รถอีวี FOMM มาแน่ปีหน้า เคาะราคา 5.9 แสน นิสสันสบช่องนำเข้า”ลีฟ”

คนไทยได้ใช้รถอีวีเร็วขึ้น บีโอไอแย้มไฟเขียว FOMM จากญี่ปุ่น ลงทุน 700 ล้าน ปีหน้าพรึ่บทั่วประเทศ เคาะราคาขาย 5.9 แสน ตั้งเป้าปีแรก 500 คัน “นิสสัน” สบช่องส่ง “ลีฟ” นำเข้าทั้งคันทำตลาดก่อน 2 ปีแรกก่อนขึ้นไลน์ผลิตในประเทศ

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า นอกจากบอร์ดชุดใหญ่ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาแพ็กเกจลงทุนกิจการรถไฮบริด, ปลั๊ก-อินไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ให้กับค่ายนิสสันหมื่นกว่าล้านบาท และฮอนด้า 5.8 พันล้านบาท เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมาแล้ว เร็ว ๆ นี้บีโอไอจะอนุมัติรถยนต์หมวดอีวีอีกหนึ่งโครงการ

ไฟเขียว FOMM 700 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกล่าวเพิ่มเติมว่า ค่ายรถยนต์อีกรายที่อนุกรรมการกำลังพิจารณารายละเอียดและคาดว่าจะอนุมัติให้สิทธิ์ดำเนินการผลิตรถยนต์อีวี ได้แก่ กลุ่ม “FOMM” จากญี่ปุ่น ซึ่งแพ็กเกจนี้มีรายละเอียดครบถ้วน ทั้งโรงงานผลิต การใช้วัตถุดิบในประเทศโดยเฉพาะแบตเตอรี่และแนวทางการรุกตลาด

ด้านนายธนานันต์ กาญจนคูหา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอฟโอเอ็ม (เอเชีย) จำกัด ผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ ฟอมม์ (FOMM) สัญชาติญี่ปุ่นเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทได้ยื่นรับส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ภายใต้โครงการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน 3 ประเภท คือ ไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และอีวี ภายใต้หมวด A3 หรือในกลุ่มบีอีวีเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างรออนุมัติ

ทั้งนี้ บริษัทได้ยื่นขอรับส่งเสริมมูลค่าการลงทุน 700 ล้านบาท สำหรับการประกอบรถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 1 รุ่น คือ ฟอมม์วัน ด้วยกำลังการผลิต 10,000 คันต่อปี รวมถึงการสนับสนุนการใช้ซัพพลายเออร์ภายในประเทศจากเดิม 40%เพิ่มเป็น 70% หรือมากกว่าภายในระยะเวลา 3 ปีนับจากนี้ หรือภายในปี 2563 โดยจะใช้โรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะ จังหวัดชลบุรี ขณะนี้ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จบนพื้นที่ขนาด 7 ไร่ และรอการอนุมัติการส่งเสริมจากบีโอไอ จากนั้นบริษัทจะได้นำเข้าเครื่องจักร

เคาะราคาขาย 5.9 แสนบาท

เบื้องต้นบริษัทนำเข้าแบตเตอรี่เพื่อมาใช้ประกอบรถอีวี ในอนาคตคาดว่าเมื่อโรงงานแบตเตอรี่ของบริษัท เบลต้าโซลูชั่น ซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอเช่นกัน คาดสามารถดำเนินการผลิตได้ราวไตรมาส 2 ปีหน้า ก็พร้อมจะใช้แบตเตอรี่ จากโรงงานแห่งนี้

“ช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้ เราจะเริ่มทดลองประกอบรถฟอมม์วันขึ้นมาเป็นคันแรกก่อน จากก่อนหน้านี้ได้มีการนำรถจากประเทศญี่ปุ่น มาจัดแสดงในงานมอเตอร์โชว์เมื่อช่วงต้นปี ได้รับ

การตอบรับจากลูกค้าในไทยเกินความคาดหมาย เคาะราคาขายช่วงแนะนำ 599,000 บาท”

ทั้งนี้ บริษัทมียอดจองรถฟอมม์วันแล้วกว่า 300 คัน ซึ่งเป็นลูกค้าผู้ใช้งานทั่วไปและลูกค้าหน่วยงานต่าง ๆ ในสัดส่วนเท่ากัน โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในช่วงไตรมาสแรกปีหน้า และจะทยอยส่งมอบรถให้กับลูกค้าได้ภายในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ขณะที่ปลายปีนี้บริษัทจะนำรถอีวีเข้าจัดแสดงในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป และเปิดจอง ทำให้คาดว่าทั้งปีจะมียอดจองไม่น้อยกว่า 500 คัน

ผนึก กฟภ.ผุดสถานีชาร์จ

ด้านแผนการจัดจำหน่ายนั้นขณะนี้บริษัทได้ร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นตัวแทนจำหน่ายรถฟอมม์วันโดยจะใช้สาขาของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นสถานที่จำหน่ายและรับจองรถยนต์ สำหรับปีนี้จะเปิดโชว์รูม 1-2 แห่งก่อน จากแผนที่จะเปิด 5 แห่งทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น ปัจจุบันที่มีโชว์รูมและสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในซอยทองหล่อ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กฟภ. ได้ทำการศึกษาวิจัยและจัดทำระบบโครงข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้า จำนวน 11 สถานี ในเส้นทางหลักสู่เมืองใหญ่และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ประกอบด้วย สายภาคเหนือ(กรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยา) จำนวน 2 สถานีสายภาคใต้ (กรุงเทพฯ-หัวหิน) จำนวน 3 สถานี, สายภาคตะวันออก (กรุงเทพฯ-พัทยา) จำนวน 2 สถานี, สายภาคตะวันตก (กรุงเทพฯ-นครปฐม) จำนวน 1 สถานี, สายตะวันออกเฉียงเหนือ(กรุงเทพฯ-โคราช) จำนวน 2 สถานี, สำนักงานใหญ่ กฟภ. จำนวน 1 สถานี

พร้อมคลอดโมเดล 2 และ 3

ผู้จัดการทั่วไป บริษัทเอฟโอเอ็มฯ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงแผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทในอนาคตว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาเพื่อเตรียมแนะนำรถยนต์อีกสองโมเดลออกสู่ตลาดคือ โมเดล 2 และโมเดล 3 ซึ่งจะเป็นรถอีวี L7E เช่นเดียวกับรถฟอมม์วัน

แหล่งข่าวจากบีโอไอกล่าวเสริมว่า กระแสรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีกำลังเป็นเทรนด์ใหม่และเป็นที่ต้องการของตลาด ประเทศไทยค่อนข้างโชคดีที่รัฐบาลให้การสนับสนุน และรถอีวีมาเร็วกว่าที่คิดไว้เยอะ นอกจากค่าย FOMM แล้ว ในส่วนของค่ายรถยนต์ซึ่งปกติทำตลาดเครื่องยนต์สันดาปภายในก็ให้น้ำหนักกับรถยนต์ไฟฟ้าไม่น้อย

นิสสันนำร่องส่ง “ลีฟ” ทำตลาด 

ด้านแหล่งข่าวจากบริษัท นิสสันมอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากนโยบายของบริษัทแม่ และนายอันตวน บาร์เตส กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิสสันมอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ยืนยันว่า นิสสันจะมีการนำเข้าและจัดจำหน่ายรถยนต์นิสสันลีฟรถอีวีรุ่นล่าสุด ออกสู่ตลาดประเทศไทยภายในปีงบประมาณนี้

และเพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่ประกาศไว้สำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจในประเทศไทย 3 ประการ คือ การเพิ่มความหลากหลายของรถยนต์ที่ทำตลาด, การพัฒนาเครือข่ายผู้แทนจำหน่ายนิสสันเพื่อบริการที่มีคุณภาพและสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้าและการใช้ประโยชน์จากฐานการผลิตของนิสสัน รวมทั้งการพัฒนาและวิจัยยานยนต์เพื่อนำเสนอรถยนต์รุ่นพิเศษและรถยนต์รุ่นเฉพาะที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าภายในประเทศ โดยนิสสันลีฟจะมีจำหน่ายใน 60 ประเทศทั่วโลก และไทยคือหนึ่งในนั้น

“เชื่อว่าเร็ว ๆ นี้ลูกค้าคนไทยน่าจะได้ใช้รถไฟฟ้าของนิสสัน”

แหล่งข่าวยังกล่าวต่อไปว่า เดิมนิสสันตั้งใจว่าเทคโนโลยี อี-พาวเวอร์ น่าจะถูกจัดเข้าหมวดรถอีวี แต่บีโอไอมองอีกมุม ทำให้นิสสันต้องปรับแผน เลือกนำเข้า “นิสสันลีฟ” มาวางจำหน่ายก่อน ตามเงื่อนไขที่บีโอไอได้เปิดช่องไว้ให้ ต่อจากนั้นจึงขึ้นไลน์ผลิตภายในประเทศในปีที่สามส่วนโควตาการนำเข้าน่าจะมีการพูดคุยกันอีกรอบ

“นิสสันลีฟถือเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอันดับหนึ่งของโลก และมียอดขายทั่วโลกกว่า 238,000 คัน”

บีโอไอยกเว้นอากรขาเข้า 80%

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า กฎหมายบีโอไอสามารถกำหนดเรื่องการลดหรือยกเว้นอากรขาเข้าได้ โดยในกรณีการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (BEV หรือรถอีวี) ที่ผู้ผลิตจะต้องยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอเพื่อให้คณะกรรมการบีโอไออนุมัติภายในสิ้นปี 2561 โดยมีเงื่อนไขว่ากรณีจะผลิตรถอีวี ผู้ผลิตสามารถนำเข้ารถอีวีทั้งคันมาจำหน่ายเพื่อทดลองตลาดได้ก่อน เป็นเวลา 2 ปี โดยจะมีการยกเว้นอากรขาเข้าให้ แต่จะต้องเสียภาษี VAT อัตรา 7% และภาษีสรรพสามิตรถอีวี 2%

“แต่ทั้งนี้จะมีเงื่อนไข่กำหนดโควตาจำนวนรถที่จะนำเข้ามาว่าได้ปีละกี่คัน ไม่ใช่นำเข้าได้ไม่จำกัด”

อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวกล่าวว่า เท่าที่ทราบขณะนี้ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดยื่นขอรับการส่งเสริมผลิตรถอีวี แต่ตามกรอบเวลายังสามารถยื่นได้ภายในปี 2561 นี้

นายชัยยุทธ คำคุณ ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า ในกรณีที่ผู้ประกอบการผู้ผลิตรถยนต์ได้รับสิทธิประโยชน์จากบีโอไอ โดยให้สามารถนำเข้ารถอีวีมาทดลองตลาดได้ก่อนนั้นตามปกติแล้วหากบีโอไอมีการให้สิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการผลิตในโครงการใด ก็จะแจ้งมาให้กรมศุลกากรทราบ เพื่อปฏิบัติตามแนวทางการส่งเสริมอีกที