Fuji Motorsports Museum พิพิธภัณฑ์มีชีวิต อัดแน่นด้วย “แรงบันดาลใจ”

Fuji Motorsports Museum
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ
ผู้เขียน : วุฒิณี ทับทอง

จากจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ “มอเตอร์สปอร์ต” เข้าสู่จุดเปลี่ยน ความหักเห แรงบันดาลใจ และกลิ่นอายความกระหายในชัยชนะของผู้คนในวงการมอเตอร์สปอร์ต

ถูกขับเคลื่อนผ่านยุคแล้วยุคเล่า และได้ถูกรวบรวมมาไว้ยังพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ “Fuji Motorsports Museum” ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองหลวงของค่ายโตโยต้า มอเตอร์ ใกล้กับสนามแข่งรถ Fuji Speedway แถมยังมีวิวของภูเขาไฟฟูจิตระหง่านให้เราได้เห็นผ่านมุมมองต่าง ๆ

และพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ในบริเวณโรงแรม Fuji Speedway Hotel โดยเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา จากแรงบันดาลใจอันแน่วแน่ของอากิโอะ โตโยดะ ประธานใหญ่โตโยต้าในขณะนั้น ที่ต้องการรวบรวมประวัติศาสตร์ของ “มอเตอร์สปอร์ต” เอาไว้ เพื่อจัดแสดงให้ผู้คนเห็นถึงวิวัฒนาการและจิตวิญญาณอันแน่วแน่ของนักขับ นักแข่ง นักพัฒนายานยนต์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลก ทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศรวมกันมากถึง 10 แบรนด์ นำรถแข่งมาจัดแสดงที่นี้

Fuji Motorsports Museum

“Fuji Motorsports Museum” เป็นสถานที่ที่รวบรวมรถแข่งจากทั่วทุกมุมโลก จากซีกโลกตะวันออก รวมทั้งซีกโลกตะวันตกมาจัดแสดงมากกว่า 40 คันทั่วโลก เพื่อแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการที่สำคัญของวงการมอเตอร์สปอร์ตตั้งแต่เมื่อครั้ง 130 ปีที่ผ่านมา

ชนิดที่ว่าทลายกำแพงของค่ายรถ ยี่ห้อรถลงไปจนสิ้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาของมอเตอร์สปอร์ต ในแต่ละยุคแต่ละสมัย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและผลักดันโลกของอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วย

และล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสได้ก้าวข้ามบานประตู “Fuji Motorsports Museum” ย้อนกลับไปสัมผัสกับกลิ่นอายของเครื่องจักร กลิ่นควัน กลิ่นน้ำมัน น้ำมันเครื่อง ตั้งแต่ยุคเริ่มต้น กีฬามอเตอร์สปอร์ต

บอกได้เลยว่า ที่เเห่งนี้จะทำให้ผู้ที่หลงใหลกีฬาประเภทนี้ รวมทั้งผู้ที่ชื่นชอบรถยนต์ จะได้ทะลุมิติ ย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคเริ่มต้น ในยุคที่ผู้คนเริ่มค้นหาแหล่งพลังงานของวิธีการขนส่งแบบใหม่เพื่อทดแทน “รถม้า”

มอเตอร์สปอร์ตจึงถือกำเนิดขึ้น จากการแข่งขันระหว่างเครื่องยนต์ไอน้ำ ไฟฟ้า และเครื่องยนต์สันดาปภายใน ผ่านการพัฒนาทางเทคโนโลยียานยนต์อย่างรวดเร็ว และการแข่งขันอันดุเดือดของผู้ผลิตรถยนต์แต่ละรายที่ต้องการท้าทายตัวเองผ่านการแข่งขันรายการต่าง ๆ แล้ว ยังความท้าทายที่จะก้าวขึ้นไปอยู่ระดับหัวแถวของอุตสาหกรรม

Fuji Motorsports Museum

ราวกับว่า รถทุกคันที่จอดเรียงรายอยู่ ยังสามารถโลดแล่นอยู่บนแทร็กสนามแข่งต่าง ๆ ทั่วทุกมุมโลก ด้วยการจัดวาง รวมทั้งแสงและเงา

ภายในพิพิธภัณฑ์ แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3 โซน 1.จุดเริ่มต้นแห่งวงการมอเตอร์สปอร์ต ในยุคก่อนสงครามโลก 2.เทคโนโลยีมอเตอร์สปอร์ตที่มีส่วนขับเคลื่อนรถยนต์แห่งอนาคต และ 3.พลังงานใหม่แห่งยานยนต์และมอเตอร์สปอร์ต เรียกได้ว่า รถแต่ละคันมีเรื่องราว บันทึกรอยต่อของประวัติศาสตร์ในโลกยานยนต์และมอเตอร์สปอร์ตเข้า จนแสดงให้เห็นไปยังแก่นความคิดของผู้ก่อตั้งแบรนด์ การพัฒนารถแข่ง ที่ถูกถ่ายทอดมาเป็นรถยนต์ที่เรา ๆ ท่าน ๆ ได้สัมผัสได้ใช้งานในปัจจุบัน

ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังมีโซนวิวัฒนาการของมอเตอร์สปอร์ตในทวีปเอเชีย และมีบันทึกที่บ่งบอกว่า จุดเริ่มต้นการแข่งรถในเอเชียจะมีเฉพาะญี่ปุ่นและไทย

Fuji Motorsports Museum

โดยประเทศไทย มีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช หรือพระองค์ชายพีระ หรือชื่อในวงการนักแข่งว่า “B.Bira หรือ พ.พีระ” เป็นนักแข่งชาวไทยและชาวเอเชียคนแรกที่เข้าร่วมการแข่งขัน Coupe de Prince Rainier ที่เซอร์กิตเดอโมนาโก และทรงชนะเลิศการแข่งขันในยุคนั้น ถือเป็นการสร้างความฮือฮา และความภาคภูมิใจให้คนเอเชีย ในฐานะที่ทรงเป็นคนเอเชียสามารถเอาชนะได้ และทรงชนะเลิศการแข่งรถกรังด์ปรีซ์ในยุโรปอีกหลายครั้ง จนได้รางวัล “ดาราทอง” จากสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร 3 ปีซ้อน

ส่วนอีกมุมหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความตั้งใจจริงในการพัฒนายานยนต์ของโตโยต้า ได้รวบรวมเอาลายเซ็นนักแข่งที่มีชื่อเสียงชาวญี่ปุ่น และทั่วทุกมุมโลกมาจัดแสดง หนึ่งในนั้น มีลายเซ็นของ “Morizo” หรืออดีตซีอีโอของโตโยต้าอย่าง “อะกิโอะ โตโยดะ” มาจัดแสดงด้วย

เรียกได้ว่า ใครที่หลงใหลในกีฬาประเภทนี้ หากได้ก้าวเท้าเข้ามาสัมผัส จะเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข และเก็บเกี่ยวเอาแรงบันดาลใจกลับบ้านไปได้เต็มกระเป๋า

Fuji Motorsports Museum

สำหรับผู้สนใจเข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ สามารถจองบัตรเข้าชมล่วงหน้าผ่านทางเว็บไซต์ https://fuji-motorsports-museum.jp/en/ อัตราค่าเข้าชมสำหรับวันธรรมดาอยู่ที่ 1,800 เยน แต่ถ้าจองล่วงหน้าเหลือ 1,600 เยน

ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์อยู่ที่ 2,000 เยน แต่หากจองล่วงหน้าเหลือ 1,800 เยน

รวมถึงมีอัตราพิเศษสำหรับนักเรียนประถม-มัธยม, ผู้พิการ และผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือทางการแพทย์

การมาพิพิธภัณฑ์ครั้งนี้ นอกจากเราจะได้เรียนรู้ สัมผัสกับหน้าประวัติศาสตร์ในโลกยานยนต์และมอเตอร์สปอร์ตแล้ว เรายังได้เห็นรอยต่อของหน้าประวัติศาสตร์ที่กำลังจะเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนผ่าน เพื่อเดินไปสู่พลังงานขับเคลื่อนใหม่

ทั้งยานยนต์ไฟฟ้า หรือพลังงานใหม่ อย่างไฮโดรเจน ที่เรียกว่า วันนี้รอยต่อของวงการมอเตอร์สปอร์ต จะขับเคลื่อนทิศทางใด และความท้าทายของผู้ผลิตรถยนต์ การเปลี่ยนผ่านเพื่อเขียนหน้าประวัติศาสตร์มอเตอร์สปอร์ตหน้าใหม่ กำลังถูกท้าทาย และเข้าสู่ยุคเริ่มต้นของพลังงานใหม่ ที่ใครปรับตัวได้เร็วกว่า ถือเป็นผู้ที่ กำโอกาสไว้ในมือ

Fuji Motorsports Museum
M197 Panhard et Levassor Type B2 สัญชาติฝรั่งเศส คันสีแดง รถเครื่องยนต์สันดาปภายในคันแรกของโลก ผลิตขึ้นมาใช้แข่งขันคันแรกที่ได้รับชัยชนะในการแข่งขันรถยนต์ครั้งแรกของโลก
Fuji Motorsports Museum
Mercedes-Benz W25 รถแข่งในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง การออกแบบที่เน้นความโค้งมนของตัวถัง รถคันนี้รัฐบาลเยอรมันได้ให้เงินทุนจำนวนมหาศาลแก่ Mercedes-Benz และ Auto Union (Audi) เพื่อพัฒนาทีมแข่งรถ
Fuji Motorsports Museum
Type 35B จาก Bugatti จากอิตาลี ถือเป็นรถแข่งที่ออกแบบมาเพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของการแข่งขันกรังด์ปรีซ์ในยุโรป ปี ค.ศ. 1926
Fuji Motorsports Museum
TOYOTA GR-One ลงแข่งในรายการเลอมัง สามารถคว้ารางวัลที่ 2
Fuji Motorsports Museum
MAZDA 787 B หมายเลข 55 เครื่องยนต์โรตารีอันเลื่องชื่อ เป็นรถญี่ปุ่นคันแรกที่สามารถคว้าแชมป์เลอมัง 24 ชั่วโมงมาได้