กรมศุลฯเข้ม เคลียร์ปมร้อน…รถหรู

ปัญหานำเข้ารถหรูที่คาราคาซังมานาน กลายเป็นประเด็นฮอตขึ้นมาอีกครั้ง หลังการเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีของผู้ประกอบการกลุ่ม “ชมรมผู้ประกอบการรถยนต์นำเข้าอิสระ” โดยอ้างถึงความเดือดร้อนในการทำธุรกิจจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ซึ่งยึดตามคำสั่งกรมศุลกากร เมื่อ 28 ส.ค. 2560 ในการตรวจปล่อยรถยนต์หรู 4 ยี่ห้อ ประกอบด้วย

สถานการณ์ปัจจุบันเป็นเช่นไร “ชัยยุทธ คำคุณ” รองอธิบดีกรมศุลกากรรักษาการที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลฯ อธิบายประเด็นที่เกี่ยวข้อง

ย้ำผู้นำเข้าต้องสำแดงราคา

“ชัยยุทธ” เริ่มต้นว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการนำเข้ารถหรูมักพูดว่า กรมศุลฯไปเปลี่ยนแปลงคำสั่งวันที่ 28 ส.ค. 2560 แต่จริง ๆ แล้วคำสั่งดังกล่าวใช้กับเจ้าหน้าที่ “เพื่อประเมินความเสี่ยง” ไม่ใช่เป็นคำสั่งเพื่อให้ผู้นำเข้าได้ “กำหนดราคาศุลกากร” ตามคำสั่งนั้น เนื่องจากหน้าที่ของผู้นำเข้า “ต้องสำแดงราคาสินค้าตามที่ได้ซื้อขายมา” ไม่เพียงรถยนต์อย่างเดียว แต่หมายถึงสินค้านำเข้าทุกชนิด

“ฉะนั้นหน้าที่ของผู้นำเข้า คือสำแดงราคา ส่วนหน้าที่กรมศุลฯ คือตรวจสอบราคา เพื่อดูว่าผู้นำเข้าสำแดงราคาถูกต้องมากน้อยขนาดไหน” นายชัยยุทธกล่าว

4 ยี่ห้อยึดคำสั่ง 28 ส.ค. 60

หลังกรมศุลฯได้รับข้อมูลจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทำให้ทราบ “ราคาเบื้องต้น” ของรถหรูทั้ง 4 ยี่ห้อ ว่าควรเป็นเท่าไหร่ จากนั้นก็นำราคามากำหนดเป็นฐานประเมินความเสี่ยง เปรียบเทียบกับราคาที่ผู้นำเข้าสำแดง ว่าแตกต่างกันแค่ไหน หากพบว่า แตกต่างกัน ก็จะมีข้อสงสัยว่า ราคาที่สำแดง อาจไม่ใช่ราคาซื้อขายแท้จริง

“กรมศุลฯ ก็มีแนวทางว่า เมื่อสงสัย ต้องเรียกให้ผู้นำเข้ายื่นเอกสาร หลักฐานเพิ่มเติมว่า ราคาที่สำแดงเป็นราคาซื้อขายแท้จริง เช่น ต้นฉบับใบแจ้งหนี้ สำเนากรมธรรม์ประกันภัย สำเนาใบขนสินค้าขาออกที่ออกมาจากต้นทาง เป็นต้น” นายชัยยุทธกล่าว

นอกจากนี้ยังได้ขอให้ผู้นำเข้าต้องรับรองตัวเองด้วย ว่าราคาที่สำแดงเป็นราคาซื้อขายจริง ถ้าต่อไปตรวจพบว่าไม่ใช่ราคาซื้อขายจริง ผู้นำเข้าต้องทราบว่าผิดตามกฎหมายศุลกากร

หากมีการยืนยันเช่นที่ว่านี้ กรมศุลฯก็ยินดีปล่อยสินค้าออกไปก่อนได้ แต่จะขอเอกสารหลักฐานไว้ และตรวจสอบหลังการปล่อย (post audit) ซึ่งอาจตรวจสอบกับต้นทางสินค้า หรือวิธีอื่น ๆ ต่อไป

