“ไทย” ลุ้นชิงผู้นำเอเชีย หวังรถอีวีทะลุ 60 ล้าน ปี 2040

บลูมเบิร์ก นิว เอเนอจี้ ไฟแนนซ์ (บีเอ็นอีเอฟ) บริษัทวิจัยอุตสาหกรรมด้านพลังงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก เปิดตัวรายงานประจำปีว่า ด้วยการคาดการณ์การใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี) ทั่วโลกจนถึงปี 2040 เมื่อวันก่อน โดยระบุว่าด้วยราคาแบตเตอรี่ที่ต่ำลง และการผลิตที่มากขึ้น รวมถึงข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการใช้งานรถยนต์อีวีที่ต่ำกว่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาป จะทำให้มีความต้องการใช้รถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่ารถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกจะเพิ่มเป็น 11 ล้านคัน ในปี 2025 ก่อนเพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านคัน ในปี 2030 และในปี 2040 จะก้าวกระโดดสู่ 60 ล้านคัน หรือเท่ากับ 55% ของตลาดรถยนต์ไซซ์เล็กทั่วไป

“แบตเตอรี่” หัวใจรถอีวี

ปัจจุบันมีรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกอยู่ที่จำนวน 1,569,000 ล้านคันทั่วโลก จากปีที่แล้ว 1,091,000 ล้านคัน ถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หากเทียบย้อนกลับไปเมื่อราว 2-3 ปีก่อน ที่ทั่วโลกมีรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งอยู่บนถนนแค่เพียงหลักแสนเท่านั้น บีเอ็นอีเอฟคาดการณ์ในด้านอื่น ๆ ด้วยว่า การใช้งานของรถยนต์สันดาปจะเริ่มลดลงชัดเจนในช่วงกลางทศวรรษ 2020 และปี 2024 ราคารถยนต์ไฟฟ้าจะตกลงมาเท่ากับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป ทั้งนี้ ประเทศจีนจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยในปี 2025 ยอดขายรถยนต์อีวีในจีนจะยังคงคิดเป็น 50% ของทั่วโลก และ 39% ในปี 2030

นายโคลิน แมคเคอร์ราเชอร์ หัวหน้าทีมนักวิเคราะห์การเดินทางขนส่งที่ล้ำหน้าของบีเอ็นอีเอฟ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าใช้งานแพร่หลายมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน เนื่องจากราคาแบตเตอรี่รถยนต์ลิเทียมไอออนที่ลดลงกว่า 80% นับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา โดยมองว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า การผลิตแบตเตอรี่จะเพิ่มกำลังขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในเอเชีย ที่มีจีนเป็นผู้นำตลาดผลิตถึง 73% ในปี 2021

“ทุกวันนี้แม้ส่วนแบ่งรถยนต์อีวีในทุกตลาดยังน้อยมากอยู่ แต่อยากให้สังเกตว่า กว่าที่จะได้ส่วนแบ่งตลาด 1% นั้นใช้เวลานานมาก แต่พอมาเป็น 2% และ 3% ค่อนข้างเติบโตอย่างรวดเร็วเลยทีเดียว” นายแมคเคอร์ราเชอร์กล่าว

“ไทย” มีสิทธิ์ชิงผู้นำอีวี

ในด้านการสร้างความแพร่หลายของการใช้รถยนต์อีวี นายแมคเคอร์ราเชอร์มองว่า “สิทธิประโยชน์” จากรัฐบาลมีความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพียงด้านภาษีหรือเรื่องเงินเท่านั้น แต่ยังเป็นการอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เช่น การจอดรถฟรี การขึ้นทางด่วนหรือโทลล์เวย์ฟรี ตลอดจนการใช้บัสเลนโดยถูกกฎหมาย ซึ่งเป็นโมเดลที่ประเทศนอร์เวย์ใช้ในการผลักดันดีมานด์รถอีวี และประสบความสำเร็จ ทำให้ในเพียงแค่ครึ่งปีแรกของปี 2018 ยอดขายรถอีวีในนอร์เวย์ คิดเป็นมากกว่า 50% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด

ทั้งนี้มองว่า รัฐบาลไทยมีความจริงจังในการออกนโยบายผลักดันการใช้รถยนต์อีวีมาก ประกอบกับเป็นประเทศฐานผลิต น่าจะสามารถเข้าชิงความเป็นผู้นำด้านรถยนต์ไฟฟ้าระดับภูมิภาคได้อยู่ และคิดว่าในประเทศไทย ดูจากทิศทางแล้วน่าจะเริ่มมีการใช้งานจากรถบัสไฟฟ้าก่อนรถยนต์ส่วนบุคคล

ขณะที่ นายอาชิช เซเทีย หัวหน้านักวิจัยภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของบีเอ็นอีเอฟให้ความเห็นเสริมว่า ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายใหญ่ของภูมิภาคเอเชีย และออสเตรเลีย จึงทำให้นโยบายสนับสนุนรถยนต์อีวีแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน

“เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยก็มีความโดดเด่นในการออกนโยบายสนับสนุน ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ส่วนใหญ่มีนโยบายสนับสนุนจากทางฝั่งผู้บริโภค เช่น สิงคโปร์ที่เพิ่มภาษีคาร์บอน และลดภาษีให้กับบ้านที่ชาร์จไฟฟ้าได้ ขณะที่รัฐบาลไทยดูจะมีนโยบายสนับสนุนทั้ง 2 ฝ่าย คือ ทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค แม้ฝั่งผู้บริโภคจะไม่ชัดเจนนัก”

กังวล “โคบอลต์” ขาดในอนาคต

รายงานของบลูมเบิร์กฉบับนี้ได้ทำการสำรวจในประเด็นอุปสรรคของรถยนต์อีวีในอนาคตด้วย โดยพบว่ารถยนต์ไฟฟ้านั้นถูกพัฒนาโดยมีความต้องการใช้ลิเธียมและโคบอลต์มาทำแบตเตอรี่ ซึ่งตัวลิเทีียมนั้น หัวหน้าทีมนักวิเคราะห์การเดินทางขนส่งที่ล้ำหน้ากล่าวว่า ไม่น่ากังวลใจเท่าไหร่นัก เพราะในระยะหลังมีหลายบริษัทเล็งเห็นโอกาส และเปิดเหมืองสกัดแร่กันมากขึ้น ลิเทียมคงไม่ขาดตลาดไปอีกนาน แต่ที่น่าจะเป็นปัญหาน่าจะเป็นโคบอลต์ เพราะใช้ในการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ

ด้วย ทำให้อาจจะเกิดการแย่งความต้องการกัน ราคาอาจจะดีดตัวขึ้นสูงในอีก 5 ปีข้างหน้า หากมีซัพพลายไม่เพียงพอ ถือได้ว่าเป็นความเสี่ยงหลัก ๆ

ในการพัฒนารถยนต์อีวี

นายอาชิชกล่าวเสริมว่า ปัจจุบันก็มีหลายบริษัทแบตเตอรี่พยายามพัฒนาหาตัวมาทดแทนโคบอลต์ เพื่อให้เป็นแบตเตอรี่เน็กซ์เจเนอเรชั่น ซึ่งเขาเชื่อว่าถ้าทำได้ ก็จะทำให้ราคาแบตเตอรี่ถูกลงไปอีก

“อีวี” เบียดปลั๊ก-อินไฮบริด

นอกจากนี้ รายงานคาดการณ์ความต้องการของรถยนต์อีวีฉบับนี้เชื่อว่า ในอนาคตรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบจะขายดีกว่ารถยนต์ไฟฟ้ารูปแบบปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และรถยนต์พลังงานเชื้อเพลิงอย่างมาก เพราะแม้ว่าในช่วง 5-10 ปีนี้ ปลั๊กอินไฮบริดจะมีความสำคัญสำหรับผู้บริโภคในการเปลี่ยนผ่านการใช้รถ แต่ยังมองไม่เห็นว่าเทคโนโลยีปลั๊ก-อินไฮบริดจะมีราคาถูกลงได้อย่างไร เนื่องจากเครื่องยนต์ใช้เทคโนโลยี 2 แบบ คือ แบตเตอรี่และเผาไหม้น้ำมัน ขณะที่รถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงก็เช่นกัน ยังไม่สามารถหาเทคโนโลยีที่ทำให้การเติมไฮโดรเจนราคาถูกลงได้

ทั้งนี้ ในงานเปิดตัวรายงานประจำปีว่าด้วยการคาดการณ์การใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี) ทั่วโลกจนถึงปี 2040 มีการสอบถามผู้ร่วมงานทั้ง 70 คนซึ่งเป็นชาวไทยและชาวต่างชาติ มาจาก

ทั้งในภาคอุตสาหกรรมรถยนต์และภาครัฐบาลว่า ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยในปี 2030 จะคิดเป็นส่วนแบ่งตลาดเท่าไหร่ ? โดยคำตอบที่ได้รับมากที่สุด คือ 44.6% คาดว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะมีส่วนแบ่งตลาดในไทย 10% ในปี 2030