“โตโยต้า” อ้อนนายกฯเศรษฐา ดูแล “ปิกอัพ-อีโคคาร์” หนุน “ไฮบริด”

2ผู้บริหารโตโยต้า
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

ถือเป็น โอกาสอันเหมาะเจาะที่สองผู้บริหารจากค่ายโตโยต้า อย่าง มาซาฮิโกะ มาเอดะ เจ้าหน้าที่บริหารภูมิภาคเอเชีย บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น พร้อมด้วย โนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเวทีให้สื่อมวลชนไทยได้สอบถามในหลากหลายประเด็น รวมทั้งกลยุทธ์ของ Hilux multiple pathway การขับเคลื่อนของโตโยต้า ในวันที่กระแสของรถ EV มาแรง

Q : ความคืบหน้าของ Hilux multiple pathway

สำหรับ Hilux multiple pathway หรือรถปิกอัพ Hilux ที่นำมาโชว์ในครั้งนี้ มีทั้งในส่วนของ รถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานดีเซลไฮบริด, ไฟฟ้า 100% และพลังงานไฮโดรเจน ไม่ว่าจะเป็นรุ่นไหน ล้วนมีแผนที่จะจำหน่ายในประเทศไทยด้วยกันทั้งหมด อย่างพลังงานดีเซลไฮบริดได้ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อให้คนที่อยู่ในฝั่งซีกโลกใต้โดยเฉพาะ แล้วก็ต้องการพัฒนารถรุ่นนี้ เพื่อให้ลูกค้าที่ชอบเสียงของเครื่องยนต์ ยังสามารถสนุกสนานไปกับรถรุ่นนี้ได้อยู่ โดยที่เราต้องการพัฒนารถที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ในขณะเดียวกันก็มีประสิทธิภาพในการขับขี่ที่ดีด้วย ด้วยการพัฒนารถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลผสมกับมอเตอร์ไฟฟ้า ด้วยการนำแบตเตอรี่ และมอเตอร์ขนาด 48 โวลต์ มาใส่เข้าไปเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ได้ทั้ง 2 ด้านเลย ก็คือมีสมรรถนะในการขับขี่ที่ดี ขณะเดียวกันก็เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนไฮลักซ์ BEV มีลูกค้าอยู่ที่ซีกโลกใต้ที่ทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่หลายบริษัทต้องการรถที่สามารถใช้ในเหมือง

ขณะเดียวกันก็เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย รถรุ่นนี้จะเหมาะกับลูกค้าแบบนี้ เรามีโครงการร่วมกับ CP กับ SCG ที่ใช้รถรุ่นนี้ในการส่งสิ่งของแบบ last one mile เพื่อที่จะส่งถึงมือลูกค้าเลยก็คิดว่าตรงนี้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์เช่นเดียวกัน หรือที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนก็เหมาะสำหรับลูกค้าที่ต้องการจะใช้เชิงพาณิชย์ เช่นเดียวกันต้องการรถที่วิ่งได้นานขึ้นกว่ารถ EV

ซึ่งปีนี้ก็มีการนำมาทดลองใช้งานในการส่งของในหลาย ๆ บริษัทแล้ว ถ้าดูผลของการทดสอบแล้วลงตัวก็จะพิจารณาผลิตเป็น Mass Production เพื่อจำหน่ายต่อไป

ADVERTISMENT

Q : แผนผลิตหรือประกอบไฮลักซ์ EV

ตอนที่มีโอกาสได้พูดคุยกับนายกฯเศรษฐา ทวีสิน โตโยต้ามีข้อเรียกร้องต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยอยู่มากทีเดียว ส่วนใหญ่เป็นข้อเรียกร้องที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า 100% ซึ่งโตโยต้ามองว่า รถปิกอัพ ปัจจุบันไม่ได้ใช้งานแค่ในเมืองหลวง หรือ หัวเมืองใหญ่เท่านั้น แต่ใช้แพร่หลายในชนบทด้วย

ADVERTISMENT

ดังนั้นถ้ารถ EV แพร่หลายได้มากขึ้นจำเป็นที่จะต้องมีสถานีชาร์จไฟให้กับรถ EV มากขึ้นในอนาคต จึงเรียกร้องให้ทางรัฐบาลสนับสนุนเกี่ยวกับเรื่องสาธารณูปโภคในการชาร์จไฟ รวมถึงการนำเทคโนโลยีอื่น ๆ อย่างเช่น เทคโนโลยีไฮบริด ก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ก็อยากจะเรียกร้องให้ทางรัฐบาลช่วยสนับสนุนบริษัทญี่ปุ่นพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

