
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ ผู้เขียน : วุฒิณี ทับทอง
ไม่ประหลาดใจ กับยอดจองรถยนต์จากงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2025 ที่ผ่านมา แต่ไม่คิดว่า “กล้า”
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ตลอดระยะเวลาการจัดงาน 14 วัน (24 มี.ค.-6 เม.ย.) ที่ผ่านมา ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งเดือน อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมียอดจองไป เกือบ 8 หมื่นคัน จากสถิติการรายงานยอดจองจากผู้จัดงาน พบว่า มี 77,379 คัน
ขณะที่ยอดขายรถยนต์ 2 เดือนแรกของปี มียอดขายรวมกันที่ 97,395 คัน แบ่งเป็น ยอดขายรถยนต์ใน เดือนมกราคม มียอดขาย 48,092 คัน เดือนกุมภาพันธ์ มียอดขาย 49,313 คัน ส่วน เดือนมีนาคม จากการรายงานอย่างไม่เป็นทางการ มียอดขายที่ 55,230 คัน
กลับมาดู “ยอดจอง” ในงานมอเตอร์โชว์ ที่ผ่านมา ลำพังแค่ยอดจองรถยนต์ในวันสุดท้ายของการจัดงาน 6 เม.ย.ที่ผ่านมา มียอดจองสูงถึง 29,793 คัน จากยอดจองแต่ละวัน เฉลี่ย 4,000-8,000 คัน
ยอดจอง “พุ่งพรวด” หลายคนบอกว่า ดูจากยอดจองที่ออกมาแล้ว “เหลือเชื่อ” ท่ามกลางปัจจัยลบจากสภาพเศรษฐกิจ บวกกับความเข้มงวดของสถาบันการเงิน ที่ส่งผลกระเทือนต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมา “พักใหญ่”
ใครจะเชื่อว่า…เวลาไม่ถึง “ครึ่งเดือน” ค่ายรถยนต์สามารถสร้างสถิติยอดจองให้ใกล้เคียงกับยอดขายสองเดือนแรกของปี
สรุปยอดจองครั้งนี้ ใครจะได้ประโยชน์ หากท้ายที่สุดค่ายรถยนต์จะต้องแปลงจาก “ยอดจอง” ให้เป็น “ยอดขาย” สุดท้าย ใครจะได้ แล้วใครเสีย
ก่อนหน้าที่ ผู้จัดงาน “จาตุรนต์ โกมลมิศร์” รองประธานจัดงาน ได้ยืนยันอย่างชัดเจนแล้วว่า หน้าที่ของการอำนวยความสะดวก การดึงคนเข้าร่วมงาน เป็นหน้าที่ของผู้จัด ส่วนหน้าที่การสร้างยอดจอง และทำให้เกิดยอดขาย เป็นหน้าที่ของค่ายรถยนต์
วันนี้ ดัชนีชี้วัดความสำเร็จของผู้จัดงาน คือ จำนวนผู้เข้าชมงานกว่า 1.6 ล้านคน สะท้อนให้เราเห็นภาพผ่านสื่อต่าง ๆ ไปแล้ว
ส่วนความเสียหาย…ที่เกิดขึ้นจากระเบิดเวลาลูกใหม่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เพราะสุดท้ายใครจะแจ้งยอดจองเท่าไร (ก็ได้) แต่ท้ายที่สุด ผลต้องออกมาเป็น “ยอดจอง”
อีก 3 เดือนจากนี้ เรามาดูกันว่า ยอดขายรถยนต์ของแต่ละค่ายจะเป็นอย่างไร หากเรายังอยู่ในวังวนของรูปแบบการแข่งขันแบบเดิม ๆ ใช้ตัวเลข ยอดจอง (ในงาน) มาเคลม เพื่อสร้างความสำเร็จเฉพาะหน้า แล้อวปราสาททรายที่สร้างไว้จะคงทน หรือจะพังทลายในชั่วพริบตา หรือไม่ ต้องติดตาม…