บุกฐานใหญ่ GAC AION กว่างโจว สัมผัสโรงงานอัจฉริยะ

GAC AION
คอลัมน์ : รายงาน

ชัชพงศ์ ชาวบ้านไร่ 

“ประชาชาติธุรกิจ” พร้อมคณะสื่อมวลชนไทยมีโอกาสได้เยี่ยมชมฐานการผลิตใหญ่ตามคำเชิญของ GAC AION ณ เมืองกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา โชว์เทคโนโลยีอัจฉริยะ สร้างความเชื่อมั่น และการรับรู้ในตลาดประเทศไทย

“GAC AION” เป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า 100% ในเครือ “Guangzhou Automobile Group” หรือ GAC (กว่างโจว ออโตโมบิล) กลุ่มบริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่ในรัฐวิสาหกิจจีน มีแบรนด์ในเครือมากมาย เช่น GAC Trumpchi, GAC Toyota, GAC Honda และ GAC AION ที่เพิ่งเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย โดยตั้ง บริษัท ไอออน ออโตโมบิล เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมขาย “AION Y Plus” เมื่อไม่นานนี้

ในปี 2565 GAC Group มียอดการผลิตและขายถึง 2.4 ล้านคัน เป็นรายได้กว่า 2.5 ล้านล้านบาท ขณะที่ครึ่งแรกของปี 2566 กวาดไปแล้ว 1.2 ล้านล้านบาท

GAC AION

AION เติบโตต่อเนื่อง

สำหรับ AION เอง แม้เพิ่งก่อตั้งในปี 2560 แต่มีอัตราการเติบโต 120% ทุกปี ยอดขายในปี 2565 มีจำนวนถึง 271,200 คัน รายได้ 1.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 97% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และสำหรับปี 2566 คาดว่าจะสามารถผลิตและขายได้ถึง 600,000 คัน โดยยอดขายตั้งแต่เดือนมกราคมถึงตุลาคมอยู่ที่ 380,000 คัน ติด 1 ใน 3 ของโลก

ปัจจุบัน AION มีรถยนต์ไฟฟ้า 2 แบรนด์ ครอบคลุมช่วงราคาตั้งแต่หลักแสนถึงหลักล้าน ได้แก่ แบรนด์ AION ที่เน้นการเข้าถึงง่าย และแบรนด์ Hyper ที่จับกลุ่มหรูหรา

ADVERTISMENT

AION ให้ความสำคัญกับตลาดประเทศไทยไม่น้อย เห็นได้จากสื่อมวลชนไทยที่มาในครั้งนี้เป็นสื่อนอกประเทศจีนกลุ่มแรกที่ได้เยี่ยมชมโรงงานแบบใกล้ชิด เห็นกระบวนการผลิตทุกซอกทุกมุม และยังได้สัมผัสประสบการณ์ลองนั่งรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น LX Plus, V Plus และ Hyper GT ซูเปอร์คาร์ของค่าย พร้อมกับสาธิตเทคโนโลยีการขับขี่อัจฉริยะแบบไร้คนขับ สั่งจอดอัติโนมัติจากระยะไกลได้ถึง 150 เมตร และมาตรฐานความปลอดภัยที่รถหยุดเองแบบฉับพลันเมื่อมีคนไปตัดหน้า

โรงงานอัจฉริยะ 5 หมื่นล้าน

ไอออนทุ่มทุนสร้างฐานใหญ่แห่งนี้กว่า 5 หมื่นล้านบาท บนเนื้อที่ 3,200 ไร่ เป็นโรงงานผลิตรถยนต์ 753,000 ตร.ม. ที่มีทั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา ศูนย์ทดสอบความปลอดภัย ห้องปฏิบัติการ R&D นิทรรศการเทคโนโลยีและห้องปฏิบัติการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นระบบอัจฉริยะ AI การพาคณะสื่อมวลชนไทยเข้าชมไลน์การผลิตครั้งนี้อยู่บนความปลอดภัยสูงสุด ในเส้นทางเดียวกับประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ของจีน ที่เพิ่งเข้าชมโรงงานเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ADVERTISMENT

โรงงานแห่งนี้สามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ 4 แสนคันต่อปี จากทั้งหมด 216 สเตชั่น รถ 1 คันใช้เวลา 3 ชั่วโมงครึ่ง ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการผลิต เฉลี่ยแล้วจะมีรถออกจากไลน์ทุก ๆ 53 วินาที

 

