด้านรถยนต์ไฟฟ้าจากทั่วอาเซียน ได้ขึ้นเวทีนั่งถกเถียง พูดคุยกันถึงหนทางการผลักดันรถยนต์แห่งอนาคต ซึ่งภายหลังได้ข้อสรุปตรงกันว่า “รัฐบาล” ต้องมีบทบาทสำคัญที่สุดทั้งในเรื่องการกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับ การนำเข้า ผลิต ประกอบ ตลอดจนการผลักดันให้โครงสร้างพื้นฐานเกิดขึ้น ในเรื่องของสถานีชาร์จไฟที่รองรับทั่วถึงทั่วประเทศ

ทั้งนี้ หลายประเทศอาเซียนได้เริ่มต้นไปแล้วบ้าง บางประเทศช้ากว่า บางประเทศไปเร็วกว่า แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือการนำอีวีเข้าสู่ตลาดประเทศให้ได้

นายรอม เมล ที. จวน ประธานสมาคมรถยนต์ไฟฟ้าแห่งฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ในฟิลิปปินส์ได้มีการริเริ่มรถยนต์ไฟฟ้าในพื้นที่นำร่อง รัฐบาลเองก็ได้ออกมาตรการทางภาษีตัวใหม่ ซึ่งทำให้ฟิลิปปินส์ถือว่ามีศักยภาพมากขึ้นในด้านรถยนต์ไฟฟ้า รัฐบาลมีความพยายามในการทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าถูกลง ขณะที่มีบริษัทต่างชาติ 2 แห่งเข้ามาลงทุนทำสถานีชาร์จไฟฟ้าในฟิลิปปินส์แล้ว

ส่วนอธิบดีกรม ชิ้นส่วนยานยนต์และไฟฟ้า จากกระทรวงอุตสาหกรรมอินโดนีเซียเอง ก็กล่าวว่า รัฐบาลอินโดฯเองก็เริ่มเดินหน้าแล้ว และได้เซตเป้าหมายระยะไกลที่จะยกเลิกการใช้รถยนต์สันดาปภายใน 2040 ปีเดียวกับเป้าหมายของรัฐบาลจีนและอังกฤษ

ขณะที่นาย Goh Chee Kiong หัวหน้าแผนกพัฒนากลยุทธ์จาก “เอสพี กรุ๊ป” สิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า การทำให้รถอีวีเกิด อีกปัจจัยคือทำให้ผู้ใช้งานให้ความมั่นใจในเรื่องของการใช้งานแบตเตอรี่ เพราะปัจจุบันแบตเตอรี่เป็นประเด็นถกเถียงสำคัญว่า จะวิ่งได้เท่าไหร่ หรือมีอายุขัยเท่าไหร่ แบตเตอรี่กำหนดทั้งหมด ดังนั้นนี่คืออีกประเด็นที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ

ด้าน ดร.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ระบุปิดท้ายว่า ทางสมาคมเองก็ได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลไทย ว่าจะทำอย่างไรในการผลักดันตลาดรถอีวีให้เกิดขึ้นในไทยให้ได้ ซึ่งปัจจุบันนโยบายที่โดดเด่นที่สุดในไทยในการชูอีวีคือ การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ขณะเดียวกัน ก็ได้มีความพยายามในการดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนสถานีไฟฟ้าด้วย