นายกสมาคมรถ EV ฟันธง ไทยได้อานิสงส์ “สงครามการค้า”

สุโรจน์ แสงสนิท นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย
สุโรจน์ แสงสนิท
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

หลังจากเข้ามารับตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ในสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย หรือ EVAT ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการประสานระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี ไปทั้งองคาพยพ วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษ “สุโรจน์ แสงสนิท” รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด หรือ MG และในฐานะนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ถึงเป้าหมายและแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์อีวีในประเทศไทย

Q : นโยบายหลักของสมาคม

สมาคมมุ่งเน้นเผยแพร่การสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า ให้ความรู้ประชาชนถึงความแตกต่าง วิธีการเลือกใช้ ข้อควรระวังของรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งถ่ายทอดความรู้ไปยังสถาบันการศึกษาเพื่อร่วมกันออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอน ให้นักเรียนมีความรู้พื้นฐาน ตลอดจนอู่ซ่อมรถเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในการบำรุงดูแลรถยนต์ไฟฟ้า โดยมีการเชิญผู้ที่เชี่ยวชาญจากจีนมาร่วมอบรม ถ่ายทอดความรู้ รวมถึงอู่ต่าง ๆ หน่วยกู้ภัย เพื่อเรียนรู้ ถ่ายทอดวิธีการใช้ ระบบความปลอดภัยของรถยนต์ไฟฟ้าที่ถูกต้อง และต้องรู้ว่าควรจะไปปลดเซฟตี้อะไรตรงไหนบ้างของรถแต่ละแบรนด์ ซึ่งสมาคมกำลังรวบรวมอยู่

Q : ถึงวันนี้คนไทยเปิดรับรถอีวีมากขึ้นหรือยัง

วันนี้ถือว่าผู้บริโภคชาวไทยให้การยอมรับรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่าที่คาดการณ์ไว้ หากดูไตรมาสแรกของปีก่อนพบว่า ยอดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน 78% เป็นการใช้งานในประเทศไทย ดังนั้นในไตรมาสแรกที่ผ่านมาก่อนจะมีการขายรถยนต์ไฟฟ้าแบบเต็มระบบนั้น โตถึง 600% กราฟของอาเซียนน่าจะไปถึงตรงนั้นแล้ว และนี่คือการยอมรับของคนไทย ทุกประเทศตั้งเป้าจะเป็น ฮับของอีวี ในอาเซียน

แต่ไทยอาจจะอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า โชคดีบนความโชคร้าย ที่ “น้ำมันแพง” ทำให้ความสนใจการลดค่าใช้จ่าย และการลดภาวะโลกร้อนมาบรรจบกัน ส่วนประเทศอื่นค่าน้ำมันถูก ทำให้ความแตกต่างระหว่างรถยนต์น้ำมันและรถยนต์ไฟฟ้า ยังถือว่าน้อยอยู่ในเรื่องของ “ค่าใช้จ่าย” ไทยมีรถอีวีวิ่งอยู่ในปริมาณมาก แต่เรายังประสบปัญหาเรื่องสถานีชาร์จอยู่ ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ปัจจุบันมี 5,000 หัวจ่าย ขณะที่มีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่วิ่งอยู่บนถนนราว 140,000 คัน เฉลี่ย 20 คันต่อ 1 หัวจ่าย ตัวเลขน่าจะเพียงพอ

Advertisment

แต่วันนี้หัวจ่ายหลักอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล ส่วนใหญ่ ยังไม่กระจายไปในพื้นที่ต่าง ๆ เท่าไร ถนนระหว่างเมืองนั้นอาจจะยังน้อยอยู่ ดูจากสถานีน้ำมันจะมีแค่ 2-3 หัวจ่าย ในวันปกติได้เพียงพอ แต่หากวันหยุดยาวยังไม่เพียงพอ ถ้ามีหัวจ่ายในสถานีบริการมาก เป็นหลัก 10 หัวจ่าย เชื่อว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะสามารถวิ่งได้เหมือนรถยนต์สันดาป วิ่งไปทั่วประเทศ และค่าใช้จ่ายในการเดินทางถูกลงไปด้วย ปัจจุบันมีผู้ลงทุนทำสถานีชาร์จ 20 ราย ทำให้มี 20 แอปพลิเคชั่นสำหรับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า

เราอยากให้รัฐบาลรวบรวมทำแอปพลิเคชั่นกลาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลก็จะสะดวกมากขึ้น และเอกชนร่วมกันเองอาจจะมีข้อได้เปรียบ เสียเปรียบทางธุรกิจ ทำให้รวมยาก

Advertisment

Q : ทิศทางปีนี้จะโฟกัสไปจุดใดบ้าง

ตอนนี้เรามีสมาชิก 390 กว่าสมาชิก แบ่งเป็นนิติบุคคล 280 ราย ค่ายรถยนต์ทุกยี่ห้อไม่ว่าจะเป็นน้ำมันหรือไฟฟ้า, ผู้ประกอบการชิ้นส่วนรถยนต์ ที่แตกต่างคือ คณะอาจารย์ที่อยู่ในสถาบันการศึกษารวมอยู่ในสมาชิกด้วย ซึ่งก็ช่วยผลักดันทางด้านการศึกษา เพราะถ้าเราอยู่แค่ในอุตสาหกรรมอย่างเดียว การประสานไปยังสถานศึกษาก็จะลำบาก ปีนี้จะโฟกัสตรงอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น เนื่องจากเล็งเห็นว่าอเมริกัน-จีน มีปัญหาเรื่อง “สงครามการค้า”

ดังนั้นวิกฤตตรงนี้อาจจะเป็นโอกาสของประเทศไทย และประเทศในกลุ่มอาเซียน ที่อาจจะเป็นฐานการผลิตและส่งออกไปยังยุโรปใต้ ที่ผ่านมามีการส่งออกรถยนต์เป็นล้านคันต่อปี ซึ่งน้อยมากที่ส่งไปยุโรป ถ้าเกิดไทยได้ธุรกิจตรงนี้ขึ้นมา ได้ยอดตัวนี้มาจะเป็นเรื่องที่ดีมาก “ออนท็อป” เข้ามาอีก

Q : ไทยจะได้อานิสงส์จากสงครามการค้าอย่างไรบ้าง

จุดที่สมาคมกำลังโฟกัสต่อไปคืออุตสาหกรรม จะได้เห็นการย้ายฐานการผลิตเพื่อการส่งออกของประเทศจีน แน่ ๆ ผมมั่นใจ ตลาดรถยนต์อีวีไทยยังไม่ใหญ่เพียงพอ แม้จะโตขึ้นมา 700% แต่ทำไมผู้ผลิตรถยนต์จีนถึงได้มาตั้งโรงงานที่ประเทศไทยถึง 7 โรงงาน ผมคิดว่าเป้าหมายหลักของเขาก็คือไม่ได้ตลาดในประเทศ เป็นการย้ายฐานการผลิตเพื่อการส่งออก เพราะว่าสงครามการค้าอเมริกัน-จีนมีมานาน เชื่อว่าทางจีนก็ต้องวางแผนเพื่อเตรียมตั้งรับตรงนี้ไว้อยู่เหมือนกัน

แต่เผอิญการขึ้นภาษีของยุโรป-อเมริกา มีการปรับเร็วกว่าที่คาดไว้ ทำให้มีฐานการผลิตยังไม่ได้ย้ายมาผลิตประเทศไทย แต่อาจจะมาช้าไปเมื่อเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน และไม่สามารถทำแค่การนำชิ้นส่วนมาขันนอต ประกอบและส่งไปยุโรปได้

เพราะฉะนั้น ไทยต้องทำทุกวิถีทางที่จะให้รถจีนที่ผลิตในประเทศไทย เป็นสัญชาติไทย ก็เหมือนคนเชื้อชาติจีนสัญชาติไทย ตราบใดที่ไทยไม่มีปัญหากับประเทศคู่ค้า การเพ่งเล็งตรงนี้จะไม่มี แต่ถ้าเขาเห็นว่าเป็นเชื้อชาติจีน แน่นอนว่าอาจจะไปดูรายละเอียด ที่มาที่ไปของรถเพิ่มขึ้น ถ้าไล่สเต็ปความเข้มข้นไป แล้วพบว่าเป็น จีน หมด เขาก็ต้องหาวิธีการสร้างกำแพง

สิ่งที่เราต้องทำคือ “ทำให้เป็นสัญชาติไทย” ไม่ใช่เเค่รถยนต์ ไม่ใช่แค่ชิ้นส่วน ตลอดจนสถาบันการทดสอบนั้นไม่ใช่ว่าไทยผลิตชิ้นส่วน ผลิตรถ แล้วต้องส่งไปที่จีนเพื่อทดสอบ ก็คงไม่ใช่สัญชาติไทย รวมถึงการทดสอบยานยนต์จะทำร่วมกับสถาบันยานยนต์ และ สมอ. เพื่ออนุมัติให้เป็นมาตรฐาน ออกจากประเทศไทย

สิ่งที่สมาคมมีโอกาสได้หารือร่วมกับทางจีน เขาไม่ได้ต้องการเข้ามาแค่รถยนต์หรือชิ้นส่วนยานยนต์เท่านั้น ได้มีการหารือร่วมกันถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี การเทรนคน การที่บริษัทจีนจะเข้ามา ต้องเป็นลักษณะการร่วมทุน (จอยต์เวนเจอร์) การที่จะได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างการันตีได้ถ่ายทอดแน่ ๆ ก็คือการร่วมทุนนั่นเอง เมื่อยุโรปจะไปตรวจเช็กก็พบว่านี้คือ บริษัทร่วมทุนกับไทย คือสัญชาติไทย ตราบใดที่ประเทศเราไม่มีปัญหากับเขาทางด้านอื่น ตรงนี้เขาก็ไม่ได้กีดกันทำไม

Q : ถ้าจีนเข้ามาทั้งองคาพยพไทยต้องปรับตัวอย่างไร

สิ่งที่สมาคมพยายามเน้นทางด้านการสร้างบุคลากร เพราะถ้าเกิดว่าบริษัทไม่มีความรู้พื้นฐานเลย การที่จะมาร่วมอาจจะต้องใช้เวลา ถ้าเกิดมีบุคลากรที่มีพื้นฐานมีวิศวกรที่มีความสามารถที่จะอัพสกิลมาแล้ว การคุยกับการรับถ่ายทอดจะง่ายขึ้น ผมอยากจะให้เกิดเป็นการร่วมทุนกันเป็นที่เกิดขึ้น

เพราะว่าผมเชื่อว่าหลายคนเนี่ยคงได้เห็นตอนประเทศจีนเปิดประเทศครั้งแรก รถยนต์ไม่เตะตาเลย ไม่น่าสนใจเลยนะ แต่ทำไมวันนี้ผ่านไปไม่กี่สิบปี จีนกลายเป็นเจ้าตลาด เป็นเบอร์หนึ่ง ในการส่งออกรถไฟฟ้าของโลกไปแล้ว ตอนนั้นจีนบังคับให้ต่างชาติ “ร่วมทุน” เริ่มจากโฟล์คสวาเกน กับเอสเอซีมอเตอร์ และขยายไปเรื่อย ๆ จนทุกวันนี้ จีนทำเองได้แล้ว นั้นการันตีเลยว่าด้วยวิธีนี้เทคโนโลยีถูกถ่ายทอดแน่ ๆ

Q : แนวทางการร่วมทุนจะใช้กับบ้านเราเมื่อไหร่

วันนี้ เอ็มจี เป็นรายแรก ที่ร่วมทุนกับ ซีพี ตามมาด้วย บีวายดี และเรเว่ กรุ๊ป สังเกตได้ว่า 2 ยี่ห้อนี้มีการดำเนินการที่ชัดเจนมากกว่า ต่างชาติเข้ามาตั้งโรงงานในไทย ส่วนประเด็นที่หลายคนวิจารณ์ว่า รัฐบาลให้การสนับสนุนแต่รถยนต์ไฟฟ้านั้น ที่ผ่านมาบีโอไอมีนโยบาย แพ็กเกจทั้งรถน้ำมัน รถไฮบริด รถปลั๊ก-อินไฮบริด มามากแล้ว สิ่งที่ขาดที่รัฐบาลไม่มีนโยบายสนับสนุนเลยก็คือรถไฟฟ้า จึงมีการออกนโยบายการส่งเสริมรถไฟฟ้าขึ้นมา เพื่อให้รัฐบาลมีการเข้าส่งเสริมครบทุกแพลตฟอร์ม แต่พอออกมาเฉพาะส่วนที่ขาด คนเลยมองว่ารัฐบาลสนับสนุนแต่รถยนต์ไฟฟ้า

เมื่อเราจะไปที่ Net Zero แต่ยังสนับสนุนรถน้ำมันอยู่ไปไม่ถึงสักที กรมสรรพสามิตก็เลยมีโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่และที่จะประกาศใช้ในอีก 2 ปีข้างหน้า คือปี 2026 จะชัดเจนเลยว่าถ้ารถน้ำมันก็จะถูกขยับขึ้น เกิดช่องว่างข้างล่างเพิ่มขึ้น รถไฮบริดจะถือว่าน้ำมัน รถปลั๊ก-อินไฮบริดก็ถือเป็นรถน้ำมัน แต่เมื่อมีแบตเตอรี่ คือมีไฟฟ้าอยู่ด้วย CO2 ต่ำก็จ่ายภาษีสรรพสามิตต่ำกว่ารถน้ำมัน

ส่วนรถปลั๊ก-อินไฮบริดก็มีการกำหนดว่า การชาร์จ 1 ครั้งต้องวิ่งได้ไม่น้อยกว่า 80 กิโลเมตร และถังน้ำมันจะเล็กกว่า 45 ลิตร นี่คือเงื่อนไขที่กำหนดออกมาประกาศ การที่รัฐบาลลดภาษี เท่ากับประเทศชาติต้องควักเงินจ่ายเพื่อลดมลพิษ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างสรรพสามิตนี้ คือปรับให้ไฟฟ้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก

Q : EVAT เป็นแกนกลางเชื่อมความร่วมมือ

สมาคมจะกลายเป็นบิ๊กแมตชิ่งโดยปริยาย เนื่องจากได้รับการติดต่อจากทางนิคมอุตสาหกรรมในแต่ละแคว้นของจีนที่อยากจะมาดู และให้สมาคมแนะนำบริษัทที่ชิ้นส่วนคล้าย ๆ กันในไทย ให้รู้จักบีโอไอ เพื่อจะร่วมกันแมตชิ่งธุรกิจตรงนี้ วันนี้มีหลากบริษัท หลายอุตสาหกรรมมาก ๆ ที่เข้ามาให้สมาคมช่วยดูแลตรงนี้ ทั้งสถาบันการศึกษา บริษัทประกันภัย เพื่อหาจอยต์เวนเจอร์ในไทย สมาคมนอกจากการผลักดันให้เกิดการผลิตรถเพื่อการส่งออกแล้ว

ปัจจุบันนี้ยอดขายรถยนต์ลดลง ขายไม่ดี หลายคนบอกว่าเป็นเพราะรถไฟฟ้าจีนมาทำให้รถไฟฟ้าลดลง แต่ถ้าไปดูจริง ๆ แล้ว เซ็กเมนต์ที่ตกคือรถปิกอัพ ตรงนี้ไม่ได้ถูกแชร์ไป อีกทั้งหลายคนบอกว่า จีนมีกำลังผลิตที่ล้นตลาด แถมส่งออกไปยุโรปไม่ได้ จึงต้องส่งออกมาลดราคาในไทย ผมขอถามนิดหนึ่งครับ ท่านเคยเห็นรถไฟฟ้าจีนที่ใช้พวงมาลัยขวาหรือไม่ รถที่ขายในจีนและส่งออกไปยุโรปใช้พวงมาลัยซ้าย

ดังนั้นประเด็นนี้ตัดทิ้งได้เลย ว่าจุดที่เราอยากจะแก้ต่างนิดหนึ่งนะ เพราะว่าเราเข้าใจผิดกันมาตลอด ผมไม่ได้บอกว่าจีนไม่ได้ทำอย่างนั้น แต่ในอุตสาหกรรมอื่นอาจจะทำก็ได้ แต่ไม่ใช่อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอื่นดัมพ์ลงมาก็ได้

Q : วันนี้ถือว่าโอเวอร์ซัพพลายกับมาตรการหรือไม่

จริง ๆ จะต้องมีการผลิตรถอีวีชดเชย 1-1.5 เท่า ร่วมโครงการอีวี 3.0 และผลิต 2-3 เท่า สำหรับโครงการอีวี 3.5 ถ้าเราผลิตตอนนี้ยอดขายปัจจุบัน การผลิตเนี่ยไม่ใช่ปัญหา แต่ผลิตมาแล้วเอามากอง ๆ ก็จะเกิดเหตุปัญหา ไม่สามารถผลักดันยอดผลิตเพื่อชดเชย เราก็กำลังจะเจรจากับรัฐบาล เพื่อหาทางออกร่วมกันยังไง ที่ผ่านมามีการยื่นแจ้งปัญหาเข้าไปกับทางบีโอไอ และเลขาบอร์ดอีวีว่า

ถ้าสภาพตลาดยังเป็นแบบนี้อยู่ อาจจะประสบปัญหาในระยาว ผมได้เข้าไปชี้แจงกับเลขาธิการบีโอไอ ซึ่งท่านเป็นเลขาบอร์ดอีวี ได้อธิบายถึงสถานการณ์ในปัจจุบันแล้ว ถ้าเกิดยอดขายแบบนี้ ค่ายรถก็ไม่อยากผลิตออกมาให้เป็นสต๊อก บีโอไอก็รับฟังสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อหาทางออกร่วมกัน

เมื่อมีการดัมพ์ราคาลงมาหนึ่งรุ่น เจ้าอื่นเขาก็ไม่ได้อยากจะร่วมด้วย แต่คราวนี้ต้องหนีตาย ก็ต้องลดราคาลงมาบ้าง มันก็เลยกลายเป็นการหนีตาย ไม่ใช่สงครามราคา ก็เป็นเหมือนโดมิโนเอฟเฟ็กต์ และยังต้องรอบอร์ดอีวีชุดใหม่ก่อน

Q : ปรากฏการณ์อะไรจะเกิดขึ้นกับตลาดที่โอเวอร์ซัพพลาย

ผมว่าจริง ๆ ถ้าเป็น “สงครามราคา” ต้องแข่งกันลดราคา แต่ถ้าไปมอนิเตอร์ดี ๆ เมื่อเจ้าหนึ่งเริ่มลดราคาลงมา เจ้าที่อยู่ล่าง ๆ ก็ต้องลดลงไปด้วย พอลดราคาไปชน อีกรายก็ต้องลดราคาตามกันไป เพื่อหนีตาย มันเลยกลายเป็นสงครามราคา ผมขอเรียกว่า “หนีตายดีกว่า” และกระทบตลาดรถยนต์สันดาปด้วย

ผมเชื่อว่าสถานการณ์ดังกล่าวคงไม่สามารถทำได้ตลอด เพราะก็จะต้อง ติดกระดูกในที่สุด เราไม่มีของมาฟรี ทุกอย่างมีต้นทุนหมดเลย ทำได้เเค่ระดับหนึ่ง แม้อาจจะขาดทุนก็ตามแต่ แต่เขาไม่ต้องทำราคาแบบไหนก็อาจจะชี้แจงแล้วถึงว่าจะมีรถรุ่นใหม่มาผลิตในประเทศ ที่มีการลดราคานี้เป็นการเคลียร์สต๊อก ก็จะไม่ทำให้รายอื่น ๆ เดือดร้อนไปด้วย และน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า