สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ กระทุ้งรัฐบาล เสนอ 3 ทางรอดผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์หวังเดินหน้ารับเทรนด์ยานยนต์เปลี่ยน ชูนโยบายสันดาปสุดท้าย-ปรับสู่ธุรกิจใหม่-เน้นผลิตอะไหล่ทดแทนส่งทั่วโลก
นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยที่สูงถึง 90% ของ GDP บวกกับภาวะเทคโนโลยีดิสรัปต์ ส่งผลให้ประเทศไทยปรับเป้าหมายยอดผลิตรถยนต์ลงจาก 1.9 ล้านคัน เหลือเพียง 1.7 ล้านคัน ลดลงไป 200,000 คัน
โดยเป็นการปรับลดในส่วนของการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศที่เหลือเพียง 5.5 แสนคันเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับยอดจำหน่ายรถยนต์ในช่วง 6 เดือนแรกที่ลดลงไปเหลือประมาณ 3.08 แสนคัน หรือหดตัว 24% โดยตลาดหลักที่หดตัวมากที่สุดก็คือ ตลาดรถปิกอัพ
สำหรับ TAPMA หน่วยงานกลางที่เชื่อมทุกคน สมาชิก 660 บริษัทที่เป็นผู้ประกอบการชาวไทย โดยตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา สมาคมได้มีการหารือร่วมกับสมาชิก เพื่อหาข้อสรุปในการยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลเพื่อผลักดันผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รวมทั้งบรรดา SME ให้สามารถอยู่รอดได้ในสถานการณ์ที่ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งการหดตัวของยอดจำหน่ายรถยนต์และการเข้ามาของผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศจีน พร้อมกับรถยนต์ไฟฟ้า
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของตลาดรถยนต์ประเภทใหม่อย่างรถยนต์ไฟฟ้า ที่มีการใช้ชิ้นส่วนที่ลดลงจาก 3 หมื่นชิ้น เหลือเพียง 3,000 ชิ้นเท่านั้น ส่งผลให้ปริมาณการใช้ชิ้นส่วนลดลงและส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แบบเดิม ทำให้สมาคมต้องจัดประชุมเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาร่วมกัน
โดยสมาชิกของสมาคมเสนอ มีการนำเสนอ 3 แนวทางที่อยากให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนและผลักดัน ประกอบไปด้วย 1.การสร้างประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสุดท้ายสำหรับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน 2.การปรับตัวขยายไปยังธุรกิจอื่น ๆ ที่ใช้พื้นฐานใกล้เคียง และ 3.การพัฒนาธุรกิจตลาดอะไหล่รถยนต์ให้เติบโตและสร้างรายได้อย่างเข้มแข็งต่อเนื่อง
“สมาคมมองว่าตลาดรถยนต์สันดาปภายในนั้นจะไม่หมดไปจากโลกนี้ รวมถึงตลาด Future ICE อย่างตลาดรถยนต์ไฮบริด ถือเป็นตลาดที่มีโอกาสการเติบโตค่อนข้างสูงในประเทศไทย และหลาย ๆ ภูมิภาค เรามองว่าหากรัฐบาลน่าจะช่วยเหลือในการเจรจากับผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนในเทคโนโลยีเหล่านี้ให้เลือกประเทศไทยเป็นฐานผลิตได้ รวมถึงอาจจะมีสิทธิประโยชน์ในการลงทุนต่าง ๆ มากขึ้น”
ทั้งนี้ รัฐบาลต้องประกาศให้ชัดเจนว่าจะมีแผนหรือนโยบายในการดึงการลงทุนของผู้ผลิตรถยนต์สันดาปภายใน ให้เข้ามาที่เมืองไทยได้ ผู้ผลิตผู้ประกอบการไทยไม่ได้ต่อต้านใคร แต่อยากเวลคัม เนื่องจากเรามีจุดแข็ง คือ มี Supply Chain 2500 รายเข้มแข็งมาก เทียบอินโดนีเซีย 800 ราย และมีแรงงานที่มีทักษะฝีมือค่อนข้างสูง เชื่อว่าภาครัฐน่าจะใช้จุดนี้มาช่วยดึงลงทุนได้
นอกจากนี้ การขยายการพัฒนาธุรกิจออกไปจากอุตสาหกรรมยานยนต์ ด้วยการอาศัยความเชี่ยวชาญต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการพัฒนาต่อยอดไปจากธุรกิจการผลิตชิ้นส่วนไปยังธุรกิจที่น่าสนใจ เช่น การผลิตชิ้นส่วน อากาศยาน เครื่องมือแพทย์ ความสนับสนุนและต่อยอด รวมถึงธุรกิจการเดินทางระบบราง ที่น่าจะมีความพร้อมในการพัฒนาห้องโดยสารหรือระบบอื่น ๆ ในตัวรถ
สำหรับการผลักดันธุรกิจอะไหล่รถยนต์นั้น ในโลกมีการใช้งานรถยนต์กว่า 2 พันล้านคัน ซึ่งรถยนต์สันดาปภายในมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 20 ปี แน่นอนว่าถือเป็นโอกาสที่มีความต้องการใช้งานชิ้นส่วนยานยนต์ในรูปแบบของอะไหล่ ซึ่งหากสามารถพัฒนาแพลตฟอร์มในการหาซื้อสินค้า หรือการดึงดูดการลงทุนของผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามาในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการเช่นกัน
ในแง่ของนโยบายนั้น รัฐบาลอาจจะต้องมองว่าทำอย่างไรถึงจะดึงดูดการลงทุนเข้ามาได้เพิ่มเติม ที่เอื้อต่อการแข่งขัน ทั้งในเรื่องของภาษีต่าง ๆ การพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการทำตลาด รวมถึงการหาข้อมูลที่ผู้ประกอบการต้องการ ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนสามารถพัฒนาตัวเองตามมาตรการเหล่านี้ได้ในอนาคต
รวมไปถึงการที่จะยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลเข้ามาดูแลในเรื่องมาตรการปลีกย่อยต่าง ๆ โดยส่วนมากจะเป็นเรื่องของเงินสนับสนุน อาทิ เงินอุดหนุนและช่วยเหลือ SMEs เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การค้ำประกันการลงทุน และภาษีต่าง ๆ เช่น มาตรการจูงใจด้านภาษีและการยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร-วัตถุดิบ รวมถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชน และความรวดเร็วในการใช้กฎระเบียบต่าง ๆ