
สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เผยข้อเสนอถึงภาครัฐเพื่อกระตุ้นตลาดหลังยอดขายรถยนต์ปี 2567 หดตัวต่ำสุด 26.2% มียอดขายเพียง 5.72 แสนคัน โดยหวังว่าจะช่วยกระตุ้นตลาดรถยนต์ให้เติบโตเพิ่มขึ้น
นายสุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย หรือ TAIA เปิดเผยถึงข้อเสนอที่สมาคมได้มีข้อเสนอไปยังภาครัฐเพื่อให้มีนโยบายช่วยกระตุ้นและส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ หลังจากต้องเผชิญปัจจัยลบทางด้านเศรษฐกิจ กำลังซื้อชะลอตัว รวมทั้งความเข้มงวดของสถาบันการเงินเพื่อให้มีการช่วยกระตุ้นดีมานด์ หรือความต้องการซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ในประเทศไทย
หลังจากยอดขายรถยนต์ในประเทศเมื่อปี 2567 ที่ผ่านมา มียอดขายลดลงถึง 26.2% หรือมียอดขายเพียง 572,675 คัน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นรถกระบะจำนวน 163,347 คัน ลดลง 38.3% รถยนต์พีพีวีจำนวน 36,843 คัน ลดลง 38.9% รถยนต์นั่งลดลง 16.4% มียอดขายอยู่ที่ 340,056 คัน ลดลง 16.4% และรถยนต์อื่น ๆ อีกจำนวน 32,429 คัน ลดลง 25.9%
ดังนั้น สมาคมจึงได้มีการเสนอไปยังภาครัฐเพื่อกระตุ้นตลาดรถยนต์ โดยหวังว่าหากมีการช่วยเหลือจากรัฐบาลน่าจะมีการทำให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยมีการเติบโตขึ้นอย่างน้อย 2% สำหรับข้อเสนอมีรายละเอียด ดังนี้
มาตรการกระตุ้นยอดขายในประเทศระยะสั้น สมาคมได้เสนอรายละเอียด ดังนี้
1.มาตรการด้านภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเสนอให้นำค่าใช้จ่ายในการซื้อหรือค่าซ่อมบำรุงรักษารถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ผลิตในประเทศมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
2.มาตรการด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยเสนอให้มีการหักค่าใช้จ่ายสำหรับการซื้อ (ค่าเสื่อมค่าเช่า) รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ เฉพาะที่ผลิตในประเทศได้ 1.5 เท่า จากเดิมได้แค่ 1 เท่า รวมถึงการขยายเพดานการหักค่าใช้จ่ายสำหรับรถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทย
3.มาตรการด้านสินเชื่อโดยผ่อนปรนเงื่อนไขสินเชื่อสำหรับผู้กู้ซื้อ โดยอนุญาตให้สามารถขอสินเชื่อร่วมกันได้หรือกู้ร่วม รวมทั้งให้พิจารณารายได้รวมของทั้งครอบครัวในการประเมินปล่อยสินเชื่อ และมาตรการการค้ำสินเชื่อในการซื้อรถยนต์
4.มาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งนายกสมาคมฯเสนอให้กระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ ผ่านงบประมาณประจำปี
นอกจากนี้ สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ยังได้เสนอมาตรการกระตุ้นยอดขายในประเทศระยะกลางและระยะยาว โดยมีรายละเอียดดังนี้ คือ
1.รักษาการเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ เครื่องยนต์ดับภายใน ice ที่สำคัญของโลกและส่งเสริมการผลิตเครื่องยนต์สันดาปภายในในอนาคต และเพื่อรักษา Economy of Scale ให้สามารถแข่งขันได้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน
ทั้งนี้ ประเทศไทยจะต้องเร่งเจรจาข้อตกลงการค้ากับกลุ่มประเทศที่มีความต้องการเครื่องยนต์สันดาปภายในอยู่ เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกาใต้ และอเมริกาใต้ รวมถึงการหามาตรการส่งเสริมการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนในกลุ่มเครื่องยนต์สำหรับภายในในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นโปรดักต์แชมเปี้ยนกลุ่มรถยนต์ไฮบริดและปลั๊ก-อิน ไฮบริด เป็นต้น
2.ยกระดับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ยานยนต์สมัยใหม่โดยสร้างกลไกการจัดคู่ธุรกิจ หรือ Machine บริษัทผลิตผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยกับต่างชาติเพื่อเพิ่ม Localization และต่อยอดสู่ Power Eletric Part รวมทั้งฝึกอบรมแรงงานเพื่อเข้าสู่ยานยนต์สมัยใหม่เพื่อเพิ่มเติมทักษะและองค์ความรู้ต่าง ๆ
และสุดท้าย 3.การขยายส่งออกยานยนต์ประเภท ZEV ไปยังประเทศที่มีศักยภาพด้วยการเร่งรัดเจรจาข้อตกลง FTA โดยเฉพาะกับกลุ่มประเทศที่มีนโยบายส่งเสริมยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม