ไฮบริดโตโยต้าผงาดรับบีโอไอ ถล่มปีละ 7 หมื่นคันลุยตลาดหลากเซ็กเมนต์

โตโยต้า ประกาศความพร้อมผู้นำไฮบริดหลังบอร์ดบีโอไอเคาะส่งเสริมผลิตรถยนต์ไฟฟ้า-ไฮ บริด เทงบฯ 2 หมื่นล้านเดินเครื่องหลายรุ่น กำลังผลิต 70,000 คันต่อปี เจียดเงิน 200 ล้านผุดโรงงานกำจัดซากแบตเตอรี่

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอเปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบส่งเสริมการลงทุนให้กับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ซึ่งขอรับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Elec-tric Vehicles – HEV) โดยจะมีกำลังการผลิตปีละ 70,000 คัน และการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ปีละประมาณ 70,000 ชิ้น และชิ้นส่วนยานพาหนะ เช่น ประตู, กันชน, เพลาหน้า-หลัง และอื่น ๆ ปีละประมาณ 9,100,000 ชิ้น ภายใต้งบประมาณการลงทุนมูลค่า 19,016 ล้านบาท โดยโครงการจะมีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 13,314 ล้านบาทต่อปี ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ จ.ฉะเชิงเทรา

นางหิรัญญากล่าวว่า เมื่อ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงาน ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย และส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างอุปทาน โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้เสนอเปิดการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน รวมถึงสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยกำหนดเงื่อนไขสิทธิประโยชน์แยกประเภทของกิจการตามประเภทของรถยนต์ไฟฟ้า 3 แบบ คือ รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้า (Hybrid Electric Vehicle: HEV) รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (Plug-In Hybrid Electric Vehicle: PHEV) รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) โดยจะมีแพ็กเกจด้านภาษีสรรพสามิต สนับสนุนคิดในอัตรา 50% ส่วนรถอีวีคิดแค่ 2%

ก่อนหน้านี้ นายนินนาท ไชยธีรภิญโญประธานคณะกรรมการบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่าโตโยต้าพร้อมเดินเครื่องรถยนต์ในกลุ่มไฮบริด โดยมีงบฯลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท เพื่อตอบสนอความต้องการลูกค้าที่กำลังก้าวตามเทรนด์ของโลก ซึ่งมุ่งเน้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยอนาคตประเทศไทยอาจจะได้สัมผัสกับอีโคคาร์ไฮบริด

นอกจากนี้บริษัท ยังมีแนวคิดร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษเพื่อศึกษาการสร้างโรงงานกำจัดซากรถ เก่า และแบตเตอรี่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ราวเดือนตุลาคมนี้ และบริษัทยินดีที่จะรับกำจัดซากรถและแบตเตอรี่ของค่ายรถยี่ห้ออื่น ๆ ด้วย

“คาดว่ารถไฮบริดจะมีจำนวนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฟสแรกใช้เงินลงทุน 200 ล้านบาท ตั้งโรงงานในพื้นที่ จ.ชลบุรี เขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ตามประกาศของรัฐบาล ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีความพิเศษในเรื่องซัพพลายเชน แรงงาน รวมถึงสิทธิ และในเฟสต่อไปจะทยอยเพิ่มเงินลงทุนเพื่อรองรับประเภทรถยนต์ต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้ในประเทศ ครอบคลุมทั้งไฮบริด, ปลั๊ก-อินไฮบริด และอีวี”

ทั้งนี้ แนวคิดตั้งโรงงานดังกล่าว บริษัทได้ศึกษาโมเดลจากประเทศญี่ปุ่น ที่จัดตั้งเป็นกองทุนกำจัดซากรถที่รัฐบาลเป็นผู้ตั้งขึ้น ซึ่งมีเงินอยู่ 10,000 เยนโดย 2,000 เยนจะใช้ไปกับการระเบิดแอร์แบ็ก 2,000 เยน ถูกนำไปใช้ในส่วนของการทำลายพวกแบตเตอรี่ น้ำยาแอร์ และอีก 6,000 เยนนำไปใช้ในการกำจัดซากโครงเหล็กตัวรถ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม ว่า นอกจากโตโยต้าแล้ว บอร์ดบีโอไอยังได้ประกาศให้การส่งเสริมกับบริษัท ไทรอัมพ์ มอเตอร์ไซเคิลล์ (ไทยแลนด์) จำกัด เพื่อรับการส่งเสริมขยายกิจการประกอบรถจักรยานยนต์ที่มีความจุกระบอกสูบ ตั้งแต่ 500 ซีซีขึ้นไป เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,359 ล้านบาทกำลังผลิตปีละประมาณ 120,000 คันตั้งโรงงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี