บิ๊ก “โตโยต้า” รับ “จีดีพี” พุ่ง ดันส่งออกทะลุ 3 แสนคัน

บิ๊กโตโยต้า ประเทศไทย ใช้เวลาพบปะสื่อในรอบปีแค่ 2 ครั้ง ครั้งแรกช่วงต้นปีรายงานตัวเลขยอดขายปีที่แล้ว พร้อมประมาณการตัวเลขทั้งปี ครั้งที่ 2 กลางปี อัพเดตผลประกอบการครึ่งปีแรกและคาดการณ์ครึ่งปีหลัง กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา “มิจิโนบุ ซึงาตะ” เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดห้องแถลงสถิติ 6 เดือนแรก พร้อมทิศทาง 6 เดือนที่เหลือของปีนี้

โตโยต้าโตทุกตลาด

จะเห็นได้ว่าตลาดรถยนต์ในช่วงครึ่งปีแรกนั้น มีการเติบโต 19.3% มียอดขายไปถึง 489,118 คัน แบ่งเป็น รถยนต์นั่ง 190,310 คัน โต 17.9% รถเพื่อการพาณิชย์ 298,808 คัน 20.2% ในจำนวนนี้เป็นรถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) 237,429 คัน โต 18.1% ส่วนโตโยต้ามียอดขาย 141,989 คัน เพิ่มขึ้น 26.2% แบ่งเป็น รถยนต์นั่ง 53,512 คัน เพิ่มขึ้น 18.5% รถเพื่อการพาณิชย์ 88,477 คัน เพิ่มขึ้น 31.4% ในจำนวนนี้เป็นรถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) 76,758 คัน เพิ่มขึ้น 21.6% ปัจจัยที่ทำให้ตลาดมีการเติบโตนั้น เป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนภายในประเทศ รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย จากภาครัฐ ประกอบการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดนั่นเอง

ส่งออกแนวโน้มดีขึ้น

ในช่วงครึ่งปีแรก โตโยต้าได้ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป จำนวน 145,080 คัน โต 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งทั้งนี้จะเห็นได้ว่าตลาดส่งออกหลักอย่างตะวันออกกลางนั้น แม้ว่าสถานการณ์โดยรวมจะยังไม่สดใส แต่ขณะเดียวกันการส่งออกไปยังตลาดเอเชียและโอเชียเนียมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ทำให้ปีนี้ทั้งปี โตโยต้ายังคงตั้งเป้าหมายในการส่งออกรถยนต์ไว้ที่ 300,000 คัน เท่าปีก่อน อย่างที่ผ่านมาเราได้เริ่มส่งออกรถกระบะไฮลักซ์ไปยังญี่ปุ่น ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าญี่ปุ่น ส่วนของตลาดอาเซียนในช่วงครึ่งปีแรกนั้น ภาพรวมยังมีการเติบโตที่ดี มียอดไปกว่า 1.7 ล้านคัน เติบโต 7% เป็นผลจากการขยายตลาดในประเทศไทย ส่วนทั้งปีคาดว่าภูมิภาคนี้จะมียอดจำหน่ายไม่น้อยกว่า 3.5 ล้านคัน ในปีนี้อย่างแน่นอน

สงครามการค้าไม่กระทบ 

ปัจจุบันประเทศไทยมีการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไปจำหน่ายยังอเมริกาเพียง 10% ของยอดการส่งออกทั้งหมด สิ่งที่โตโยต้ากลัวไม่ใช่สงครามทางการค้า แต่โตโยต้ากลัวในเรื่องความไม่ชัดเจน และความไม่แน่นอนของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ที่จะมีการเปลี่ยนนโยบายไปเป็นแบบอนุรักษนิยม โดยเฉพาะอัตราภาษีสรรพสามิต เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์มีระบบซัพพลายเชนที่ซับซ้อน บางครั้งมีการนำเข้ามาเพื่อผลิตในประเทศไทย และส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ สิ่งที่เราหวั่นคือสถานการณ์ที่ไม่ชัดเจนมากกว่า

มั่นใจตลาดครึ่งปีหลังโต 12% 

เนื่องจากฐานของตลาดรถยนต์ในช่วงครึ่งปีหลังถือเป็นฐานค่อนข้างสูง ทำให้ครึ่งปีหลังของปีนี้น่าจะมีอัตราการเติบโตไม่มากนัก แต่เนื่องจากปัจจัยบวกทั้งจีดีพีที่น่าจะเติบโต 4.4% ปัจจัยบวกข้างต้น ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น และการแข่งขันของค่ายรถยนต์ น่าจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่ดี และส่งผลให้ยอดขายในครึ่งปีหลังรวมทั้งยอดขายรถยนต์ทั้งปีมีเกินกว่าที่คาดหมายไว้ คือจะเพิ่มจาก 900,000 คัน เป็น 980,000 คัน โตขึ้น 12.4% จากปีที่แล้ว แบ่งเป็น รถยนต์นั่ง 381,000 คัน เพิ่มขึ้น 10% รถเพื่อการพาณิชย์ 599,000 คัน

เพิ่มขึ้น 14% ในจำนวนนี้เป็นรถกระบะ1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) 478,900 คัน เพิ่มขึ้น 12.9%และจากตัวเลขดังกล่าวส่งผลให้โตโยต้าเองนั้นต้องปรับเป้าหมายการขายจาก 300,000 คัน เป็น 315,000 คัน เพิ่มขึ้น 31.2% จากปีที่แล้วแบ่งเป็น รถยนต์นั่ง 116,000 คัน เพิ่มขึ้น 20.1% ส่วนแบ่งตลาด 30.4% รถเพื่อการพาณิชย์ 199,000 คัน เพิ่มขึ้น 38.6% ส่วนแบ่งตลาด 33.2% ในจำนวนนี้เป็นรถกระบะ 1 ตัน(รวมรถกระบะดัดแปลง) 171,300 คันเพิ่มขึ้น 28.4% ส่วนแบ่งตลาด 35.8%

เชื่อครองแชมป์ทุกตลาด

สถานการณ์ในวันนี้ ในส่วนยอดขายรถยนต์นั่งเราเป็นเบอร์หนึ่ง แต่ต้องยอมรับว่าในตลาดรถปิกอัพนั้น โตโยต้ายังตามหลังคู่แข่ง แต่ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เราพยายามดูแลและตอบสนองความต้องการของตลาด อย่างในปลายปีที่แล้วมีการปรับเปลี่ยนหน้าตาของ โตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว่ อาทิ รุ่นร็อคโค่ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า ถึงวันนี้อย่าเพิ่งให้เราฟันธงเลยดีกว่า เนื่องจากสงครามการแข่งขันยังคงมีต่อเนื่องอย่างน้อยอีกครึ่งปี แต่โตโยต้าเราจะพยายามทำให้ดีที่สุด

มองพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน

โตโยต้ามีการศึกษาและสำรวจ รวมทั้งวิจัยความต้องการของตลาดมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับผมจากเมื่อช่วง 12 ปีก่อน เคยเข้ามาทำงานในโตโยต้า ประเทศไทย กับวันนี้ จะพบว่าความต้องการของลูกค้าชาวไทยมีความหลากหลายมากขึ้น ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี โดยเฉพาะไฮบริด และดีไซน์ อย่างโตโยต้า ซี-เอชอาร์ นั้นเดิมแผนของโตโยต้ามอเตอร์ ต้องการออกแบบและแนะนำรถรุ่นนี้ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ปรากฏว่าเมื่อแนะนำสู่ประเทศไทย กลับได้รับการตอบรับที่ดีเยี่ยม ลูกค้ามีความต้องการที่หลากหลาย และถือเป็นเรื่องยากพอสมควร แต่โตโยต้าจะต้องพยายามสนองตอบกับความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

เติบโตคู่สังคมไทย

นอกจากเป้าหมายทางด้านธุรกิจที่โตโยต้ามุ่งมั่นสร้างสรรค์ยนตรกรรมแห่งการขับเคลื่อนที่ดียิ่งกว่า เรายังมีความตั้งใจที่จะดำเนินงานเพื่อสังคมให้ดียิ่งขึ้น ผ่านกิจกรรมเพื่อสังคม อย่างโครงการที่ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยบนท้องถนนโตโยต้า ถนนสีขาว ครบรอบ 30 ปี

ซึ่งมีแนวคิด “มุ่งเน้นการสร้างสังคมคนขับรถดี” โดยเน้นการพัฒนาทักษะการขับรถด้วยการจัดตั้งศูนย์พัฒนาศักยภาพผู้ขับขี่รถยนต์โตโยต้าที่ Toyota DrivingExperience Park เพื่อสร้างสังคมผู้ขับขี่ที่ดี นอกจากนี้ยังได้พัฒนาปรับปรุงถนนต้นแบบโดยการปรับลดจุดเสี่ยง เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุให้เป็นศูนย์ บริเวณหน้าโรงงานโตโยต้าบ้านโพธิ์ และเกตเวย์ เพื่อตอบรับกับ “พันธสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมของโตโยต้า พ.ศ. 2593”

โดยหนึ่งในเป้าหมายสูงสุด คือ การลดCO2 ให้เป็นศูนย์

โตโยต้ารักษ์โลก

โปรเจ็กต์ “โตโยต้า เมืองสีเขียว”เริ่มต้นจากภายในโรงงานเราใช้พลังงานทดแทนและระบบการจัดการของเสียที่ได้มาตรฐานระดับโลก อีกทั้งยังส่งเสริมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพที่โรงงานบ้านโพธิ์ ซึ่งถือเป็นโรงงานที่มีระบบนิเวศแห่งความยั่งยืนแห่งแรกของโตโยต้าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ยิ่งไปกว่านั้นเรายังส่งเสริมความร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่นผ่านกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมภายนอกโรงงาน เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมแก่สังคมไทยผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมลดเมืองร้อนด้วยมือเรา กิจกรรมปลูกป่าชายเลนและกิจกรรมปลูกป่านิเวศ ตลอดจนโครงการ “โตโยต้าเมืองสีเขียว อยุธยา” ศูนย์การเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมนอกโรงงานแห่งแรกที่จะเปิดในเดือนพฤศจิกายนนี้

และหนึ่งในองค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม คือ การเดินทางอย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเชื่อมโยงกับสถานที่ท่องเที่ยวของอยุธยาด้วยรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก HA : MO ซึ่งทั้งหมดนี้คือ ความมุ่งมั่นที่จะส่งมอบยนตรกรรมแห่งการขับเคลื่อนที่ดียิ่งกว่าให้กับคนไทยผ่านทางผลิตภัณฑ์และการบริการของเรา ภายใต้ปรัชญาการดำเนินธุรกิจของโตโยต้าที่ว่า “เราจะเติบโตควบคู่ไปกับสังคมไทย”