อุตฯผ่อนปรนค่ายรถ-ยางล้อ ได้มาตรฐานตปท.ปล่อยผ่าน

กระทรวงอุตสาหกรรม ผ่อนปรนค่ายรถยนต์-บริษัทยางล้อ แก้ปัญหาซ้ำซ้อน ถ้าผ่านเกณฑ์มาตรฐานจากเมืองนอกไม่ต้องทดสอบอีก อนุโลมใช้สติ๊กเกอร์ มอก.แทนตัวนูน

นายณัฐพล รังสิตพล ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ในฐานะกรรมการสถาบันยานยนต์ว่า ทางสถาบันได้หารือกับภาคเอกชนทั้งค่ายรถยนต์และบริษัทผู้ผลิตยางล้อรถยนต์ ถึงกรณีการใช้สนามทดสอบตามมาตรฐาน มอก.2721-2559 (UN R117) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ บนพื้นที่เขตสวนป่าลาดกระทิง ต.ลาดกระทิง อ.สนามขัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ที่กำลังจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปลายปีนี้และเปิดใช้ภายในปี 2561

โดยจะมีการผ่อนปรนหลักเกณฑ์บางกรณีให้กับภาคเอกชน เพื่อให้มีเวลาในการปรับตัวหรือลดปัญหาความซ้ำซ้อนที่ต้องนำสินค้ามาทดสอบ ยังศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อ เช่น หากยางล้อรถยนต์ที่ผ่านการทดสอบจากต่างประเทศหรือหน่วยงานกำกับมาตรฐาน โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จะรับรองผลการรับรองให้หากได้ผ่านการทดสอบที่ได้มาตรฐานเทียบเท่ามาตรฐาน ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ของไทย โดยไม่ต้องทดสอบซ้ำที่สนามทดสอบยางล้ออีก ขณะเดียวกันรอยนูนที่ได้กำหนดให้พิมพ์ไว้บนตัวสินค้ายางล้อรถยนต์ สมอ.อนุโลมให้ใช้สติ๊กเกอร์ มอก.แปะแสดงแทนได้ เพื่อไม่ให้เอกชนต้องมีต้นทุนในการทำแม่พิมพ์ใหม่

“การหารือครั้งนี้ ถือว่าได้รับความร่วมมือจากเอกชนมาก ส่วนรัฐเองก็ต้องรับฟังความคิดกันก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไร เพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายไม่ได้รับผลกระทบ”

นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ.ได้ผลักดันมาตรฐาน มอก. 2721-2559 เสียงจากยางล้อที่สัมผัสผิวถนน การยึดเกาะถนนบนพื้นเปียกและความต้านทานการหมุน ซึ่งอ้างอิงมาจากมาตรฐาน UN R 117 เป็นมาตรฐานบังคับ และเร่งผลักดันโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ เพื่อให้การก่อสร้างระยะแรกแล้วเสร็จภายในปี 2561 พร้อมกับเร่งรัดทำงานบูรณาการร่วมกับจังหวัดฉะเชิงเทรา องค์การบริหารส่วนตำบลลาดกระทิง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินโครงการบรรลุวัตถุประสงค์อย่างรวดเร็วตามเป้าหมายของ รัฐบาล

โครงการในระยะแรก ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการปรับพื้นที่ขนาด 200 ไร่ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ต.ค. 2560 เพื่อดำเนินการก่อสร้างสนามทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R 117 ในรายการเสียงจากยางล้อที่สัมผัสผิวถนน และการยึดเกาะถนนบนพื้นเปียก (Noise & Wet Grip) และก่อสร้างอาคารสำนักงานพร้อมห้องปฏิบัติการ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างคู่ขนานกันกับการปรับพื้นที่

สำหรับงานก่อสร้างโครงการระยะที่ 2 ส่วนทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน ประกอบด้วยสนามทดสอบกลางแจ้ง 5 สนาม คือ สนามทดสอบระบบเบรกสนามทดสอบระบบเบรกมือ สนามทดสอบอุปกรณ์บังคับเลี้ยว สนามทดสอบระบบเครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง มาตรวัดความเร็ว และอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงและสนามทดสอบการยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง ที่สามารถทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วนรวม 19 รายการ เช่น ระบบเบรก เฟือง ระบบไฟ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562