ค่ายรถดีดรับบอร์ดอีวี ชงลดภาษี “ไฮบริด” เชื่อสามารถอุ้มซัพพลายเชน 2 พันรายอยู่รอด พร้อมเติบโตควบคู่ไปกับรถ EV
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือบอร์ดอีวี มีมติเห็นชอบ มาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์ไฮบริด HEV ซึ่งจะปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตให้อยู่ในระดับคงที่ ในช่วงปี 2571-2575 จากเดิมอัตราภาษีจะเพิ่มขึ้น 2% ทุก 2 ปี
“ประชาชาติธุรกิจ” สอบถามเรื่องดังกล่าว ซึ่งแหล่งข่าวจากบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวเป็นเรื่องดีและจะช่วยยืดระยะเวลาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับกลุ่มรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือรถไฮบริด (e:HEV) ให้สามารถแข่งขันได้ง่ายขึ้น
โดยเฉพาะการยืดระยะเวลาการจัดเก็บภาษีที่จะมีการปรับสูงขึ้นจากปัจจุบันที่จัดเก็บภาษีอยู่ที่ 4% เพิ่มเป็น 6% และในปี 2569 จะปรับเพดานจาก 6% เป็น 8% นั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ฮอนด้ารวมทั้งค่ายรถยนต์อื่น ๆ ได้มีการเข้าไปหารือร่วมกับภาครัฐ รวมทั้งชี้แจงข้อเท็จจริงและความจำเป็นของการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีด้วยรถยนต์ไฮบริด
“ดีใจที่รัฐบาลเล็งเห็นถึงความจำเป็นและผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จึงได้มีการประกาศยืดระยะเวลาการเจ็ดจัดเก็บภาษีให้ที่ 6% ยาวนานออกไป เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีระยะเวลาในการปรับตัว ต้องขอบคุณรัฐบาลที่มองภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเด็นของภาคการผลิต ว่าได้รับผลกระทบและมีการเปลี่ยนแปลงชนิดที่ว่าจากหน้ามือเป็นหลังมือตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาและถือเป็นการขยายเวลาให้ผู้ประกอบการ มีการเตรียมตัวสำหรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต”
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ฮอนด้าได้มีการแนะนำรถยนต์ไฟฟ้า 100% อย่าง e:N1 มาทดลองทำตลาดในรูปแบบของธุรกิจเช่าซื้อ ซึ่งรถรุ่นนี้เป็นการผลิตจากโรงงานฮอนด้า ที่ จ.ปราจีนบุรี ในช่วงของรอยต่อที่ภาครัฐยืดเวลาให้ ฮอนด้าน่าจะมีรถยนต์อีวีอีกหลายโมเดลเข้ามา ทดลองทำตลาดเพื่อเตรียมเดินไปสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลา 5 ปีของการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี เทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยและตลาดรถยนต์ในวันนี้ ก็คือไฮบริดนั่นเอง
ด้านนายสุรภูมิ อุดมวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า รัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญและส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าระบบไฮบริด ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันกับโตโยต้า มองว่าการส่งเสริมความหลากหลายของเทคโนโลยีในการขับเคลื่อน
เช่นเดียวกับแนวทาง Multi-Pathways ของโตโยต้า เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยเรามุ่งนำเสนอทางเลือกทางด้านพลังงานที่หลากหลายให้กับลูกค้ามาโดยตลอด โดยบริษัทกำลังศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขของนโยบายดังกล่าวอยู่ในขณะนี้
ขณะที่นายรัฐการ จูตะเสน กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย กล่าวว่า ฟอร์ดเองก็มีเทคโนโลยีความหลากหลายของเครื่องยนต์อยู่ทั่วโลก แต่การจะนำเทคโนโลยีใดมาทำตลาดนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยการสนับสนุนของแต่ละประเทศ รวมทั้งความต้องการของตลาดรถยนต์ในประเทศนั้น ๆ ด้วย ฟอร์ดจึงต้องมีการศึกษารายละเอียดถึงความคุ้มค่าในการลงทุน
รวมทั้งโอกาสของการทำตลาดในประเทศนั้น ๆ และตลาดส่งออกมาตรการดังกล่าว ถือเป็นการรักษาบาลานซ์ของเทคโนโลยีเครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก และมีผู้เล่นรถยนต์รายหลัก ๆ อยู่ในประเทศไทย มีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศและการสร้างงานเป็นจำนวนมาก
“ฟอร์ดอยากสะท้อนไปยังภาครัฐว่า ต้องอย่าลืมค่ายรถยนต์เดิม ๆ ที่ยังคงดำเนินกิจการ มีโรงงานผลิตรถยนต์ และเป็นเสาหลักในการดำเนินธุรกิจของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย เราเชื่อว่ารถอีวียังไม่ใช่คำตอบของวันนี้ทั้งหมด หากดูจริง ๆ แล้วกลุ่มรถยนต์ไฮบริดยังเป็นตลาดหลักที่มียอดขายสูงอยู่”
ไม่ต่างจากนายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เอ็มจีมองมาตรการดังกล่าวถือเป็นเรื่องดี ถือเป็นการสร้างความสมดุลในช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจากเครื่องยนต์สันดาปไปสู่พลังงานไฟฟ้า 100% (อีวี) และเชื่อว่าในช่วงระยะเวลา 10 ปีจากนี้ รูปแบบการใช้รถยนต์ยังต้องเป็นการผสมผสานไประหว่างรถสันดาปภายในคือรถไฮบริด และรถอีวี
มาตรการดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญ ช่วยให้รถยนต์น้ำมันยังสามารถแข่งขันได้ ซึ่งส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค แต่ทั้งนี้คาดว่าระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่านอาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปีจากนี้ โดยในช่วงเวลานี้จะเป็นการใช้งานผสมผสานกันระหว่างรถยนต์น้ำมันและรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากอย่างไรก็ตามสถานการณ์ในวันนี้ รถอีวียังไม่สามารถเข้ามาแทนที่รถยนต์น้ำมันได้ ตรงนี้ถือว่าดีกับทั้งสองฝ่าย
แหล่งข่าวระดับบริหารรายหนี่งกล่าวว่า เชื่อว่าทางบอร์ดอีวีน่าจะมองเรื่องที่ผ่านมาและได้รับข้อเสนอจากค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นถึงมาตรการอีวี ที่มีผลกระทบต่อยอดขายเป็นประเด็นหลัก จึงต้องการให้มีมาตรการเพื่อส่งเสริมรถยนต์ไฮบริดด้วย
หากมองถึงอนาคตที่จะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการจัดเก็บภาษีรถน้ำมันที่จะไปดูเรื่องการปล่อยค่าไอเสีย หรือ CO2 ก็อาจจะได้รับผลกระทบบ้าง เพราะอย่างไรรถไฮบริดก็มีการปล่อยค่าไอเสียอยู่
“ถ้าพูดให้ตรงคือภาครัฐต้องการให้ผู้ประกอบการรถยนต์ญี่ปุ่นรู้สึกพอใจในมาตรการการสนับสนุนตรงนี้ว่าไม่ได้ส่งเสริมแต่รถอีวีเพียงอย่างเดียว ประเด็นสำคัญการที่รถยนต์ที่ใช้น้ำมันจะแข่งขันได้ในวันนี้ก็จะต้องเป็นรถไฮบริดเท่านั้น เพราะซัพพลายเชนของรถสันดาปยังอยู่ครบ และสามารถช่วยด้านการลดมลพิษ ซึ่งทั้งไฮบริดและ EV สามารถเติบโตควบคู่กันไปได้”
นายโทชิฮิโระ ฟูจิคิ ประธาน นิสสัน ประเทศไทย และนิสสัน อาเซียน เปิดเผยว่า รัฐบาลให้การสนับสนุนแบบนี้เป็นถือว่าดีมาก นิสสันมั่นใจว่า 3-5 ปีจะมีรถไฮบริดโมเดลใหม่ๆลงตลาดเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า 3-5 โมเดล และจะมีการลงทุนมากกว่าเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนดด้วย
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนด ต้องมีการลงทุนจริงเพิ่มเติม โดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์และ/หรือบริษัทในเครือในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2567 – 2570 ไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท ต้องใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศตั้งแต่ปี 2569 และต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญอื่น ๆ ตั้งแต่ปี 2571 เป็นต้น อาทิ ไ Traction Motor, Reduction Gear, Inverter และ ต้องมีการติดตั้งระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ (Advanced Driver Assistance System: ADAS) ในรถยนต์ HEV รุ่นที่ขอรับสิทธิ อย่างน้อย 4 จาก 6
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ตลาดไฮบริดช่วงหลังเติบโตอย่างเห็นได้ชัด จากปัญหาน้ำมันแพงและต้องการลดโลกร้อน รวมถึงค่ายรถมีการผลิตรถไฮบริดที่ใช้เครื่องยนต์ขนาดเล็กมากขึ้น ทำให้ราคาจับต้องได้ง่าย โดย 6 เดือนปี 2567 (มกราคม-มิถุนายน) พบว่ามีรถยนต์ที่ขายได้ 308,027 คัน รถยนต์นั่ง (ICE) 82,660 คัน ยอดขายลดลง 36.45%, รถยนต์นั่ง (BEV) 33,508 คัน เพิ่มขึ้น 6.91%, รถยนต์นั่ง (PHEV) 1,203 คัน ลดลง 8.93%, รถยนต์นั่ง (HEV) 67,110 คัน เพิ่มขึ้นถึง 69.64% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน