Honda-Toyota ทุ่มเงินแย่งวิศวกร แข่งพัฒนาซอฟต์แวร์รถยนต์ตามแบบ Tesla

Honda-Toyota ทุ่มเงินแย่งวิศวกร
AFP / Hector RETAMAL

บริษัทรถยนต์รายใหญ่ของโลกตั้งเป้าพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับรถยนต์ตามแบบอย่างเทสลา (Tesla) ทั้งฮอนด้า (Honda) โตโยต้า (Toyota) กำลังทุ่มเงินจ้างวิศวกรซอฟต์แวร์เพิ่มสองเท่า ด้านเจเนรัล มอเตอร์ส (General Motors) และเมอร์เซเดส-เบนซ์ (Mercedes-Benz) ก็กำลังทุ่มเงินเพื่อดึงดูดบุคลากรกลุ่มทักษะสูงเช่นกัน 

สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2566 ว่า ฮอนด้า มอเตอร์ (Honda Motor) จะเพิ่มการจ้างงานด้านซอฟต์แวร์โปรแกรมเมอร์สองเท่า เป็น 10,000 คนภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) เพื่อแผนการเปลี่ยนจากการผลิตรถยนต์แบบดั้งเดิม ไปสู่ธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยซอฟต์แวร์เหมือนอย่างเทสลา (Tesla) 

ในการผลักดันเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ครั้งใหม่ล่าสุด ฮอนด้าจะกระชับความสัมพันธ์กับ KPIT Technologies บริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์สัญชาติอินเดีย ซึ่งการร่วมมือกันครั้งนี้จะทำให้จำนวนวิศวกรซอฟต์แวร์ที่ทำงานให้กับฮอนด้าเพิ่มขึ้นจาก 1,100 เป็น 2,000 คน

ชินจิ อาโอยามะ (Shinji Aoyama) รองประธานบริหาร (Executive Vice President) บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า ฮอนด้าจะจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์เพิ่มขึ้น ฮอนด้าต้องการสร้างทีมวิศวกรรมซอฟต์แวร์ที่ประกอบด้วยบุคคลทั้งภายในและภายนอกบริษัท 

ส่วนคู่แข่งรายสำคัญอย่างโตโยต้า (Toyota) บริษัทยานยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกก็ขยายตำแหน่งวิศวกรรมซอฟต์แวร์เช่นกัน และจะจัดการฝึกอบรมใหม่ให้กับพนักงานราว 9,000 คนภายในปี 2568 โดยพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการขายเป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะต้องรับการฝึกอบรมใหม่ เนื่องจากโตโยต้าตั้งเป้าหมายที่จะสนับสนุนธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ

โตโยต้าคาดการณ์ว่าจะมีวิศวกรซอฟต์แวร์ 18,000 คนภายในปี 2568 ในทั่วทุกกลุ่มธุรกิจ โดยหน่วยธุรกิจรถยนต์ไร้คนขับจะเป็นหน่วยที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันซอฟต์แวร์ใหม่ ซึ่งปัจจุบันการจ้างงานวิศวกรซอฟต์แวร์คิดเป็นครึ่งหนึ่งของการจ้างงานผู้มีประสบการณ์ระดับกลาง (midcareer) ของโตโยต้า 

สำหรับผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น เทสลาเป็นต้นแบบในแง่ของการยกระดับผลกำไรของอุตสาหกรรมยานยนต์ เทสลาผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติอเมริกันสร้างผลกำไรจากการขายรถยนต์แต่ละคันมากกว่าโตโยต้าถึงห้าเท่า 

Honda-Toyota ทุ่มเงินแย่งวิศวกร
AFP / Hector RETAMAL


หลายคนเชื่อว่าจุดแข็งของเทสลาอยู่ที่การพัฒนาซอฟต์แวร์ เทสลาใช้การอัพเกรดซอฟต์แวร์เพื่อเพิ่มคุณสมบัติใหม่ ๆ ให้กับรถยนต์ที่จำหน่ายไปแล้ว ทำให้ทันสมัยอยู่เสมอ และแข่งขันได้ในเรื่องการประหยัดต้นทุน

การพัฒนาซอฟต์แวร์เป็นกระบวนการที่ใช้แรงงาน (วิศวกรซอฟต์แวร์) อย่างเข้มข้น ซึ่งหมายความว่าจำนวนวิศวกรซอฟต์แวร์สามารถกำหนดความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตรถยนต์ได้ 

บริษัทรถยนต์รายอื่น ๆ ก็กำลังเพิ่มงบลงทุนในการเพิ่มความสามารถด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ เพื่อดึงดูดผู้มีความสามารถด้านเทคโนโลยีเช่นกัน 

ตอนนี้ เจเนรัล มอเตอร์ส (General Motors) เสนอเงินเดือนให้วิศวกรไอทีในระดับเดียวกับบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ 

ขณะที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ (Mercedes-Benz) ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมันจะเพิ่มบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาในกรุงปักกิ่งเป็นสองเท่า เป็น 2,000 คนในระหว่างปี 2563-2566 เนื่องจากให้ความสำคัญกับประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นความท้าทายสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ที่จะพัฒนาและผลิตได้ให้สำเร็จรวดเร็ว การผลิตรถยนต์ของบางบริษัทก็มีการติดขัดในเรื่องซอฟต์แวร์ 

โฟล์คสวาเกน (Volkswagen) เป็นหนึ่งตัวอย่างบริษัทรถยนต์ที่ต้องเลื่อนการเปิดตัวรถยนต์ Porsche Macan EV ออกไปเป็นปี 2567 เนื่องจากปัญหาการพัฒนาซอฟต์แวร์

แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีนใช้วิธีการที่ต่างออกไป บริษัทรถจีนเลือกที่จะโฟกัสที่พัฒนารถมากกว่าซอฟต์แวร์ เพื่อลดเวลาในการผลิต พวกเขายินดีใช้ระบบปฏิบัติการ หรือระบบขับขี่อัตโนมัติที่พัฒนาโดยบริษัทคอมพิวเตอร์ในประเทศ เช่น Huawei (หัวเว่ย) แทนการพัฒนาเอง

มาซากิ โอกาดะ (Masashi Okada) หัวหน้าที่ปรึกษาด้านการจัดการธุรกิจของ Arthur D. Little ประเทศญี่ปุ่น เตือนว่า ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นอาจประสบปัญหาคอขวดในการสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ และการผลักดันด้านซอฟต์แวร์อาจประสบปัญหา เนื่องจากขาดแคลนคนที่มีทักษะด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์