‘โตโยต้า’ จี้ปรับเงื่อนไขแท็กซี่ เพิ่มดีกรี‘รักษ์โลก’ปีนี้ส่งไฮบริดเพิ่ม4รุ่น

ไทยแท็กซี่

โตโยต้า รบไม่เลิกเปิดศึก “ไฮบริด” อีกระลอก ปีนี้ลุยอย่างน้อย 4 รุ่น พร้อมเดินหน้า ขานรับนโยบายบริษัทแม่-JCPT ชูพลังงานที่หลากหลาย เล็งเจรจาภาครัฐพิจารณารถไทยแท็กซี่ เพิ่มโอกาสการใช้พลังงานแบบใหม่ LPG ผสมมอเตอร์ไฟฟ้า

นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยถึงแผนธุรกิจของโตโยต้า ประเทศไทย ว่า ปีนี้จะรุกตลาดกลุ่มรถไฮบริดออกสู่ตลาดประเทศไทยอีกอย่างน้อย 4 รุ่น ในจำนวนนี้ยังไม่รวมรถพรีอุส ไฮบริดเจเนอเรชั่น 5 ที่เพิ่งอวดโฉมในงานมอเตอร์โชว์ เพื่อให้เป็นไปตามแผนธุรกิจและนโยบายของโตโยต้าเกี่ยวกับใช้พลังงานทางเลือกเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และในปีนี้ยังพร้อมแนะนำรถปิกอัพไฟฟ้า 100% อย่าง ไฮลักซ์ รีโว่ บีอีวี ออกสู่ตลาดในประเทศไทยด้วย

อีกภารกิจคือ ความตั้งใจที่จะเจรจากับภาครัฐบาลพิจารณาปรับเงื่อนไขข้อกำหนดของรถแท็กซี่ในประเทศไทยใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของตลาดและทิศทางในอนาคต ซึ่งโตโยต้าได้นำเจแปนแท็กซี่ ไฮบริดซึ่งใช้พลังงานทางเลือก คือ ก๊าซแอลพีจีใช้กับเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร และมอเตอร์ไฟฟ้ามานำเสนอ สำหรับอนาคตของรถแท็กซี่ในประเทศไทย ซึ่งเดิมแท็กซี่บ้านเราใช้เครื่องยนต์ 1.6 ลิตร

โนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
โนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด

“สาเหตุที่เราผลักดันเทคโนโลยีไฮบริด เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ได้เลย ไม่ต้องรอความพร้อมของระบบสาธารณูปโภคใด ๆ ส่วนการแก้ไขข้อกำหนดรถแท็กซี่ หากได้รับการสนองตอบสามารถดำเนินการผลิตได้เลย

ขณะที่แผนการผลิตหรือประกอบรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง โตโยต้า bz4x นั้น บริษัทขอยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีแผนผลิตหรือประกอบในประเทศไทย แต่อยู่ระหว่างการพิจารณาความเป็นไปได้ว่าจะผลิตรถยนต์ลักเซอรี่รุ่นใดก่อน ซึ่งในที่นี้อาจหมายถึง เลกซัส, คัมรี่ และ bz4x ในองค์รวมของโตโยต้า แต่ยังต้องดูว่ารถดังกล่าวได้รับความนิยมมากน้อยเพียงใด มีปริมาณมากเพียงพอจะนำเข้ามาประกอบในไทยหรือไม่ ส่วนรายละเอียดขณะนี้ยังตอบไม่ได้

ADVERTISMENT

“วันนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ คือเรื่องของคาร์บอนนิวทรัล ดังนั้นการผลิตรถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีไฟฟ้ามีความสำคัญมาก รถบีอีวีจึงเป็นทางออก แต่อยากให้รัฐบาลไทยออกนโยบายส่งเสริมรถไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ เพราะรถไฟฟ้าประเภทอื่นก็นำไปสู่การเป็นคาร์บอนนิวทรัลได้เหมือนกัน รถพลังงานทางเลือกอื่นที่ว่า เช่น รถไฮบริด รถปลั๊ก-อิน ไฮบริด รถยนต์ไฟฟ้าที่มีเซลล์เชื้อเพลิง (fuel cell) หรือแม้แต่รถสันดาปภายในที่ใช้ไฮโดรเจน โดยโตโยต้าพร้อมจะพัฒนารถที่มีเชื้อเพลิงหลากหลายเหล่านี้ เพื่อสนองความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าทั้งไทยและหลาย ๆ ประเทศให้ได้”

นายยามาชิตะกล่าวอีกว่า การที่โตโยต้านำเจแปนแท็กซี่ ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์คาร์มาโชว์ เพื่อต้องการสะท้อนไปยังภาครัฐว่า หากต้องการรถที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภาครัฐควรพิจารณาปรับกฎเกณฑ์มาตรฐานรถแท็กซี่ของประเทศไทยใหม่

ADVERTISMENT

สำหรับเจแปนแท็กซี่จะมีจุดเด่นหลัก ๆ คือ ห้องโดยสารกว้าง เป็นรถไฮบริดที่ใช้เชื้อเพลิงแอลพีจี การลดการปล่อย CO2 คาดว่าจะต้องใช้เวลาเป็น 100 ปีกว่าจะลดได้หมด ฉะนั้นเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอนน่าจะเป็นไปได้มากกว่า โดยต้องพิจารณาว่าเทคโนโลยีอะไรที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้เร็วที่สุด จะช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และเชื่อว่าหากได้รัฐบาลใหม่ ก็น่าจะให้ความสำคัญเรื่องนโยบายรถไฟฟ้าเช่นกัน