ขับเคลื่อนอุตฯยานยนต์ไทย เดินหน้าสู่ ‘ยานยนต์สมัยใหม่’

สุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล
สุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

อุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าได้รับแรงกระเพื่อมจากภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศ และเศรษฐกิจโลก รวมถึงยังต้องท้าทายกับการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีชนิดที่ว่า สร้างแรงกระเพื่อมให้กับอุตสาหกรรมการผลิต และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องครั้งใหญ่

วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสได้พูดคุยกับ สุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย (TAIA) มือประสาน 10 ทิศ ทำหน้าที่ในการบาลานซ์และขับเคลื่อนความต้องการของสมาชิกกลุ่มที่มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกา และจีน เพื่อร่วมกันผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังคงความแข็งแกร่งและความแข็งแรงในเวทียานยนต์โลก ในฐานะประเทศฐานการผลิต หรือเสือตัวที่ 10 ของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก จะเป็นอย่างไร ไปติดตามกัน

ไทยยังเป็นผู้ผลิต Top 10 โลก

จากตัวเลขการผลิตรถยนต์ปี 2567 ที่ผ่านมา ยังไม่ออกมาอย่างเป็นทางการ แต่จะเห็นว่าปีที่แล้วทั่วโลกผลิตได้ลดลง จากปี 2566 ผลิตได้ 93.5 ล้านคัน โดยจีนยังคงเป็นเบอร์ 1 ในการผลิตรถ เพิ่มจากปี 2566 เป็น 31.3 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 3.7% ส่วนอันดับ 2 คือ สหรัฐอเมริกา มีการผลิตลดลง 3.5% เหลือ 10.2 ล้านคัน ส่วนหนึ่งตรงนี้จะเป็นผลที่ทำให้สหรัฐประกาศขึ้นภาษียานยนต์ และในขณะเดียวกันก็น่าจะเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้รถยนต์จีนทะลักไปทั่วโลก โดยเฉพาะไทย

ส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยนั้นจะเห็นได้ว่า เราเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 10 ของโลก เดิมในปี 2566 ผลิตได้ 1.8 ล้านคัน แต่ปี 2567 ที่ผ่านมาผลิตเหลือ 1.47 ล้านคัน ลดลงถึง 20.2%

และถือเป็นการผลิตลดลงมากที่สุดในการจัดอันดับ 15 ประเทศผู้ผลิตรถยนต์ของโลก

ตลาดตกต่ำเป็นประวัติการณ์

ส่วนปริมาณการผลิตรถยนต์ในปีที่ผ่านมา มีจำนวน 1.47 ล้านคัน เป็นตัวเลขที่ปรับลงจากเป้าหมายเดิมตั้งไว้ที่ 1.5 ล้านคัน แบ่งเป็นในประเทศ 4.6 แสนคัน ลดลง 32.9% และตลาดส่งออก 1.01 ล้านคัน ลดลง 12% แต่ปรากฏว่า ยอดขายตลาดรถยนต์ ปี 2567 ทำได้ 572,000 คัน ลดลง 26.2% แบ่งเป็น รถยนต์นั่ง 340,000 คัน ลดลง 16.4% ปิกอัพ 160,000 คัน ลดลงถึง 38.3% รถปิกอัพดัดแปลง หรือพีพีวี 37,000 คัน ลดลง 38.9% รถประเภทอื่น ๆ 32,000 คัน ลดลง 25.9%

ADVERTISMENT

ตรงนี้สภาพตลาดมีการเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสัดส่วนการขาย จากเดิมที่รถปิกอัพจะมีมากกว่ารถยนต์นั่ง แต่วันนี้ทุกอย่างกลับข้าง เนื่องจากรถปิกอัพมียอดขายลดลงอย่างหนัก ผลมาจากสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว และความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งยังส่งผลต่อเนื่องไปยังราคารถยนต์มือสองลดลงอย่างมากก่อนหน้านี้ด้วย

ชู xEV ขับเคลื่อนอุตฯ

วันนี้หากนับรวมกำลังการผลิตรถยนต์ที่ประเทศไทยมีอยู่ในมือจากค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ที่เข้ามาใช้ไทยเป็นฐานผลิต จะเห็นว่าตัวเลขกลม ๆ ที่อุตสาหกรรมยานยนต์มีกำลังผลิตอยู่ที่ 3 ล้านคันต่อปี แต่วันนี้ใช้ไปราว ๆ 1.5 ล้านคัน

ADVERTISMENT

สิ่งที่น่าคิดว่าจากนี้ไป อุตสาหกรรมยานยนต์จะบริหารจัดการกำลังผลิตจากนี้อย่างไร เพื่อขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมไปต่อได้อย่างมั่นคงและแข็งแกร่ง ไทยยังคงเป็นฐานการผลิตรถยนต์อย่างแท้จริง โดยเฉพาะการเป็นฐานผลิตยานยนต์สมัยใหม่ ที่เราจะต้องขับเคลื่อนต่อไป

วันนี้จะมองแค่เครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือ ICE เพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่เราต้องสร้างความแข็งแกร่งและเพิ่มความหลากหลายในส่วนของเครื่องยนต์ xEV (HEV, PHEV, EV) เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไปข้างหน้า

เพราะเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ให้กับทุกแบรนด์ได้อย่างแข็งแรง

เพราะไทยมีห่วงโซ่ยานยนต์ที่แข็งแรง ทั้งระบบซัพพลายเชน แรงงานฝีมือ ความเชี่ยวชาญ เพียงแต่วันนี้เราหวังว่ามาตรการสนับสนุนส่งเสริมจากภาครัฐจะเข้ามาช่วย

แนะรัฐเร่งมาตรการส่งเสริม

เพราะวันนี้ หากเราคิดมาก เขา (รัฐบาล) คิดมาก จนมาตรการต่าง ๆ ไม่ออกมา สุดท้ายตลาดก็จะวาย

ปีนี้สมาคมมองว่าอุตสาหกรรมยานยนต์จะมีแนวโน้มการเติบโตใกล้เคียงกับปีที่แล้ว อาจจะดีขึ้นหากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ยอดการผลิตรถยนต์ของไทยน่าจะอยู่ที่ 1.5 ล้านคัน เติบโต 2.1% แบ่งเป็น การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 500,000 คัน และการผลิตเพื่อส่งออก 1 ล้านคัน ส่วนรถจักรยานยนต์ คาดการณ์ยอดผลิต 2.1 ล้านคัน โตจากปีที่ผ่านมาประมาณ 11.2%

หากประเทศไทยไม่ดำเนินการใด ๆ คู่แข่งในภูมิภาคอาเซียนก็จะต้องพยายามดึงดูดความน่าสนใจของการลงทุนจากไทยไป เพราะต้องไม่ลืมว่าวันนี้บริษัทแม่ของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ จะเลือกลงทุนไปที่ประเทศใดก็ได้

และต้องไม่ลืมว่า การที่ค่ายรถยนต์จะเลือกปักหลักลงทุน เขาต้องมองตลาดภายในประเทศนั้น ๆ เป็นสำคัญก่อน ส่วนตลาดส่งออกจะเป็นผลพวงสเต็ปต่อไป

วันนี้ประเทศไทย รัฐบาลไทย สามารถเดินหน้าเจรจาเพื่อขอทำข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ได้แล้ว ปัจจุบันมี 17 ฉบับ 24 ประเทศคู่ค้า อยู่ระหว่างเจรจาอีก 4 ฉบับ มีฉบับสำคัญช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่น การเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ตรงนี้รัฐบาลควรเร่งดำเนินการต่อ

สุดท้าย นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ยังได้ย้ำว่า สิ่งสำคัญที่จะคงให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสามารถเดินต่อไปอย่างแข็งแกร่ง และเป็นฐานผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลกได้อย่างแท้จริง เขาเชื่อว่าการเดินไปสู่ฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ คือ สิ่งที่อุตสาหกรรมยานยนต์จะต้องขับเคลื่อนคู่ขนานไปกับการใช้ประโยชน์จากฐานผลิตเครื่องยนต์ IEC ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั่นเอง ที่สำคัญ ประเทศไทยมีศักยภาพครบเครื่องที่จะเป็นฐานการผลิตรถยนต์ให้กับทุก ๆ แบรนด์