อย่าง Hilux multiple pathway ที่รถไฮลักซ์จะมีเทคโนโลยีที่หลากหลาย เสริมไปจากเครื่องยนต์ดีเซลเดิม เราก็ได้มีการพูดคุยกับท่านนายกฯ เรียบร้อยแล้ว และแน่นอนว่ารัฐบาลไทยก็มีนโยบายที่ต้องการจะสนับสนุนผลักดันรถ EV อย่างเต็มตัวอยู่แล้ว แต่ว่าในเรื่องของนโยบายที่จะผลักดันเทคโนโลยีอื่น ๆ ก็มีอยู่เช่นเดียวกัน

โตโยต้าพยายามที่จะตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยคำนึงถึงระบบ Supply Chain ของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เป็นกำลังสำคัญของเศรษฐกิจไทย จะทำให้ตรงนี้เป็นพื้นฐานที่แข็งแกร่งต่อไปได้อย่างไร มีวิธีอะไรบ้าง ที่จะช่วยกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ให้แข็งแรงขึ้นได้ ส่วนโตโยต้าจะเริ่มผลิตไฮลักซ์ BEV ในปีหน้าหรือไม่ยังไม่สามารถยืนยันได้ 100%

Q : อยากให้รัฐบาลสนับสนุนไฮบริด

มีประเด็นหลักสำคัญทั้งหมด 3 เรื่อง สำหรับเรื่องแรกก็คือรถปิกอัพ และอีโคคาร์ ซึ่งเป็นฐานผลิตสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย ก็อยากจะให้รัฐบาลให้การสนับสนุนรถ 2 ประเภทนี้ อย่างต่อเนื่องในอนาคตหรือว่าเสริมการสนับสนุนให้แข็งแกร่งขึ้น เรื่องที่สอง คืออยากจะให้รัฐบาลไทยไม่เพียงสนับสนุน BEV เท่านั้น แต่อยากจะให้สนับสนุนเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของไฟฟ้าเช่นเดียวกัน อย่างเช่น เทคโนโลยีไฮบริด หรือว่าเทคโนโลยีอื่น ๆ ด้วย

และ 3.เรื่องเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ตอนนี้ประเทศไทยมีปัญหาฝุ่น PM 2.5 เพิ่มมากขึ้น จะทำยังไงถึงจะลดจำนวนลงได้ ต้องมีมาตรฐานที่เข้มข้นขึ้นเกี่ยวกับรถใหม่ ๆ ที่จะออกมาจำหน่ายในตลาดประเทศไทย โดยในสองประเด็นแรกอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยผลิตใช้ในประเทศและเพื่อส่งออกอย่างละครึ่ง โดยเฉพาะรถปิกอัพโตโยต้าและอีซูซุ มียอดผลิตรวมกันสูงถึง 50% ส่วนอีโคคาร์ราว ๆ 25%

ฉะนั้นอยากจะให้ทางรัฐบาลพิจารณาด้วยว่าจะมีนโยบายอะไร ที่จะช่วยค้ำจุนอุตสาหกรรมของรถยนต์ 2 ประเภทนี้ได้เพราะถือว่าเป็นน้ำหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายในเชิงภาษีแล้วหรือว่าการสนับสนุนทางด้านอื่น ๆ

Q : แผนต่อไปของอีโคคาร์

ตรงนี้ก็อยากให้ปรับปรุง พูดตอนนี้อาจดูไม่เหมาะสมเท่าไหร่ แต่โดยเฉพาะอีโคคาร์เฟส 2 ซึ่งจะสิ้นสุดลงในเดือนตุลาคมปี 2567 อยากให้ยืดออกไปก่อนเพราะโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ที่จะใช้ปี 2569 เป็นต้นไป แม้ภาษีช่วงแรกรถอีโคคาร์จะยังน้อยกว่ารถยนต์ประเภทอื่น แต่ก็มีแนวโน้มที่จะขึ้นภาษีไปทีละน้อย วันนี้อีโคคาร์ มีความสำคัญในฐานะที่เป็นรถคันแรก ที่คนรุ่นใหม่สามารถซื้อมาเป็นเจ้าของได้

สุดท้ายรัฐบาลอาจจะต้องกลับไปมองจุดที่สําคัญว่าจะเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยกับประเทศอื่น ๆ ได้อย่างไร กระดูกสันหลังสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ก็คือ การที่เรามี Supply Chain ของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่แข็งแกร่งกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ตลอดจนในอินเดียด้วยซ้ำ เรากังวลว่าพอถึงยุคของรถ EV จะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะสามารถมีผู้ผลิตชิ้นส่วนให้กับรถ EV ที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

ฉะนั้นรัฐบาลไทยคงจะต้องพิจารณานโยบายที่จะช่วยสนับสนุนให้มีการดึงดูด Supplier ของรถ EV นี้เข้ามาในประเทศไทยด้วย หากทำได้ถึงจะเป็นการคงเอาไว้ซึ่งกําลังความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเมื่อเทียบกับนานาชาติ