GAC AION

ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา เพราะไอออนสามารถผลิตรถได้พร้อมกันหลายรุ่นและหลายสี ต่อเนื่องไปที่งานติดตั้งกระจก เบาะ และล้อก็ใช้หุ่นยนต์ทั้งหมด ซึ่งถูกใส่ระบบให้สามารถติดตั้งแบบคละรุ่นได้ ไม่จำเป็นต้องทำเหมือนกันทั้งลอต นี่คือเสน่ห์ของ AI

หัวใจของรถไฟฟ้าคือแบตเตอรี่ ไลน์การผลิตส่วนนี้ของไอออนใช้เอไอดาต้าและพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญ การผลิตแบตเตอรี่ถูกให้ความสำคัญเป็นพิเศษ มีกล้องจับตลอด 24 ชั่วโมง และมีดาต้าเช็กย้อนหลังหากมีข้อผิดพลาด

แบตเตอรี่ของไอออนผ่านการทดสอบติดไฟและลุกไหม้ด้วยการยิงปืนใส่ในสถานการณ์เสมือนจริงที่รถกำลังใช้งานอยู่ ช่วงแรกที่กระสุนพุ่งใส่ อุณหภูมิจะสูงขึ้น แต่ AI และระบบหล่อเย็นจะทำงานทันที เซลล์ที่แยกส่วนกันจะไม่ทำให้ประกายไฟกระจายไปจุดอื่น

ที่สำคัญ แบตเตอรี่สามารถแช่น้ำได้นาน 6 ชั่วโมง และรับประกัน 8 ปี หรือ 2 แสนกิโลเมตร เหมาะไม่น้อยกับประเทศไทยมีฝนตกและน้ำท่วมบ่อย

GAC AION GAC AION

“เราคิดค้น Magazine Battery ขึ้นมาเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของ GAC AION เท่านั้น ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่สำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า 100% ตั้งแต่เรานำ Magazine Battery มาใช้ในรถไฟฟ้า ไม่เคยเกิดไฟไหม้หรือระเบิดเลยสักครั้ง ซึ่ง AION Y Plus ที่จำหน่ายในประเทศไทยก็ได้ติดตั้ง Magazine Battery เช่นกัน” นายเฉิน วาน ผู้อำนวยการธุรกิจระหว่างประเทศกล่าว

อีกส่วนที่อยู่ติดกันคือ งานเชื่อม พื้นที่กว่า 47,000 ตร.ม. ซึ่งใช้หุ่นยนต์ทำงาน 100% มีความแม่นยำในระดับมิลลิเมตร การเชื่อมของไอออนใช้นวัตกรรมรักษาสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดมลพิษน้อยสุด แทบไม่มีเสียงและกลิ่นเหม็น การใช้หุ่นยนต์ทำให้เงียบและเกิดประกายไฟน้อยมากในระดับเผาไหม้ที่สมดุล หุ่นยนต์ยังสามารถเปลี่ยนการทำงานได้อย่างรวดเร็วด้วยแขนกลที่มีประสิทธิภาพ สลับจากเชื่อมสกรูไปใช้หัวเชื่อมอะลูมิเนียมได้ในเวลาไม่นาน แน่นอนว่าไวกว่ามนุษย์

หลังคาของโรงงานแห่งนี้ยังมีโซลาร์เซลล์กำลังผลิต 20 ล้านกิโลวัตต์ ช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าของไอออนได้ถึง 50% ต่อปี

GAC AION

ต่างประเทศ เริ่มไทยที่แรก

เราไม่เพียงแต่เลือกประเทศไทยเป็นประเทศแรกสำหรับธุรกิจในต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังวางแผนที่จะตั้งสำนักงานใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประเทศไทยอีกด้วย ประเทศไทยจะมีบทบาทหลักในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคอื่น ๆ ในอนาคต

“AION เลือกประเทศไทยเป็นที่ตั้งโรงงานอัจฉริยะมาตรฐานระดับโลก ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มีคุณภาพสูง ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ลูกค้ามั่นใจ และไว้วางใจในผลิตภัณฑ์ของ AION ปัจจุบัน AION ประเทศไทยได้อนุมัติสร้างศูนย์บริการมากกว่า 30 ศูนย์ทั่วประเทศ ซึ่งอยู่ในระหว่างก่อสร้าง และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปีหน้า” นายหรรษา แซ่ซึ้ง ผู้จัดการฝ่ายขายอาวุโสประจำประเทศไทยกล่าว

ทั้งนี้ ภายในปี 2567 คาดว่า AION จะสามารถสร้างโรงงานและดำเนินการผลิตเฟสแรกในไทย โดยจะใช้ไทยเป็นฮับในภูมิภาคอาเซียน และกระจายสู่ประเทศต่าง ๆ โดยแชลเลนจ์ยอดการผลิตและขายไว้ที่ 20,000 คัน

GAC AIONGAC AION GAC AION