
“มาสด้า” เปิดเกมรุกเต็มสูบ เปลี่ยนผ่านสู่ยุคพลังงานไฟฟ้า พัฒนารถยนต์ xEVs เริ่มจากกลุ่มไฮบริด ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และอีวี ทุ่มเม็ดเงินกว่า 5 พันล้านบาท ดันไทยเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ประกาศส่งรถใหม่เปิดตัว 5 รุ่นทำตลาดภายใน 3 ปี ประเดิมส่งรถไฟฟ้า “Mazda 6e” โมเดลแรกปีนี้
นายมาซาฮิโร โมโร ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า มาสด้าตั้งเป้าว่าจะเดินหน้าเพื่อก้าวสู่ยุคพลังงานไฟฟ้า ด้วยแนวทาง Multisolution และ Intentional Follower ด้วยการนำเสนอรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งภายในปี พ.ศ. 2573 รวมถึงรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในที่มาพร้อมพลังงานไฟฟ้า โดยคาดว่ายอดขาย BEVs อยู่ที่ประมาณ 25-40% ของยอดจำหน่ายทั่วโลก
มาสด้าอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% ควบคู่กับการใช้แนวทาง Intentional Follower Approach โดยได้ศึกษาตลาดอย่างใกล้ชิด และรับฟังข้อคิดเห็นจากลูกค้าเพื่อให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าให้ดีที่สุด และคาดว่าภายในปี พ.ศ. 2573 มาสด้าจะมียอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าเป็นองค์ประกอบในการขับเคลื่อน 100% ของยอดจำหน่ายรวมทั้งหมด
ชูแนวทาง 3 เฟสสู่รถ “อีวี”
ปัจจุบันมาสด้าได้ดำเนินตามแผนงานการพัฒนารถยนต์ xEVs ประกอบด้วย แผนกลยุทธ์ 3 เฟส ได้แก่ เฟสที่ 1 เป็นการเตรียมความพร้อม, เฟสที่ 2 การเปลี่ยนผ่านอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มจาก HEV, PHEV และ BEV และเฟสที่ 3 เป็นการแนะนำรถไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ
บริษัทยังคงเดินตามแนวทางพลังงานทางเลือกที่หลากหลาย หรือ Multisolution ที่มีทั้งเครื่องยนต์ไมลด์ไฮบริด (MHEVs), ไฮบริด (HEVs), ปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEVs), ไฟฟ้า 100% (BEVs) และการใช้เครื่องยนต์โรตารี่เป็นตัวปั่นกระแสไฟกลับเข้าสู่แบตเตอรี่ (R-EVs) เพื่อไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกของผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย
ส่วนประเทศไทยถือเป็นตลาดที่มีความสำคัญของมาสด้า ซึ่งบริษัทตระหนักถึงกระแสตอบรับที่ดีและความต้องการรถไฟฟ้าที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มาสด้าต้องเร่งแผนในการนำเสนอรถยนต์ไฟฟ้าให้เร็วขึ้น ภายใต้การวางแผนในการแนะนำรถไฟฟ้าตามกลยุทธ์ 3 เฟส
“Mazda 6e” เก๋งไฟฟ้าเปิดรุ่นแรก
ในเฟส 2 (ปี พ.ศ. 2568-2570) มาสด้าจะเปิดตัวแนะนำเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในไทย ทั้ง BEV, PHEV, HEV 5 รุ่น แบ่งเป็น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า BEV 2 รุ่น รถ PHEV 1 รุ่น และรถ HEV 2 รุ่น โดยเริ่มรถยนต์ไฟฟ้า BEV รุ่น Mazda 6e ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างมาสด้าและพาร์ตเนอร์ในประเทศจีน มาเปิดตัวในปีนี้ก่อน
นอกจากนี้ มาสด้ายังผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ที่สำคัญในการผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้า xEVs มาสด้าเพิ่มเงินลงทุนเป็นจำนวนกว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและผลิตรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าคอมแพ็กต์เอสยูวี ทั้งการประกอบรถยนต์ การผลิตเครื่องยนต์ เกียร์ และแบตเตอรี่ ด้วยกำลังผลิตอยู่ที่ 100,000 คันต่อปี
“เราพร้อมนำเสนอเทคโนโลยีถ่ายทอดองค์ความรู้ในการประกอบรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นเข้ามายังประเทศไทย พัฒนาทักษะช่างฝีมือประกอบรถยนต์ เพื่อให้มั่นใจได้ว่ารถยนต์ที่ผลิตจากโรงงานในประเทศไทยจะเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันกับมาสด้าทั่วโลก และผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า xEVs ในอนาคต”
สร้างความมั่นใจ-ดูแลลูกค้า
ด้านนายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ ประธานกรรมการบริหาร & ซีอีโอ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า มาสด้ามุ่งมั่นที่จะปฏิรูปการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อเดินหน้าสู่ความสำเร็จไปพร้อมกันทั้งองค์กร ตามแนวทาง Management Policy ประกอบด้วย ผู้จำหน่าย พนักงาน และลูกค้า ภายในการขับเคลื่อน 3 กลยุทธ์หลัก
ได้แก่ 1.การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรด้วย “ผู้คน” เพิ่มความคล่องตัว ยืดหยุ่น และขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูลเชิงลึก ด้วยโปรแกรม “Career@Mazda” ที่ออกแบบมาเพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมของพนักงาน ทั้งที่มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย และผู้จำหน่าย เพื่อพัฒนาทักษะและส่งเสริมการสร้างความผูกพันของพนักงานกับแบรนด์และเพื่อนร่วมงาน และสร้างโปรแกรม “Mazda Signature Services” เพื่อสร้างความมั่นใจว่าคุณค่าของแบรนด์จะถูกถ่ายทอดไปยังลูกค้าในทุก ๆ Touchpoint ของการบริการ
2.ยกระดับการบริการและการสื่อสารกับลูกค้าด้วยข้อมูลเชิงลึก พัฒนาแพลตฟอร์ม VOF หรือ “Voice of Fans” เพื่อช่วยวิเคราะห์ความคิดเห็นของลูกค้าแบบเรียลไทม์ เพื่อนำเสนอสิ่งต่าง ๆ ตรงกับความต้องการและความรู้สึกของลูกค้าอย่างแท้จริง
และ 3.การสร้างประสบการณ์ลูกค้าแบบไร้รอยต่อทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อให้การดำเนินงานของมาสด้าในประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับแผนพัฒนาธุรกิจในอนาคต
ตั้งไทยเป็นฮับผลิตรถไฟฟ้า
ส่วนเครือข่ายการจำหน่าย ปัจจุบันมีโชว์รูมทั้งสิ้น 84 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็น กรุงเทพฯและปริมณฑล 19 โชว์รูม และต่างจังหวัด 65 แห่ง โดยจะใช้กลยุทธ์ PMA ใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการลูกค้าได้อย่างทั่วถึง
ขณะที่การผลิตที่โรงงานในประเทศไทย ทั้งที่โรงงาน AAT และ MPMT มาสด้าจะใช้ประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากโรงงานทั้ง 2 แห่ง เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางในการผลิตและจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าคอมแพ็กต์เอสยูวี ทั้งการจำหน่ายภายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศทั่วโลก และเป็นศูนย์กลางที่สำคัญในการผลิตรถ xEVs ในอนาคต