กรมศุลลั่นปล่อยรถ 2 พันคัน เกรย์ร้องสอบ “กุลิศ” ส.นำเข้ายันไม่มีเอี่ยว

กรมศุลฯยันปล่อยรถค้างท่าเรือแล้วกว่า 2,000 คัน ระบุรถ 4 ยี่ห้อดีเอสไอส่งข้อมูลชัด ส่วนใหญ่สำแดงต่ำ ด้านชมรมผู้นำเข้าหัวเสียเดินสายยื่นหนังสือเรียกร้องขอความเป็นธรรม สตง., ผู้ตรวจการแผ่นดิน, สำนักนายกฯ วอนตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่อธิบดี “กุลิศสมบัติศิริ” ฝั่งสมาคมผู้นำเข้าและจำหน่ายรถยนต์ใหม่ ออกแถลงการณ์ไม่เกี่ยวข้อง ชี้คนของชมรมไม่ได้เป็นสมาชิก

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหารถนำเข้าทั้งกลุ่มรถยุโรปและญี่ปุ่นค้างท่าเรือ ที่ผ่านมากรมศุลกากรได้ดำเนินการตรวจปล่อยรถยนต์นำเข้าอย่างตรงไปตรงมา โดยมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการนำเข้าที่ทำอย่างถูกต้องได้รับการอำนวยความสะดวก ล่าสุดได้ปรับปรุงแนวทางการตรวจปล่อยรถยนต์หรู จนกระทั่งปัจจุบันผู้ประกอบการสามารถนำรถออกไปได้จำนวนมากแล้ว

“ที่เป็นปัญหาคือรถหรู 4 ยี่ห้อ ดีเอสไอส่งราคาซื้อขายปี 2556-2557 มาให้กรมตรวจสอบ ซึ่งพบว่าผู้นำเข้าสำแดงต่ำกว่าราคาซื้อ-ขายรถยนต์หรูของดีเอสไอมาก จึงจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มงวด

ในการตรวจปล่อย ได้แก่ ปอร์เช่ ลัมโบร์กินี เฟอร์รารี่ และมาเซราติ แต่นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.มาถึงขณะนี้ เช็กสต๊อกเมื่อวันที่ 21 ก.พ. พบว่ามีปล่อยรถออกไปประมาณ 120 คันแล้วอย่างยี่ห้อปอร์เช่ ก็ออกไปเกือบ 40 คันแล้ว ส่วนพวกรถทั่วไป รถญี่ปุ่นออกของไปมากกว่า 2,000 คันแล้ว” นายกุลิศกล่าว

สำหรับแนวปฏิบัตินั้น กรมศุลกากรจะยึดแนวทางคำสั่ง 317 หากผู้นำเข้าสำแดงราคาอย่างถูกต้อง กล่าวคือสำแดงราคาไม่ต่ำกว่าราคาตามคำสั่ง 317 ที่เจ้าหน้าที่ใช้ในการดูความเสี่ยง ก็สามารถนำรถออกไปได้ทันที ซึ่งทางกรมศุลกากรก็จะมีการเรียกเอกสารไว้เพื่อตรวจสอบ หากพบว่าจ่ายอากรขาด ก็จะเรียกเก็บอากรที่ขาดต่อไป แต่หากผู้นำเข้าสำแดงราคาต่ำกว่าคำสั่ง 317 กรมศุลกากรก็ไม่สามารถปล่อยรถออกไปได้ เนื่องจากต้องดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา เพราะเจ้าหน้าที่เองก็ต้องถูกตรวจสอบโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ด้านนายชัชวัฎ สุวรรณโณชินนายกชมรมผู้ประกอบการรถยนต์นำเข้าอิสระหรือเกรย์มาร์เก็ต เปิดเผยว่า ความเข้มงวดของกรมศุลกากร ทำให้ผู้ประกอบการนำเข้ารถยนต์ 4 ยี่ห้อ เดือดร้อนและเสียหายมากกว่า 5 เดือนไม่สามารถออกรถได้ จึงรวมตัวกันยื่นหนังสือให้ตรวจสอบการทำงานของอธิบดีกรมศุลกากร โดยยื่นไปแล้ว 3 หน่วยงาน ได้แก่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน, สำนัก

ผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักนายกฯถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ราชการของนายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร

โดยระบุว่า หลังออกคำสั่งภายในกรมศุลกากรเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2560 ต่างไปจากคำสั่งกรมศุลกากร 317/2547 ที่ใช้เก็บภาษีรถยนต์นำเข้าจากต่างประเทศที่ใช้มา 14 ปี 9 อธิบดี และคำสั่งใหม่ไม่มีการแจ้งให้ผู้ทำธุรกิจทราบล่วงหน้าทำให้ธุรกิจเสียหาย

“การกระทำของนายกุลิศทำให้รถยนต์ 4 ยี่ห้อ ประกอบด้วย ปอร์เช่ มาเซราติ ลัมโบร์กินี เฟอร์รารี่ ที่มาถึงโกดังของกรมศุลกากรในท่าเรือแหลมฉบังก่อนแล้วต้องเสียภาษีสูงขึ้นมาก ส่งผล

ให้ผู้ซื้อปฏิเสธการรับรถ เรียกเงินค่าจองรถคืน กลายเป็นความเสียหายของทั้งผู้บริโภค ผู้ประกอบธุรกิจ และรัฐบาลที่ไม่ได้เงินภาษีติดต่อกัน 5 เดือนแล้ว และการเปลี่ยนแปลงราคาส่วนลดการตลาดนำเข้ารถหรูโดยปรับรถยนต์ปอร์เช่เหลือแค่ 5% จากเดิม 43% ทำให้พวกตนได้รับความเสียหายและไม่ได้รับความเป็นธรรม”

ส่วนประเด็นเรื่องชมรมเกรย์มาร์เก็ตลงขันจะย้ายอธิบดีกรมศุลกากร ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ไม่มีการลงขันใด ๆ เกิดขึ้น เพราะตามกฎหมายแล้วการลงขันเพื่อสั่งย้ายใครไม่สามารถทำได้

ด้านนายสมศักดิ์ ศรีรัตนประภาส นายกสมาคมผู้นำเข้าและจำหน่ายรถยนต์ใหม่ กล่าวว่า สมาคมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใดกับการร้องเรียนครั้งนี้ นายชัชวัฎ สุวรรณโณชิน ไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมแต่อย่างใด เรื่องนี้แม้จุดมุ่งหมายจะเหมือนกัน แต่แนวทางในการปฏิบัติแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยทางสมาคมมีนโยบายชัดเจนที่จะใช้การร่วมเจรจาสร้างความรู้ความเข้าใจกับหน่วยงานรัฐเป็นหลัก เพื่อกำหนดทิศทางและนโยบายในการรองรับการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดจากแนวทางการดำเนินงานของกรมศุลกากรเกี่ยวกับการตรวจปล่อยรถยนต์หรู 4 ยี่ห้อ ได้แก่ ลัมโบร์กินี ปอร์เช่ เฟอร์รารี่ และมาเซราติ โดยใช้ฐานข้อมูลราคาซื้อ-ขายรถยนต์จากต่างประเทศและค่าใช้จ่ายทางการตลาดของรถยนต์แต่ละยี่ห้อ แทนการแสดงหลักฐานใบขนส่งสินค้าขาออกจากประเทศต้นทาง และใบเสร็จค่าประกันรถยนต์ ทำให้สถานการณ์การนำรถยนต์ออกจากด่านศุลกากรคลี่คลายลงไปได้บ้าง

แม้ทางผู้ประกอบการจะออกรถได้แต่ต้องเผชิญกับปัญหาขาดทุนจากต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นเรื่องนี้ทางสมาคมมีนโยบายที่จะเร่งเจรจาและประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจ และกำหนดทิศทางการปฏิบัติได้อย่างชัดเจน และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย คาดว่าภายในกลางปีนี้ ทางหน่วยงานรัฐน่าจะสามารถสรุปทิศทางต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

“สมาคมต้องการให้กรมศุลกากรนำมาตรการ 317 กลับมาใช้กับรถยนต์นำเข้าทุกยี่ห้ออีกครั้ง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ลุล่วงเป็นการชั่วคราวก่อน เนื่องจากปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อธุรกิจของผู้ประกอบการอย่างรุนแรง และสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้บริโภคที่ซื้อรถยนต์แต่ยังไม่ได้รับการส่งมอบมาเป็นเวลานานกว่า 7 เดือน และหากมีข้อสรุปชัดเจน ทางสมาคมยินดีที่จะปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด”

ส่วนกระแสข่าวที่มีกลุ่มผู้นำเข้าที่เสียผลประโยชน์ร่วมลงขันเพื่อโยกย้ายอธิบดีกรมศุลกากร ท่านกุลิศ สมบัติศิริ และเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวนั้น ตนคิดว่าเป็นเพียงข่าวลือ