อุตฯชิ้นส่วนยานยนต์ผวา “อินโด”เล่นเกมสกัดนำเข้า

แฟ้มภาพ

ส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไทยป่วน หวั่น “อินโดนีเซีย” ออกกฎเพิ่มสัดส่วน local content ผลิตรถยนต์-จักรยานยนต์ ชิ้นส่วนไทยผวาเชื่อถ้าทำจริงกระทบทั้งระบบ “ไทยซัมมิท” หวั่นคู่ค้าหั่นออร์เดอร์ทูตพาณิชย์รายงาน ตามหลัก WTO ไม่น่าทำได้

ดร.สาโรจน์ วสุวานิช รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยซัมมิท ฮาร์เนส จำกัด ในเครือไทยซัมมิทกรุ๊ป ผู้ผลิตสายไฟรถยนต์สำเร็จรูป กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้มีกระแสข่าวรัฐบาลอินโดนีเซียกำลังจะปรับปรุงเงื่อนไขการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในประเทศใหม่ ด้วยการบังคับให้ผู้ผลิตเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ (local content requirement) มาเป็น 90% โดยนโยบายนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เนื่องจากชิ้นส่วนทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศไทย

“รัฐบาลอินโดนีเซียต้องการเพิ่มการใช้วัตถุดิบในประเทศให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันชิ้นส่วนยานยนต์ส่วนใหญ่ต้องนำเข้าไปจากประเทศไทย ส่งเป็น OEM เข้าโรงงานประกอบ รวมถึงชิ้นส่วนประเภทรีเพรซเมนต์หรืออะไหล่ทดแทนด้วย” ดร.สาโรจน์กล่าว

ในส่วนของบริษัทไทยซัมมิท แม้จะมีโรงงานประกอบชิ้นส่วนตั้งอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย แต่ก็เชื่อว่าหากมาตรการบังคับใช้ local content มีผลเป็นรูปธรรมชัดเจน บริษัทคงได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

“เราเข้าไปตั้งโรงงานในอินโดนีเซียและใช้วิธีเทรดดิ้งเพื่อส่งต่อชิ้นส่วนยานยนต์ไปยังผู้ผลิตรถยนต์ ซึ่งหลักๆ เป็นพวกสายไฟ ส่วนพลาสติก โลหะ มีโรงงานผลิตอยู่แล้ว ต่อไปคิดว่าคงจะใช้วิธีเทรดดิ้งไม่ได้แล้ว เพราะอินโดนีเซียจะเลือกใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศของเขาเองเป็นหลัก” ดร.สาโรจน์กล่าว

ล่าสุดผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สอบถามประเด็นนี้ไปยังนางอัชณา ลิมปไพฑูลย์ นายกสมาคมชิ้นส่วนยานยนต์ไทย หรือ TAPMA กล่าวว่า สมาคมยังไม่ได้รับรายงานหรือพบความผิดปกติเกี่ยวกับการบังคับใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นของอินโดนีเซีย แต่ถ้ามีการบังคับใช้จริงขึ้นมา “มันก็จะกระทบทั้งระบบ” เพราะสมาชิก TAPMA ค้าขายกับประเทศอินโดนีเซียค่อนข้างมาก แต่โดยปกติแล้วการส่งออกหรือนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ภายในกลุ่มอาเซียนจะมีข้อตกลงของ WTO ดูแลอยู่แล้ว “ไม่น่าทำได้”

เช่นเดียวกับผู้ประกอบที่ส่งชิ้นส่วนป้อนโรงงานผลิตรถยนต์ในอินโดนีเซียกล่าวว่า ในทำนองเดียวกันถ้าอินโดนีเซียใช้มาตรการนี้ออกมาจริง ผู้ผลิตชิ้นส่วนจากไทยเสียหายแน่ เพราะปีหนึ่งประเทศไทยส่งออกชิ้นส่วนเข้าอินโดนีเซียเป็น 10,000 ล้านบาท “เรื่องนี้ใหญ่มากรัฐบาลต้องเข้ามาดูแล”

โตโยต้าส่งออกชิ้นส่วนสูงสุด

การส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ของประเทศไทย ปัจจุบันอินโดนีเซียถือเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 2 รองจากตลาดญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 9-10% ของการส่งออกสินค้าประเภทนี้ โดยช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ (Q1/2561) มีการส่งออกไปยังอินโดนีเซียคิดเป็นมูลค่า 239.97 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัว 25.24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีการส่งออกประมาณ 191.61 ล้านเหรียญผู้ส่งออกชิ้นส่วน/อุปกรณ์ยานยนต์ไปอินโดนีเซีย 10 อันดับแรก ได้แก่ บจก.โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค เอ็นจิเนียริ่งแอนด์แมนูแฟคเจอริ่ง, บจก.มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย), บจก.เอเชี่ยนฮอนด้ามอเตอร์, บจก.ฮีโน่มอเตอร์ส แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย), บจก.โตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์), บจก.ไทย-สวีดิช แอสเซมบลีย์, บจก.อีซูซุ โกลบอล ซีวี เอ็นจิเนียริ่ง เซ็นเตอร์, บจก.ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น ไทยแลนด์, บจก.นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) และ บจก.เอ็นทีเอ็น แมนูแฟคเจอริ่ง (ไทยแลนด์)

อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่าการเพิ่มสัดส่วน local content ของอินโดนีเซียอาจเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลอินโดนีเซียที่ต้องการเพิ่มการส่งออกสินค้ายานยนต์ ที่ผ่านมาอินโดนีเซียได้พัฒนาท่าเรือน้ำลึก Patimban ซึ่งอยู่ห่างจากเขตอุตสาหกรรม Karawan เพื่อรองรับตู้คอนเทนเนอร์ 1.5 ล้านตู้ หลังจากปัจจุบันท่าเรือ Tanjung Priok เต็มศักยภาพแล้ว โดยคาดว่าการก่อสร้างจะเริ่มในปี 2561 และเปิดใช้งานในปี 2562 ทั้งนี้ในปี 2559 อินโดนีเซียสามารถส่งออกยานยนต์ได้ 200,000 คันอาจเป็นมาตรการแฝง

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมได้ประสานขอทราบข้อเท็จจริงไปยังสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศประจำอินโดนีเซียแล้วว่า มีการออกกฎระเบียบดังกล่าวจริงหรือไม่ เบื้องต้นเท่าที่ตรวจสอบข้อมูล พบว่ารัฐบาลอินโดนีเซียไม่ได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาหารือในการประชุมอาเซียน โดยปัจจุบันอาเซียนได้ปรับลดภาษีนำเข้าระหว่างกันเป็น 0% ไปแล้ว และไม่มีการกำหนดสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศ

“ตามหลักการข้อตกลงอาเซียน หรือแม้แต่ในความตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) สมาชิกจะไม่สามารถกำหนดสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นการเฉพาะขึ้นมาใช้ได้ เพราะไม่สอดคล้องกับหลักการของการเจรจา แต่ในทางปฏิบัติหากมีกำหนดมาตรการแฝง ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ที่ภาครัฐไม่ได้เป็นผู้กำหนด และเป็นมาตรการที่ทางภาคเอกชนรับทราบ ก็ขอให้ประสานมายังกระทรวงพาณิชย์ เพื่อจะได้ดำเนินการตรวจสอบหรือนำไปขอหารือกับอินโดนีเซียในเวทีอาเซียนต่อไป” นางอรมนกล่าว