
คอลัมน์ : สัมภาษณ์
ถือเป็นการสะท้อนมุมมองต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในปัจจุบันได้อย่างชัดเจน หลังจาก “ศุภกร รัตนวราหะ” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้มาฉายภาพทิศทางการขับเคลื่อนตลาดรถยนต์ โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นตลาดจากภาครัฐ เพื่อต่อลมหายใจให้ผู้ใช้รถเพื่อการทำมาหากิน และสิ่งสำคัญคือสุดท้ายที่คนไทย-ประเทศไทยจะได้ประโยชน์แค่ไหน นี่คือสิ่งที่โตโยต้าจะละเลยไม่ได้ เป็นอย่างไรไปติดตามกัน
กระบะพี่ มีคลังค้ำ กระตุ้นตลาด
จากที่บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดตัวมาตรการ “กระบะพี่ มีคลังค้ำ” ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อ “บสย. SMEs PICK-UP” ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2568 นั้นเป็นนโยบายที่ดีซึ่งผู้ผลิตรถยนต์ได้มีการนำเสนอภาครัฐ ผ่านกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ หอการค้าญี่ปุ่น ไปเมื่อช่วงกลางปีก่อน
แม้มีความล่าช้าเล็กน้อย แต่ถือเป็นเรื่องดี รัฐบาลเห็นว่าตลาดปิกอัพตกลงไปค่อนข้างเยอะ ผลจากการอนุมัติสินเชื่อ ดังนั้นการแก้ปัญหานี้น่าจะดี
รถกระบะมีการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ ถึง 93-94% เพราะฉะนั้นจะมีส่วนช่วยเพิ่มการหมุนเวียนทางด้านเศรษฐกิจ เช่น ซัพพลายเออร์ การเพิ่มงานให้กับพนักงานในโรงงาน ซึ่งก็จะส่งผลให้มีกําลังซื้อที่แข็งแรงต่อไป ทั้งก่อให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน
งบฯ 5,000 ล้านบาท ช่วยได้
เท่าที่ดูสภาพตลาดตอนนี้ มียอดลูกค้ากู้ไม่ผ่านแค่ไหน มีสัดส่วนไฟแนนซ์ Reject ประมาณ 30-40% ขณะความต้องการในตลาดวันนี้อยู่ที่ประมาณ 12,000 คันต่อเดือน เท่ากับว่าจะมีรถผ่านโครงนี้ เดือนละ 3,000 คัน
หาก บสย. ช่วยค้ำประกันประมาณ 30-40% ในมุมของโตโยต้านั้น มองว่าเพียงพอในเบื้องต้น
หากโครงการเฟสแรกไปด้วยดี โตโยต้าเชื่อว่าจะมีการสนับสนุนเพิ่มเติม ขณะที่วงเงิน 5,000 ล้าน คาดการณ์ว่าน่าจะชดเชยหนี้เสีย ที่ประมาณ 30-40% ที่เคยถูกปฏิเสธไป กลับมาผ่อนผ่านโปรแกรมนี้ได้
ยังมีข้อเสนออีกหลากหลาย
ยังมีโครงการอื่น ๆ ที่ถูกนำเสนอผ่านหอการค้าญี่ปุ่น อีกหลายโครงการ เชื่อว่าภาครัฐกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา หากมีการคำนวณในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้ว “คุ้ม” ในการที่จะผลักดันขึ้นมาและมีผลกับเศรษฐกิจโดยภาพรวม เชื่อว่าจากนี้ไปจะได้เห็นมาตรการต่าง ๆ จากรัฐบาลออกมาต่อเนื่อง
ไม่ซ้ำรอย “รถคันแรก”
มีความแตกต่างชัดเจน โครงการรถยนต์คันแรก ลูกค้าซื้อรถไปก่อน นำรถไปจดทะเบียน แล้วไปเคลมรับเงินสนับสนุน 100,000 บาท จากรัฐบาล คนส่วนใหญ่ได้เงินมา นำไปใช้จ่ายอย่างอื่นไม่ได้นำมาผ่อนรถต่อ ทำให้ “หนี้ยังคงอยู่”
แต่โครงการ “รถเก่าแลกรถใหม่” จะเริ่มด้วย นำรถเข้ามาเทรดอิน ลูกค้าได้เงินไป และเงินนี้ต้องนำมาซื้อรถใหม่ เป็นการหัก “มูลค่ารถใหม่ หักมูลค่าหนี้ตั้งแต่เริ่มต้น” ดังนั้น โอกาสที่ลูกค้าจะเป็นหนี้เสียจะ “น้อยลง”
ตอนนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังศึกษาในรายละเอียดต่าง ๆ
โดยเฉพาะสิ่งที่ประเทศชาติจะได้ กับสิ่งที่จะสูญเสียไป สุดท้ายประเทศไทยจะคุ้มหรือไม่ ต้องรอดู
ลุ้นขายรถทั้งปีกว่า 6 แสนคัน
ปีนี้คาดว่ายอดขายรถยนต์รวมปีนี้ น่าจะอยู่ที่ 600,000 คัน นี่เป็นตัวเลขที่ประเมินก่อนการจะมีมาตรการสนับสนุนของ รัฐบาล บสย.ออกมา ตอนนี้มีความเป็นไปได้ว่าตลาดอาจจะโตกว่านี้ และน่าจะทำให้รถกระบะโต 15-20% จากปัจจุบันมีสัดส่วนความต้องการ 30-35% ของตลาด ตรงนี้อาจเพิ่มอีก 7% ได้
ส่วนโตโยต้า ตั้งเป้าปีนี้ไว้ที่ 230,000 คัน มีส่วนแบ่งการตลาด 38.5% ขณะที่ผ่านไปเกือบ 3 เดือน ทำได้กว่า 37%
ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีความกังวลว่า ตัวเลขหนี้จะเพิ่มขึ้นหรือไม่ เมื่อมีมาตรการช่วยเหลือตลาดปิกอัพ แต่เป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ เพราะอย่างไรก็ตาม รถปิกอัพจำนวนมากต้องใช้ทำมาหากิน มีลูกค้ารอรถใช้งานอยู่
โตโยต้า ผู้ประกอบการ และรัฐบาล พยายามเดินหน้ามาตรการต่าง ๆ ด้วยความระมัดระวัง
ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว
โตโยต้า เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีมาตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2567 ยอดขาย 2 เดือนแรก เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น และเชื่อว่าเราได้ผ่านจุดต่ำสุดกันมาแล้ว
เน้นประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า
โตโยต้าพิสูจน์มาแล้วเป็นเวลากว่า 10 ปี รถยนต์กลุ่มไฮบริด หรือ HEV มียอดขายเติบโต เนื่องจากลูกค้ามีความเชื่อมั่นความพร้อมด้านบริการ ศูนย์บริการครอบคลุมทั่วประเทศ ช่างเทคนิคมีความเชี่ยวชาญทำให้โตโยต้าเข้าไปเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งในใจลูกค้า
โตโยต้า ยังทำงานหนักเพื่อพยายามบริหารจัดการต้นทุน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าให้กับลูกค้า เพราะต้องการดูแลลูกค้าไม่ใช่แค่วันแรกในการซื้อรถใหม่ แต่ต้องการมากกว่านั้นคือ ความคุ้มค่าจนถึงวันสุดท้ายของการใช้งานต้องมีความคุ้มค่าสูงสุด เหลืออยู่ในราคารถยนต์มือสอง ด้วยประสบการณ์ที่ดีตลอดอายุการใช้งาน ตลอดอายุของลูกค้า
และเมื่อถามถึงทางเลือกที่ดีที่สุด ของตลาดรถยนต์ไทย คำตอบที่ได้ยังคงเป็นรถยนต์ “ไฮบริด” ส่วนรถยนต์ไฮลักซ์ บีอีวี จะมีในปีนี้หรือไม่นั้น
“ศุภกร” คอนเฟิร์มว่าตามแผนงาน น่าจะต้องมีครบทุกรูปแบบ มาปลายปีนี้แน่นอน