ค่ายรถสร้างคนรับเทรนด์อีวี มหา”ลัยแห่เปิดหลักสูตรป้อน

ค่ายรถยนต์ตื่นตัวรับกระแสอีวีเร่งแผนพัฒนาคน “โตโยต้า-นิสสัน-มิตซูบิชิ” ผนึกเจโทรเตรียมเข้าสู่โลกอีวีครบวงจร ขณะที่มหาวิทยาลัยแห่เปิดหลักสูตรรับ “มาสเตอร์ กรุ๊ป” จับมืออาชีวะปั้นช่างฝีมือรองรับรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า

นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน กรรมการสถาบันยานยนต์ ทำการแทนผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระแสการตอบรับเทคโนโลยีด้านยานยนต์ของคนไทยถือว่ารวดเร็วกว่าหลายประเทศในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้า (อีวี) ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องตระหนักในการเตรียมบุคลากรรองรับ

ผนึกเจโทรรับเทคโนโลยีใหม่

โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา สถาบันยานยนต์ได้ลงนามหนังสือแสดงเจตจำนง เรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่กับองค์การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ (เจโทร) เพื่อประสานความร่วมมือส่งเสริมความเข้าใจและการพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ของทั้ง 2 ประเทศ ประกอบด้วย ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) ยานยนต์ไฟฟ้าปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV) ยานยนต์แบตเตอรี่ไฟฟ้า (BEV) ยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) และยานยนต์แห่งอนาคต ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือ 3 ปี (ปี 2561-2563) เพื่อร่วมกำหนดทิศทางและวางแผนเพื่อเปลี่ยนสังคมยานยนต์ในปัจจุบัน ไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพขอบเขตความร่วมมือ 3 ด้านหลัก คือ การแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ระบบความปลอดภัย การจัดการแบตเตอรี่ รวมถึงระบบการประจุไฟฟ้า การทดสอบและพลังงาน, แลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า, การพัฒนาทรัพยากรบุคคล

ค่ายรถตื่นตัวรับกระแสอีวี

นายอดิศักดิ์กล่าวอีกว่า ตอนนี้ค่ายรถยนต์ 3 ราย ได้แก่ โตโยต้า, นิสสัน, มิตซูบิชิ ประกาศความชัดเจนว่าพร้อมลงทุนในแพ็กเกจรถยนต์ไฟฟ้าที่รัฐบาลสนับสนุน เพื่อเตรียมพร้อมด้านบุคลากร ขณะที่สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และสมาคมอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทยก็ตระหนักและให้ความสนใจ

ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยหลายรายเริ่มปรับตัวรับการเปลี่ยนผ่านมากกว่าที่จะเป็นแค่ผู้ผลิต โดยเริ่มหันไปให้ความสำคัญกับงานด้านวิจัยและพัฒนา เพื่อต่อยอดเทคโนโลยีและธุรกิจ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงจะต้องเริ่มจากสิ่งที่ถนัดก่อน และพัฒนาไปสู่ความร่วมมือการผลิตชั้นสูง อาทิ แบตเตอรี่, มอเตอร์ไฟฟ้า

อนาคตชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่จะใช้ชิ้นส่วนยานยนต์ลดลง เหลือเพียง 2 ใน 3 ของปัจจุบัน และต้นทุนหลักของจะไปอยู่ที่แบตเตอรี่ถึง 50% ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจะต้องพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมตรงนี้

ขอเวลา 10 ปีเปลี่ยนผ่านสู่อีวี

นายอดิศักดิ์กล่าวว่า กระแสความตื่นตัวเรื่องรถยนต์พลังงานไฟฟ้าปลั๊ก-อิน ไฮบริดนั้น เชื่อว่าจะต้องใช้ระยะเวลาเปลี่ยนผ่านอย่างน้อย 10 ปี หรือราวปี 2579 ที่คาดว่าประเทศไทยจะมีความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าราว 25% ของยอดผลิตรถยนต์ทั้งหมด

เช่นเดียวกับ นางอัชณา ลิมป์ไพฑูรย์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จำเป็นต้องทำความเข้าใจ โดยเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เปลี่ยนเจเนอเรชั่นใหม่ จากเครื่องยนต์สันดาปภายในล้วน ๆ ไปสู่เครื่องยนต์ไฮบริด ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และอีวี ในที่สุดเชื่อว่าราวปี 2579 หรืออาจจะนานกว่านั้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยต้องปรับตัว ซึ่งมีทั้งกลุ่มสามารถปรับตัวได้ และผู้ที่ตกขบวน ซึ่งอาจต้องผันตัวเองไปสู่การผลิตชิ้นส่วนอื่น ๆ เช่น เครื่องมือแพทย์, แขนกล และอากาศยาน

