
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ
ปีที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งปีที่หนักหน่วงสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปฏิเสธไม่ได้สำหรับค่ายรถยนต์เจ้ารถเล็กอย่างค่ายซูซูกิ ที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ
เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ความชัดเจนและความมุ่งมั่นขับเคลื่อนธุรกิจและสร้างตลาดในประเทศไทยยังคงมีเต็มเปี่ยม
“วัลลภ ตรีฤกษ์งาม” รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด แม่ทัพใหญ่ที่อยู่กับซูซูกิมาก่อน Day ONE มาฉายภาพ โดยเฉพาะแผนการปรับเป็นการนำเข้ารถยนต์มาทำตลาด โดยปีนี้จะมีรถ 2 รุ่นใหม่ รวมทั้งรถ EV เป็นอย่างไร “ประชาชาติธุรกิจ” พาไปติดตามกัน
Q : ซูซูกิจะเข้าไปแข่งขัน EV
ผมยังเชื่อว่า “ตลาดรถ EV ยังจะต้องเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าการตอบรับของลูกค้าคนไทยจะมีสูง แต่ความพร้อมการเติบโตแบบก้าวกระโดดยังต้องอาศัยระยะเวลาอีกพอสมควร”
ปัจจุบันมีผู้เล่นในตลาดเป็นจำนวนมาก ความพร้อมของลูกค้าที่จะซื้อรถ EV เป็นคันที่ 2/3 ยังมีน้อยมาก การเติบโตของรถประเภทนี้ จากนี้จะใกล้เคียงกับปีก่อน ที่ 68,000 คัน จากปี 2566 มี 75,000 คัน จำนวนอาจจะลดลง แต่อัตราส่วนเมื่อเทียบกับรถน้ำมันถือว่า “สูงขึ้น”
แสดงว่าเทรนด์ความต้องการรถ EV มีอยู่ ในจำนวนที่แน่นอนและชัดเจน แต่การจะให้ก้าวกระโดดภายในเร็ววัน หรือในปีนี้ ผมเชื่อว่าจะยังต้องใช้เวลา
Q : เน้นการลงทุนที่ “ยั่งยืน”
การแข่งขันของค่ายรถยนต์ EV ต้องมีความแตกต่างกัน แบรนด์ญี่ปุ่น จะมีวิธีการแข่งขันอีกแบบที่สร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าได้อย่างไร นี่คือโจทย์ที่ซูซูกิจะตีและทำให้เกิดในปีนี้
ส่วนตัวแทนจำหน่าย ซูซูกิจะพยายามทำให้เกิดการลงทุนที่น้อยที่สุด เพื่อให้ผู้จำหน่ายสามารถประคองธุรกิจไปได้บนพื้นฐานความเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง เพราะการเติบโตของตลาดรถยนต์ยังต้องใช้เวลา เราพยายามทำให้ครบทุกอย่าง Minimize ที่สุด แต่จะไม่เกินเลย
การลงทุนต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวการณ์และยอดขายในปัจจุบัน เพราะนี่คือ ตัวตอบโจทย์ว่า ธุรกิจจะไปได้อย่างยั่งยืนแค่ไหน
Q : ซูซูกิ-ค่ายรถ ปรับกลยุทธ์
ซูซูกิจะมีสินค้าใหม่ออกสู่ตลาด 2 รุ่น ภายใต้ “กลยุทธ์ใหม่” เริ่มจากรถในกลุ่มบี-เอสยูวี เครื่องยนต์ไฮบริด ที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการราวไตรมาสที่สาม
และรถยนต์ BEV หรือรถยนต์ไฟฟ้าของซูซูกิ จะมาในช่วงปลายปี 2568
เชื่อว่า เทรนด์ของอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยจากนี้ไป เทรนด์จะมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งซูซูกิมีสินค้าที่ตอบสนองกับความต้องการของลูกค้าและเข้าข่ายร่วมกับมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐกำหนดไว้ด้วย
และที่สำคัญ เราพยายามนำเสนอสินค้าเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และสร้างความเป็นยูนีคของซูซูกิให้ได้
Q : วางเป้าหมายปีนี้
ยอดขาย 2567 ซูซูกิปิดไป 5,650 คัน ปีนี้มีอีก 2 โมเดลใหม่ รวมทั้งรถยนต์อีโคคาร์ ที่เรายังมีอยู่ 2 รุ่น คือ สวิฟท์และเซเลริโอ้ รวมทั้งรถแครี่, เอ็กซ์แอล 7 และจิมนี่ อย่างซูซูกิ รวมเป็น 5 รุ่น บวกกับ 2 รุ่นใหม่ ที่จะเปิดตัวเป็น 7 รุ่น ที่จะมีจำหน่าย ทำให้คาดว่าทั้งปีจะขายไม่น้อยกว่า 8,000 คัน โต 41% จากปีก่อน
Q : ลดราคาขาย ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์
ซูซูกิมีความมุ่งมั่นที่จะตอบโจทย์ และเป็นตัวเลือกที่ดีของลูกค้า ด้วยการทำเสนอออปชั่นที่ดีที่สุด
ซึ่งกลยุทธ์นี้ ซูซูกิทำมา 3 รุ่น คือ สวิฟท์, เซเลริโอ้ และเออร์ติก้า
จริง ๆ ไม่ใช่คือเรื่อง “ราคา” อย่างเดียว หรือ “โปรโมชั่น” เท่านั้น
แต่แน่นอนว่า “สินค้า” ต้องเป็นตัวตอบโจทย์ เพราะหลังการเราทำออกไป เสียงตอบรับจากลูกค้า จะบอกว่า เป็น “ความคุ้มค่า” ได้รถที่มีฟังก์ชั่น ราคาแบบนี้ คุ้มค่ามาก
และยังมีเรื่องอื่น ๆ ทั้งกลยุทธ์เรื่อง “สินค้า” รวมถึงการขยายสาขาทั่วประเทศ ปัจจุบันมี 91 แห่งทั่วประเทศ และปีนี้ จะครบ 100 แห่ง
เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า ว่า ซูซูกิสามารถดูแลตรงนี้ได้อย่าง “ดีเยี่ยม”
ไม่ใช่เราจะบอกว่า “ยิ่งเปิดเยอะ ยิ่งดี” เพราะในความเป็นจริง จำนวนดีลเลอร์ที่เยอะ จะต้องสัมพันธ์กับยอดขายที่เติบโตทีละขั้น
เรากำลังเพิ่มเรื่องคุณภาพ การให้บริการ อู่ซ่อมสีและตัวถัง ภายในสิ้นปี 2568 ต้องมี 50 แห่งทั่วประเทศ จากโชว์รูม 91 แห่ง
เรากำลังมาถึงครึ่งทาง แม้ว่าบางพื้นที่มีอู่สีมาตรฐาน แต่เราจะมีอู่มาตรฐาน เพื่อให้แน่ใจว่า ลูกค้าต้องได้อะไหล่มาตรฐานของซูซูกิเท่านั้น
Q : ตลาดรถยนต์ขายเต็มที่ไม่เกิน 6 แสนคัน
จะเห็นได้ว่า ปี 2567 ที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์โดยรวม จบไป 570,000 คัน จากยอด 770,000 คัน จากปี 2566 นั้น หมายความว่าตลาดรถยนต์หายไป 200,000 คัน
ซึ่งเป็นผลมาจากความเข้มงวดของสถาบันการเงิน หนี้สินครัวเรือน ส่งผลให้กำลังซื้อลดลง อีกทั้งสภาวะทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตอาจจะมีการขยายตัวทางธุรกิจ และส่งผลให้ตลาดรถกระบะหายไป 100,000 คัน
ส่งผลให้ค่ายรถยนต์หลาย ๆ ค่าย จำเป็นต้องทำงานอย่างหนักเพื่อกระตุ้น วางแผนงาน เพื่อแย่ง “เค้ก” กันในปี 2568
โดยเชื่อว่ายอดขายในปี 2568 น่าจะดีขึ้นมา “เล็กน้อย” ผลจากปัจจัยหนี้เสียลดลง อัตราหนี้เสียที่เป็นหนี้ใหม่ น่าจะน้อยลง ทำให้เชื่อว่ายอดขายน่าจะขยับเต็มที่ไม่เกิน 600,000 คัน โต 5%
โดยเฉพาะครึ่งปีแรกตลาดรถยนต์จะอยู่ในภาวะชะงักงัน ทุกคนยังชะลอการตัดสินใจ และต้องรอดูช่วงมอเตอร์โชว์ ที่ตลาดน่าจะกลับมาคึกคัก ก่อนช่วงสงกรานต์จะเบาบางไป
ก่อนที่ตลาดรถยนต์จะกลับมาคึกคักอีกครั้งในเดือนสิงหาคม ต้องบอกว่า ในช่วงครึ่งปีแรก เป็นช่วง “วัดใจ” ว่า ตลาดกลับมาได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับค่ายรถยนต์จะมีสินค้าใหม่ออกสู่ตลาด และโปรโมชั่นเร้าใจแค่ไหน ต้องรอดู
สุดท้าย ซูซูกิ และ “วัลลภ” ยังเชื่อว่า จากสภาวะโดยรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมทั้งภาพรวมของเศรษฐกิจ ในวันนี้ยังต้องมีการปรับตัวอย่างเป็นขั้นเป็นตอน จากปี 2567 ที่ผ่านมา จะยังไม่สามารถก้าวกระโดดได้ทันที
แต่เชื่อว่า ครึ่งปีหลังน่าจะมีปัจจัยเข้ามาช่วยกระตุ้นให้เกิดแรงกระเพื่อมได้มากขึ้น โดยเฉพาะการอัดเม็ดเงินของภาครัฐ ถ้าทำได้เร็วก็จะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย เศรษฐกิจต่าง ๆ ให้มาหมุนเวียน และมีแรงขับเพื่อยกระดับกำลังซื้อขึ้นมา
ดังนั้น เราจึงต้องคิดหวังในช่วงครึ่งปีหลัง
และเป็นครึ่งปีหลังที่ซูซูกิมีรถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาดถึง 2 รุ่น