หุ้นโรงงานแบตเตอรี่ในจีนคึก รับกระแส “ดีทรอยต์แห่งอีวี”

ชื่อของ Contemporary Amperex Technology Ltd., หรือ CATL อาจจะยังไม่ได้ติดหูหรือได้ยินมากนักในระดับโลก แต่ถ้าสำหรับคนที่คลุกคลีในวงการรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เป็นประจำ คงจะได้ยินข่าวว่า CATL ซึ่งขึ้นมาเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์อันดับ 1 ของโลกเมื่อปีที่แล้ว เตรียมแต่งตัวเพื่อเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกในเมืองเสิ่นเจิ้น เมืองที่เคยรู้จักในฐานะนครของก๊อป แต่ปัจจุบันกลายมาเป็นฮับไอทีระดับชาติ เป็นแผนการครั้งสำคัญของ CATL ซึ่งมีลูกค้ารายใหญ่จำนวนมาก ตั้งแต่โฟล์คสวาเกน นิสสัน ฮุนได บีเอ็มดับเบิลยู ไปจนถึงเอจีกรุ๊ปที่จะสยายปีกธุรกิจออกนอกประเทศ

ก่อนหน้านี้ CATL คาดการณ์ไว้ว่าน่าจะระดมทุนผ่าน IPO ได้มูลค่ารวมมากถึง 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เพราะกำไรในระยะหลังลดลง ทำให้ราคาขายไม่เป็นดังคาดเอาไว้แต่แรก โดยล่าสุด บริษัทจะขายหุ้น 10% ในมูลค่าหุ้นละ 25.14 หยวน ซึ่งจะทำให้มูลค่ารวมทั้งหมดอยู่ที่ 8.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ทาง CATL รวมถึงนักวิเคราะห์รายอื่น ๆ ยังคงเชื่อมั่นอยู่ว่า แผนการขยายกิจการจะไม่สะดุด

นักวิเคราะห์แสดงความเชื่อมั่นว่า CATL จะสามารถหาเงินทุนที่เหลือได้จากทางอื่น และราคาหุ้นจะดีดตัวกลับในอนาคต หากรถยนต์อีวีถูกผลักดันให้ลงวิ่งในท้องถนนมากขึ้น

หลายคนคงสงสัยว่าอะไร คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่จากจีน เอาชนะ “พานาโซนิค” ผู้ผลิตแบตรายใหญ่ ก้าวขึ้นแท่นผลิตแบตเตอรี่รถยนต์อีวีอันดับ 1 ของโลกได้ คำตอบก็คือ “ดีมานด์” ในประเทศจีนนั่นเอง

นักลงทุนต่างชาติรายหนึ่งถึงขนาดเคยพูดว่า “จีนแสดงออกชัดเจนว่าอยากจะก้าวขึ้นมาเป็นเมืองดีทรอยต์แห่งอีวี” ในหลายปีให้หลัง ผลพวงจากทั้งจำนวนประชากรมหาศาล และนโยบายรัฐที่ผลักดันให้คนหันมาใช้รถไฟฟ้าอย่างดุเดือด ทำให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นสนามสำคัญสำหรับยอดขายรถยนต์อีวี ถึงขนาดที่ “เทสลา” ก็เล็งจะมาตั้งโรงงานขนาด “จิกะแฟกตอรี่” ผลิตแบตพลังงานสูง ลิเทียมไอออนของตนที่จีนเช่นกันเร็ว ๆ นี้

เจิ้ง อูชุน ผู้ก่อตั้ง CATL กล่าวในงานประชุมออนไลน์ร่วมกับนักลงทุนว่า ทางบริษัทเล็งจะใช้ช่องทางทางการเงินหลายช่องทาง รวมไปถึงการกู้แบงก์และเงินส่วนตัว เพื่อให้มั่นใจได้ว่า

โปรเจ็กต์การขยายธุรกิจนอกประเทศจะไม่ชะงัก และในอีก 3 ปีข้างหน้า CATLจะสามารถคว้าทุกโอกาสในตลาดแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ขึ้นครองบัลลังก์ผู้นำด้านเทคโนโลยี และความสามารถในการผลิตได้แน่นอน

เจิ้งวัย 49 ปี ก่อตั้ง CATL ในปี 2011 ในเวลานั้นเขานั่งตำแหน่งประธาน Amperex Technology Co. ซึ่งเป็นบริษัทผลิตแบตเตอรี่เช่นกัน เขากล่าวว่า การโดดออกมาตั้ง CATL ในเวลานั้นเหมือนกับเขาพนันไว้กับนโยบายใหม่ของรัฐบาล ที่ไม่รู้จะออกหัวหรือก้อย เพราะในปีนั้นมีรถยนต์กึ่งรถยนต์ไฟฟ้าขายในจีนเพียง 1,014 คันเท่านั้น

โชคดีที่การตัดสินใจของเขาถูกต้อง เมื่อรัฐบาลหันมาให้เงินอุดหนุนผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ดันยอดขายรถอีวีให้โตขึ้น โดยเฉพาะยอดขายในปี 2016-2017 ซึ่งน่าจะสูงถึง 83,000 ล้านหยวน

ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์ที่อยากขายคนจีน ก็พยายามที่จะผ่านการตรวจสอบจากรัฐบาล จึงหันมาเลือกใช้ซัพพลายที่ผลิตในจีน แม้ว่าจะไม่มีกฎห้ามใช้ซัพพลายนอกประเทศก็ตาม

ปัจจุบันโรงงาน CATL ตั้งอยู่ที่เมืองหนิงเต๋อ จังหวัดฝูเจี้ยน ทั้งนี้ โรงงานCATL มีขนาดใหญ่ขนาดต้องใช้เวลาราวครึ่งชั่วโมงในการเดินข้าม มีรถไฟฟ้าคอยรับส่งพนักงานที่มีทั้งหมดกว่า 18,000 คน

ทั้งนี้ CATL ได้เริ่มแผนการรุกนอกประเทศไปคร่าว ๆ บ้างแล้ว ปีที่แล้ว ได้ทุ่มเงิน 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซื้อหุ้นผู้ผลิตรถยนต์ Valmet Automotive ของฟินแลนด์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเครือเอจี รวมถึงเปิดออฟฟิศในโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น และกรุงปารีส ฝรั่งเศส และเล็งเปิดเพิ่มในเมืองดีทรอยต์ สหรัฐอเมริกา ทั้งยังเตรียมจะเปิดโรงงานนอกประเทศแห่งแรกเร็ว ๆ นี้ ระหว่างนี้อยู่ในการตัดสินใจเลือกประเทศ โดยได้ส่งทีมลงพื้นที่สำรวจเยอรมนี ฮังการี และโปแลนด์ และเตรียมประกาศตัวเลือกภายในเดือนมิถุนายนนี้

แต่สิ่งแรกที่จะทำภายหลังระดมทุน CATL จะทุ่มนับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เปิดโรงงานขนาด 24 จิกะวัตต์/ชั่วโมง ไม่ไกลจากโรงงานเดิมในหนิงเต๋อ ถือเป็นโรงงานผลิตแบตอีวีที่จะเป็นรอง

แค่โรงงานของเทสลาแค่ที่เดียว และเดินเครื่องพัฒนาแบตเตอรี่แห่งอนาคตที่นั่น เพื่อให้บรรลุความตั้งใจในการเป็นผู้นำด้านแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าของโลก