BMW ทาบซัมซุง-LG ผลิตแบต

นายคริสเตียน วิดมานน์ ประธาน บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บีเอ็มดับเบิลยูได้ยื่นขอรับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอ ภายใต้แพ็กเกจรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด ขณะนี้อยู่ระหว่างรอบีโอไอพิจารณา คาดว่าในเดือนหน้าจะได้รับการอนุมัติ นอกจากนี้ ยังได้มีการพูดคุยกับพาร์ตเนอร์ทั้งแอลจีและซัมซุง เพื่อตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่รองรับการพัฒนารถอีวี

อย่างไรก็ตาม การจะผลักดันให้รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นที่นิยมต้องได้รับการสนับสนุนในหลายส่วน ทั้งระบบสาธารณูปโภคสถานีชาร์จไฟ สิทธิประโยชน์ทางภาษี ฯลฯ ซึ่งภาครัฐและเอกชนจะต้องเดินไปพร้อมกัน

ค่ายญี่ปุ่นรอบีโอไออนุมัติลงทุน

ด้านนายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ฮอนด้าเพิ่งยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฮบริด มูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนของฮอนด้า 1,600 ล้านบาท และการลงทุนของซัพพลายเออร์ 3,400 ล้านบาท จะเป็นการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน ใช้พื้นที่เดียวกับโรงงานของฮอนด้า ส่วนการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร ได้กำหนดแนวทางไว้ชัดเจนโดยมีบริษัทแม่เป็นต้นแบบ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ความคืบหน้าการบุกตลาดกลุ่มรถยนต์ไฮบริด เกือบทุกค่ายยื่นขอบีโอไอแล้ว รวมถึงมาสด้าและนิสสัน แต่บีโอไอเพิ่งอนุมัติให้กับโตโยต้ารายเดียว ที่ใช้เม็ดเงินลงทุน 20,000 ล้านบาท กำลังการผลิตปีละ 70,000 คัน ใช้โรงงานเกตเวย์ จ.ฉะเชิงเทรา และรถยนต์โมเดลแรกจากโครงการนี้คือ โตโยต้า ซี-เอชอาร์

แห่เปิดหลักสูตรรับเทรนด์อีวี 

ดร.พิพัฒน์พงศ์ วัฒนวันยู รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้ร่วมมือกับ FOMM ประเทศญี่ปุ่น ในการเข้ามาสอนนักศึกษาทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการสอนการออกแบบยานยนต์ไฟฟ้า การควบคุมระบบมอเตอร์ รวมถึงการขึ้นรูปโมเดลรถยนต์ไฟฟ้า และกำลังการศึกษาความเป็นไปได้ สำหรับการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้าให้บรรทุกสัมภาระได้ เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานของคนไทยและบริบทของประเทศ

ผศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล หัวหน้าสาขาวิศวกรรมยานยนต์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า มจธ.จะเปิดหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์ ในปีการศึกษา 2562 เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งแกนหลักของหลักสูตรจะพัฒนานักศึกษาให้มีความรู้ความสามารถด้านรถยนต์ไฟฟ้ารถขับขี่อัตโนมัติ เป็นต้น

“เราเตรียมพร้อมสำหรับการสร้างวิศวกรให้มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยหลักสูตรนี้จะร่วมทำงานกับวิศวกรรมสาขาอื่น ๆ เพราะเนื้อหาการเรียนการสอนมีเรื่องไอทีและไฟฟ้าด้วย ตั้งเป้าผลิตคนรองรับการทำงานกับศูนย์วิจัยด้านยานยนต์ เพื่อร่วมออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่”

ค่ายรถพัฒนาคนสู่โลกอีวี

นายอนุสรณ์ บุตรสุนทร ผู้อำนวยการสถาบันมาสเตอร์ ออโตโมทีฟ เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ หรือเอ็มเอที ในเครือบริษัท มาสเตอร์ กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด เปิดเผยว่า จากเทรนด์รถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตรวดเร็ว จึงได้เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนรองรับ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและเตรียมความพร้อมพัฒนาบุคลากรในยุคที่กำลังจะก้าวข้ามผ่านจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาระดับอาชีวะ เพื่อยกระดับช่างเทคนิค ช่างยนต์ รวมถึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) ทำหลักสูตรมินิเอ็มบีเอ สำหรับผู้ประกอบการด้านยานยนต์