เกรย์มาร์เก็ตตีปีกออกรถฉลุย กรมศุลถอยยอมถอดแวตดึงภาษีต่ำลง

“เกรย์มาร์เก็ต” ตีปีกกรมศุลกากรผ่อนเกณฑ์ออกรถได้ง่ายขึ้น ระบุต้องสำแดงราคาไม่ต่ำกว่าออโทไรซ์ อนุญาตถอดแวตออกก่อนคิดภาษี ปลื้มเร่งทยอยออกรถ ด้านชมรมรถนำเข้า-นิชคาร์ เฮ “บิ๊กตู่” ปลดล็อกปัญหาเรื้อรังทั้งกรมศุลฯ และดีเอสไอ

นายสมศักดิ์ ศรีรัตนประภาส นายกสมาคมผู้นำเข้าและจำหน่ายรถยนต์ใหม่ เปิดเผยว่า กรณีกรมศุลกากรออกคำสั่งลงวันที่ 28 สิงหาคม 2560 เรื่องเปลี่ยนแปลงการประเมินราคารถยนต์นำเข้า 4 ยี่ห้อ ลัมโบร์กินี, เฟอร์รารี่, มาเซราติ, ปอร์เช่ เพื่อป้องกันการสำแดงราคาต่ำ และให้ส่วนลดทอนของรถ 4 ยี่ห้อลดน้อยลง โดยเฉพาะยี่ห้อปอร์เช่ แม้จะส่งผลกระทบในวงกว้างกับกลุ่มผู้ประกอบการรถยนต์นำเข้า แต่ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาได้รับการผ่อนคลายลงเยอะมาก ทำให้ผู้ประกอบการทยอยออกรถกันอย่างคึกคัก

“ตอนนี้ออกรถได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก กรมศุลฯระบุว่าราคาที่สำแดง 1.ต้องไม่ต่ำกว่าราคาที่ออโทไรซ์แจ้งไว้ แม้ว่าในใบซื้อขายจะระบุราคาชัดเจนก็ตาม 2.อนุญาตให้ถอดแวตออกก่อน ต่างจากเดิมที่บวกราคาแวตก่อนคิดภาษี ทำให้ต้นทุนในการคำนวณสูงขึ้นตามไปด้วย ตัวอย่างเช่น ปอร์เช่ พานาเมร่า ก่อนหน้านี้มีคำสั่งเสียภาษีประมาณ 2.8-3 ล้านนิด ๆ ขึ้นอยู่กับออปชั่น พอมีคำสั่งเดือนสิงหาคม ปี 2560 กระโดดขึ้นไปถึง 4.4 ล้าน ทำให้เกิดเป็นสุญญากาศไม่มีใครไปออกรถ ตอนนี้พอถอดแวตออกเหลือ3.7-3.9 ล้าน ก็ถือว่าพอรับได้”

นายสมศักดิ์กล่าวว่า ประเด็นเรื่องอัตราภาษีรัฐบาลรับลูกว่าจะปรับลดลง ตนเองในฐานะนายกสมาคมผู้นำเข้าและจำหน่ายรถยนต์ใหม่ ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เชื่อว่าในเร็ว ๆ นี้น่าจะมีข่าวดี

ขณะที่ด้านกลุ่มตัวแทนจำหน่ายบริษัทรถยนต์นำเข้า ตัวแทนรถยนต์ผู้นำเข้า และตัวแทนประชาชนผู้ใช้รถนำเข้า นำโดยนายชัชวัฎ สุวรรณโณชิน นายกชมรม และนายวิทวัส ชินบารมี จากบริษัท นิชคาร์ จำกัด เปิดเผยว่า ต้องขอบคุณพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน หลังจากรถยนต์นำเข้าได้รับผลกระทบจากความเข้มงวดของทั้งกรมศุลกากรและกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ส่งผลให้ผู้ประกอบการได้รับความเสียหายมาหลายเดือนติดต่อกัน

นายวิทวัส ชินบารมี ผู้บริหารนิชคาร์ กล่าวว่า คำสั่งของนายกฯหลังได้ข้อสรุปพิจารณาหาแนวทางในการแก้ปัญหาของบริษัท นิชคาร์ กรุ๊ป จำกัด โดยนายกฯเห็นชอบตามที่สำนักงานปลัดฯเสนอ และมีบัญชาเพิ่มเติม “ทำให้เกิดความเป็นธรรม ไม่เอื้อประโยชน์ และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ” ค่อนข้างชัดเจนว่าให้ทุกหน่วยงานยุติปัญหาทั้งหมด และกลับไปใช้หลักเกณฑ์เดิม คือ รถนำเข้าจากต่างประเทศใช้คำสั่ง 317/2547 เพียว ๆ ซึ่งมีส่วนลดหย่อนหักทอน ก่อนนำไปคิดภาษีศุลกากร 328%

“รัฐบาลสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษี ส่วนผู้ประกอบการได้รับผลกระทบเสียหายต่อธุรกิจมาหลายเดือนมาก ต่อจากนี้จะเริ่มรันธุรกิจอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจตามบัญชานายกรัฐมนตรี”

ด้านนายชัยยุทธ คำคุณ รองอธิบดี รักษาการที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร กรมศุลกากร กล่าวกับ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเด็นที่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มตัวแทนจำหน่ายบริษัทรถยนต์นำเข้า ตัวแทนรถยนต์ผู้นำเข้า รวมถึงผู้บริหารของบริษัท นิชคาร์ จำกัด เข้าใจอาจจะยังสับสนคงต้องหารือกันอีกครั้ง

ทั้งนี้ตนขอยืนยันว่า คำสั่ง 317 ไม่ใช่คำสั่งกำหนดราคาประเมินรถ กรมศุลกากรไม่ได้มีหน้าที่กำหนดราคา เพราะทำไม่ได้ จะขัดข้อตกลงองค์การการค้าโลก ส่วนผู้มีหน้าที่สำแดงราคา คือ ผู้ประกอบการนำเข้าเอง แต่หากผู้นำเข้าสำแดงราคาไม่เป็นไปตามราคาซื้อขายจริงจะต้องชำระอากรส่วนขาดให้ครบ

“คำสั่ง 317 นั้น ถ้ามีข้อมูลอื่นมาประกอบการพิจารณากำหนดราคา ก็ไม่ได้หมายความว่าจะหักส่วนลดได้ 40% เสมอไป ซึ่งการจะให้กลับไปหักส่วนลด 40% คิดว่าไม่น่าจะทำได้ เพราะว่ากรมศุลฯมีข้อมูลอื่น ๆ ประกอบ อาทิ ข้อมูลจากกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ” นายชัยยุทธกล่าว

ส่วนการลดภาษีนำเข้ารถยนต์หรูนั้น โฆษกกรมศุลฯกล่าวว่า ทางกรมศุลฯยังไม่ทราบว่าจะออกมาอย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่ทางกระทรวงการคลังจะพิจารณา ซึ่งคงต้องพิจารณาในรายละเอียดให้ถูกต้อง และเป็นไปตามมาตรฐานสากล