“ชัยยุทธ” อธิบายว่า คำสั่ง 317 ปี 2547 นั้น เริ่มแรกไม่ได้มีข้อมูลจากดีเอสไอ เพียง “คาดคะเน” ว่าการซื้อขายรถแต่ละยี่ห้อไม่ควรต่ำกว่าเท่าไหร่ ภายหลังเมื่อได้รับข้อมูลจากดีเอสไอ จึงทราบว่าราคารถ 4 ยี่ห้อในคำสั่ง 317 “ไม่สะท้อนตามฐานข้อมูลที่ได้รับจากดีเอสไอ”

ดังนั้น ปัจจุบันกรณีรถหรู 4 ยี่ห้อ จึงต้องใช้ราคาของดีเอสไอเป็น “เกณฑ์แสดงเหตุแห่งความสงสัย” แต่ไม่ใช่ “ราคาประเมิน” เพราะราคาประเมิน ผู้นำเข้าต้องเป็นผู้สำแดง ซึ่งกรมศุลฯได้ออกคำสั่ง 28 ส.ค. 2560 มาใช้ในกรณี 4 ยี่ห้อดังกล่าวนั่นเอง

ราคารวม VAT แค่เปรียบเทียบ

ส่วนที่มีกระแสว่า มีการถอดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ออกจากราคาที่ใช้ตรวจปล่อย “ชัยยุทธ” ยืนยันว่า จะมี VAT หรือไม่ ไม่ได้มีผลอะไร เนื่องจาก “ราคาที่อ้างอิงจากเว็บไซต์” แค่นำมาเปรียบเทียบราคาซื้อขายที่แท้จริงซึ่งราคาที่แท้จริงจะเป็นฐานที่นำมาใช้ประเมินภาษีตาม “ระบบราคาแกตต์ (GATT)”

“การซื้อของจากเว็บไซต์บางทีผู้ขายลดราคาให้ อาจ 5% หรือ 7% หรือบางยี่ห้อไม่ลดให้เลย ฉะนั้นราคาในเว็บไซต์เป็นเพียงราคาขายเบื้องต้นแต่ซื้อขายจริงอาจจะต่อรองกัน”

ทั้งนี้ เนื่องจากราคาที่ได้รับจากดีเอสไอ เป็นราคาตั้งแต่ปี 2556-2557 แต่รถยนต์นำเข้าในปี 2560 จึงใช้ราคาตามดีเอสไอตรง ๆ เลยไม่ได้ ต้องอิงจากเว็บไซต์ด้วย

“ยกตัวอย่าง รถยนต์ยี่ห้อหนึ่ง ถ้าเขาสำแดงมา 100 บาท แต่ราคาที่ดีเอสไอพบคือ 200 บาท แล้วเราอยากรู้ว่า ราคาสัมพันธ์กับเว็บไซต์ยังไง ก็ไปดูในเว็บไซต์ของรถยี่ห้อนี้ ถ้าดูแล้วราคารวมภาษี VAT ขายอยู่ 220 บาท ก็จะรู้ว่าราคารถยนต์คันนี้ ต่ำกว่าเว็บไซต์อยู่เท่าไหร่ ก็เอา 220-200 บาท แล้วคำนวณเป็นเปอร์เซ็นต์ สมมุติได้ 5% ทำนองเดียวกันถ้าเจอราคาเว็บไซต์ที่ไม่รวม VAT อาจ 200 บาท ก็แสดงว่า ถ้าเราจะใช้ราคาเว็บไซต์ที่รวมภาษี VAT ก็ต้องคิดลดลงมา 5% แต่ถ้าใช้เว็บไซต์ที่ไม่รวม VAT จะไม่มีส่วนลดเลย ซึ่งคำนวณออกมาแล้วก็ 200 บาทเท่ากัน” ไม่กลับไปใช้ 317 ประเมิน

ส่วนกรณีผู้ประกอบการเรียกร้องให้กลับไปใช้ราคาตามคำสั่ง 317นั้นผู้ประกอบการพยายามจะบอกว่าราคาตาม 317 เป็นราคาที่กรมศุลฯประกาศ เนื่องจากราคาที่ผู้ประกอบการนำเข้าจะสูงกว่านั้นมาก ดังนั้นในอดีตผู้ประกอบการจึงพยายามสำแดงให้ใกล้เคียงกับ317 และเมื่อถูกตรวจสอบย้อนหลังก็จะอ้างว่า คำสั่ง 317 เป็นประกาศที่ให้เขาสำแดงราคาแค่นั้น พอกรมศุลฯ แจ้งราคาที่สูงกว่านั้นก็โวยวาย

“การจะให้กลับไปใช้ราคาตาม 317 (4 ยี่ห้อ) มันเป็นไปไม่ได้ เพราะ 317ไม่ใช่ราคาประกาศ แต่เป็นเพียงเกณฑ์ให้เจ้าหน้าที่ใช้ตรวจสอบ” โฆษกกรมศุลฯกล่าว

อย่างไรก็ดี รถหรูนอกเหนือจาก4 ยี่ห้อในปัจจุบันก็ยังคงใช้คำสั่ง 317ในการประเมินความเสี่ยงอยู่ แต่หลังจากนี้หากกรมได้ข้อมูลรถยนต์ยี่ห้ออื่น ที่เชื่อถือได้ สามารถนำมาใช้ได้เหมาะสมขึ้น ก็จะทยอยประกาศออกไป

แจงทยอยปล่อยรถหรู

สำหรับสถานการณ์นำเข้ารถยนต์ขณะนี้ “ชัยยุทธ” บอกว่า ไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือน้อยลง แต่เฉลี่ยอยู่ที่ราว 10,000 คันต่อปี ขณะที่รถยนต์ที่เป็นปัญหาเดิมมีอยู่ราว 400 คัน (4 ยี่ห้อ) นอกจากนี้ก็จะมีรถยี่ห้ออื่น ๆ อีก ซึ่งขณะนี้สามารถทยอยปล่อยออกไปแล้ว

ส่วนการที่จนแล้วจนรอดก็ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการที่นำรถออกไม่ได้นั้น โฆษกกรมศุลฯ บอกว่า เกิดจากการสำแดงราคาไม่ถูกต้อง และไม่สามารถหาเอกสารหลักฐานมายืนยันได้

“ตอนนี้ก็จะมีผู้ประกอบการส่วนหนึ่งกล้ายืนยันตัวเอง กับบางส่วนที่ไม่กล้าจะนำรถออก ซึ่งกลุ่มที่ว่านี้ก็จะไปอ้างว่า 317 เคยประกาศอย่างนี้ แล้วอยู่ ๆ จะมาเปลี่ยนใช้คำสั่งเดือน ส.ค. 2560 ได้อย่างไร ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้นำเข้ากลุ่มที่ว่า ไม่ได้สู้ว่าราคาที่เขาสำแดงเป็นราคาที่แท้จริง แต่เขาสู้ในแง่ว่า 317 เคยบอกให้เขาสำแดงแบบนั้น” นายชัยยุทธกล่าว

รอคลังเคาะลดภาษีนำเข้าใหม่

สำหรับการพิจารณาปรับลดภาษีนำเข้ารถยนต์หรูนั้น “ชัยยุทธ” กล่าวว่ากรมศุลฯ ได้เสนอข้อมูลผลศึกษาต่าง ๆ ไปที่กระทรวงการคลังแล้ว ดังนั้นคงต้องขึ้นกับการพิจารณาของกระทรวงว่าจะกำหนดอัตราใหม่หรือไม่ จะกำหนดอัตราเป็นเท่าใด โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งอัตราที่ออกมาก็จะต้องมีความสอดคล้อง ไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป

“ภาษีต้องไม่สูงจนเป็นกำแพงภาษี และไม่ต่ำจนกระทบอุตสาหกรรมภายในประเทศด้วย” นายชัยยุทธกล่าว