
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติธุรกิจ ผู้เขียน : วุฒิณี ทับทอง
ตลอดช่วงระยะเวลา 1-2 ปีที่ผ่านได้เห็นถึงความซักเซสนโยบายส่งเสริมการใช้รถอีวีของรัฐบาลไทย
ที่หลาย ๆ คนปลาบปลื้มในความสำเร็จ เห็นได้จากยอดขายที่โตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
จนมาแผ่วลงในไตรมาสแรกของปี 2567 ส่วนหนึ่งมาจากการสิ้นสุดมาตรการอีวี 3.0 ที่รัฐบาลสนับสนุนเงินอุดหนุนให้ผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า คันละ 150,000 บาท
เพื่อส่งต่อให้เข้าสู่มาตรการเฟสที่สอง กับอีวี 3.5 ที่สิทธิประโยชน์และเงื่อนไขการส่งเสริม ซึ่งได้ถูกลดหลั่นลงมา เหลือเพียงเงินอุดหนุน คันละ 100,000 บาท
สัญญาณของตลาดชะลอตัว เป็นไปเช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเทศ ? โดยเฉพาะประเทศแม่พิมพ์ยานยนต์อีวีอย่างประเทศจีน ที่เมื่อมาตรการส่งเสริมผู้ซื้อหมดไป ยอดขายก็ไม่เดินไปตามกลไกของตลาด
ภาพของปรับลดราคา การทำแคมเปญลดแหลก มีให้เห็นแม้หลาย ๆ ค่ายจะออกมาตะโกนเสียงดัง ๆ ว่า ตนเองไม่มีนโยบายในการเข้าร่วม “สงครามราคา”
แต่สิ่งที่ปรากฏออกมาในตลาดรถยนต์บ้านเราวันนี้ต้องบอกว่า “ผู้บริโภค” มีทางเลือก และฉลาดเลือกใช้รถยนต์ที่เหมาะสมกับการใช้งานของตัวเองได้ตรงจุดมากขึ้น
คนที่พร้อมจะไปรถยนต์ไฟฟ้าก็ไป หรือใครยังลังเล ถนัดแบบไหนก็เลือกใช้ในแบบนั้น
เมื่อตลาดรถยนต์บ้านเรา กลายเป็นตลาดเสรี ใครจักใคร่ค้า…ค้า ใคร่จักใคร่ซื้อ…ซื้อ
ล่าสุด มีโอกาสได้ร่วมทริป GWM GO LONG. GO WITH THE WORLD 2024 GWM GLOBAL CONFERENCE กับค่ายเกรท วอลล์ มอเตอร์ ? ด้วยการมาเยี่ยมชม ฐานผลิต สำนักงานใหญ่ซู่ฉุ่ย (Xushui) ในเมืองเป่าติ้ง ที่จีนแผ่นดินใหญ่
งานนี้เกรท วอลล์ มอเตอร์ ยังได้ขนเอารถยนต์ในเครือที่เป็นรถยนต์พลังงาน XEV ที่ทั้งเครื่องยนต์สันดาปภายใน ไฮบริด ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้า มาให้เราได้สัมผัสและทดสอบ จากแบรนด์ในเครือ ทั้ง HAVAL, POER, WEY, THAK, ORA เรียกมาครบ
แบรนด์ที่ดูจะห่างไกลจากบ้านเราในวันนี้คือ แบรนด์ ? เว้ย หรือเวย์ (WEY) ที่โปรดักต์ไลน์ จะเป็นในส่วนของรถเอสยูวี และรถเอ็มพีวีที่ใช้พลังงานขับเคลื่อนแบบปลั๊ก-อิน ไฮบริด เป็นหลัก ทั้ง WEY 5, WEY 7, WEY 80 ฯลฯ เรียกว่าน่าสนใจทั้งสิ้น
แม้ว่าฝั่งญี่ปุ่นยังใช้รถยนต์ไฮบริดเป็นทางเชื่อมช่วยเปลี่ยนผ่าน แต่รถปลั๊ก-อิน ไฮบริด จุดเด่นที่ถือว่าดูรวม ๆ แล้วมีเสน่ห์
คือการใช้พลังงาน 2 อย่างผสานไว้ในคันเดียว คือ การขับเครื่องด้วยน้ำมันกับเครื่องยนต์สันปดาปภายใน และมอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อน
ตรงนี้ตอบโจทย์และตัดความกังวลใจให้คนที่กลัวเรื่องปัญหาการใช้งาน ระยะทาง กับพลังงานไฟฟ้า และระยะทางต่อการเติมพลังงาน
เพราะเมื่อไฟฟ้าหมด ยังสามารถเดินทางต่อด้วยน้ำมันได้
เบ็ดเสร็จสองพลังงานส่งให้รถวิ่งได้ในระยะกว่า 800 กม. บางรุ่นทะลุ 1,000 กม.
อยากย้ำตรงนี้อีกสักครั้ง ว่านอกจากรถอีวีแล้ว
รถปลั๊ก-อิน ไฮบริด ก็มีส่วนสำคัญในการช่วยโลกได้เช่นเดียวกัน แถมระยะทางในการวิ่งด้วยไฟฟ้า มีหลักเกินกว่า 100 กิโลเมตรไปแล้ว
ถ้าในหนึ่งวันคุณใช้งานไม่เกินที่ไฟฟ้าวิ่งได้
นั่นเท่ากับรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด ก็ไม่ต่างไปจากรถยนต์ไฟฟ้า
เพียงแต่การใช้งานในบ้านเราอาจจะยังไม่แพร่หลายเมื่อเทียบกับรถอีวีที่มีแรงส่งของมาตรการอีวีมาเป็นลมใต้ปีก ทำให้ค่ายรถจีนพร้อมนำเสนอโปรดักต์ออกมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่รถปลั๊ก-อิน ไฮบริด ไม่ว่าแบรนด์ญี่ปุ่น แบรนด์จีน แบรนด์ยุโรป ยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร
โดยเฉพาะรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด จากจีน วัดกันปอนด์ต่อปอนด์ กับรถอีวี จากจีนแล้ว ยังห่างชั้น
นอกจากไม่สามารถสู้ได้กับเงื่อนไขทางภาษีที่ต้องจ่าย ภาษีนำเข้า 50% บวกกับภาษีสรรพสามิตอีก 8% เมื่อเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้า ที่ภาษีเป็น 0%
แถมราคาพลังงาน อย่างน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ก็เป็นปัจจัยสำคัญ
โครงสร้างภาษีสรรพสามิตที่ดูการปล่อย CO2 ที่รถปลั๊ก-อิน ไฮบริด ยังมีแต้มด้อยกว่า
แต่ไม่ว่าจะพัฒนาให้ใช้ด้วยเทคโนโลยีอะไร แต่ผลที่ออกมานั้น ย่อมสำคัญกว่า
ถึงเวลาที่รัฐบาลไทยควรจะหันกลับมามองมาตรการการส่งเสริมยานยนต์ให้เข้มข้นอีกครั้ง
สุดท้ายแค่อยากจะบอกว่า โปรดอย่ามองข้ามรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด