
คอลัมน์ : สัมภาษณ์
ถือเป็นผู้บริหารที่คุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดี สำหรับ “จาง ไห่โป” กรรมการผู้จัดการ บริษัท จูนเหยา ออโต (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารชาวจีนยุคแรกที่เข้ามาทำตลาดในบ้านเรา เมื่อ 10 กว่าปีก่อน
วันนี้กับอีกหนึ่งบทบาท กับค่ายรถยนต์แบรนด์ใหม่ ที่เปิดตัวไปเมื่อช่วงปลายปี 2567 ที่ผ่านมา แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า 100% “จูนเหยา” (Juneyao) ที่ผันตัวจากธุรกิจสายการบินมาสู่ธุรกิจยานยนต์
โดยเลือกปักหมุดไปยังประเทศที่จูนเหยา แอร์ไลน์ เข้าไปให้บริการ และไทย คือประเทศแรกที่จูนเหยาเข้ามาทำตลาด จะเป็นอย่างไรไปติดตามกัน
กลยุทธ์-แนวคิดในการทำตลาด
จูนเหยาต้องการบุกเบิก และเปลี่ยนมุมมองในการมอง “รถยนต์” ที่คนจะนึกถึงยานยนต์ หรือรถยนต์ไปเลย แต่สำหรับ จูนเหยา มีคอนเซ็ปต์หลัก คือ การเดินทาง หรือ Journey สิ่งที่เราตั้งใจนำเสนอให้กับลูกค้าของเรา คือ “ประสบการณ์ในการเดินทาง” ด้วยบริการที่ครบวงจร ความสะดวกสบายในการเดินทาง หรือ Enjoy Full Journey ที่ไม่เฉพาะแค่รถยนต์เท่านั้น
ตอนเปิดตัวรถยนต์รุ่นแรกออกสู่ตลาดไทย อย่าง JY AIR เราเน้นการให้บริการที่ครบวงจรและที่ไม่ใช่เพียงเฉพาะรถยนต์ เราทำแคมเปญ มอบตั๋วเครื่องบิน Juneyao Airlines ให้กับลูกค้า โดยมอบประสบการณ์การเดินทางสุดพิเศษ แบบไม่ระบุเส้นทางบินจำนวน 4 ที่นั่งต่อปี ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 ปี หรือจำนวนรวม 12 ที่นั่ง
โดยลูกค้าได้บัตรสมาชิก Gold Membership นาน 3 ปี และเรากำลังพยายามอัพเดตเพิ่มสิทธิพิเศษต่าง ๆ ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรมากขึ้น เพื่อเป็นการต่อยอดระบบนิเวศการเดินทางที่สมบูรณ์
แผนการดำเนินธุรกิจ
การที่จูนเหยาตัดสินใจเข้ามาในไทยนั้น ส่วนสำคัญหลักเป็นผลมาจากมาตรการการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยที่มีความชัดเจนเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ รวมทั้งเห็นโอกาสและศักยภาพของประเทศไทย
โดยจูนเหยากำหนดเป้าหมาย วางยุทธศาสตร์ให้ไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจูนเหยารองรับความต้องการในประเทศและภูมิภาคอาเซียนในอนาคต
และบริษัทมีแผนลงทุนเพื่อก่อตั้งโรงงานผลิตรถยนต์จูนเหยาในไทย ซึ่งภายในไตรมาสสุดท้ายของปี 2568 จะต้องเริ่มผลิตรถยนต์จากโรงงานแห่งนี้
ตั้งโรงงานที่สุพรรณบุรี
เราคิดนอกกรอบ เนื่องจากการลงทุนส่วนใหญ่ของกลุ่มผู้ผลิตยานยนต์โดยเฉพาะยานยนต์อีวีจีน หลัก ๆ จะไปลงทุนในโซนภาคตะวันออก
แต่จูนเหยามองตรงข้าม การที่จะเข้าไปลงทุนในพื้นที่ที่มีศักยภาพและการแข่งขันค่อนข้างสูงในนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก หรือ EEC จะทำให้บริษัทต้องใช้งบประมาณและต้นทุนสูง ทั้งการลงทุนพื้นที่ การลงทุนโรงงาน และยังต้องแย่งชิงแรงงาน ทรัพยากรต่าง ๆ กับผู้ประกอบการในพื้นที่เดิม
แต่หากเราร่วมมือกับพันธมิตรอย่าง สกุลฎ์ซี (Sakun C) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเรือ-มินิบัส อะลูมิเนียม สัญชาติไทย 100% มีโรงงานตั้งอยู่ที่ จ.สุพรรณบุรี อยู่แล้ว โดยขณะนี้กำลังดูว่าจะเป็นการร่วมทุน หรือการเช่าพื้นที่โรงงาน ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปอย่างเป็นทางการเร็ว ๆ นี้
เบื้องต้นตั้งเป้าจะมีผลิตรถอีวี จูนเหยาไว้ที่ 20,000-30,000 คันต่อปี เป็นการผลิตเพื่อรองรับความต้องการในประเทศ และตลาดส่งออกไปยังกลุ่มประเทศที่ใช้รถยนต์พวงมาลัยขวา
เป้าหมายในปีนี้
ปีนี้ต้องมียอดขายอย่างน้อย ๆ ที่ 3,000 คันเป็นก้าวแรก ก่อนการเดินไปสู่เป้าหมายภายใน 5 ปี จูนเหยาจะมาร์เก็ตแชร์ในตลาดรถอีวีจีนที่มียอดขายสูงสุดติดท็อป 5 ให้ได้
และมีแผนแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาดอย่างน้อยปีละ 1 รุ่น ในช่วงปลายปี 2568 ก็จะมีรถรุ่นใหม่อีก 1 รุ่นเช่นกัน
ขณะที่แผนการขยายเครือข่ายการจัดจำหน่ายภายในปีนี้จะขยายเพิ่มอีก 30 แห่งทั่วประเทศ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัด
มองการแข่งขันของรถอีวี
ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ตลาดรถอีวีของไทย มีการแข่งขันกันค่อนข้างรุนแรง
แต่สิ่งที่เห็นคู่ขนานกันคือ คนไทยเปิดใจยอมรับเทคโนโลยีรถยนต์จากประเทศจีนมากขึ้น ต่างจากที่เข้ามาทำแบรนด์แรกเมื่อ 11 ปีก่อน
แม้จูนเหยาอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในกลุ่มลูกค้าคนไทย แต่ด้วยความแตกต่าง ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากอากาศยานจะเป็นไฮไลต์สำคัญทำให้คนไทยเปิดรับ
และที่ผ่านมาบริษัทรับรู้ถึงความกังวล ทำให้ไม่กล้าซื้อรถอีวีใช้งานของคนไทย คือระยะการรับประกันแบตเตอรี่ เนื่องจากเป็นชิ้นส่วนที่มีราคาสูง จูนเหยาจึงให้ระยะเวลาในการรับประกันนาน 8 ปี หรือ 800,000 กม. โดยเป็นการรับประกันเท่ากับที่ผู้ผลิตแบตเตอรี่ให้ไว้กับจูนเหยา เรียกว่าส่งมอบต่อให้ลูกค้า 100%
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าอุตสาหกรรมยานยนต์มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะเทคโนโลยี ไม่ว่าแบรนด์สัญชาติใดก็ตามที่ต้องมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา และรถอีวีของไทยจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นแน่นอน