ค่ายรถปรับแนวรุก เข็นเอาต์เลตไซซ์เล็ก ลดต้นทุน คลุมทุกพื้นที่บริการ

ศูนย์บริการมาตรฐานรูปแบบใหม่ “2S” ของค่ายเชฟโรเลต

ค่ายรถปรับแนวรุกย่อส่วนดีลเลอร์เน็ตเวิร์กกระจายคลุมทุกพื้นที่ เจาะลึกเข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น เบรกโชว์รูมขนาดใหญ่ 3 เอส หันทำแค่ศูนย์ “เซอร์วิส-สแปร์พาร์ต” ย้ำคล่องตัว-เซฟคอสต์ ตอบรับเทรนด์ซื้อ-ขายออนไลน์ “เชฟโรเลต” นำร่องชูธง 4 โมเดล ผนึกอู่ซ่อมในพื้นที่สร้างความพึงพอใจลูกค้า ด้าน “มิตซูบิชิ” เลือกทำเลหันเน้นเฉพาะนำเปิดเอาต์เลตในห้างสรรพสินค้า

แนวคิดการทำโชว์รูมไซซ์เล็กของค่ายรถยนต์ เพื่อแก้ปัญหาใช้เม็ดเงินลงทุนจำนวนมากคืนทุนช้าและไม่คล่องตัว เข้าไม่ถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ระยะหลังเริ่มมีความชัดเจนและเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น ประกอบกับกระแสนิยมการซื้อขายรถยนต์แบบออนไลน์ขยายตัวในวงกว้าง ทำให้ค่ายรถยนต์เกือบทุกค่ายหันมาใช้แนวรุกขยายเอาต์เลตของตัวเองในรูปแบบ 2 เอส คือมีเฉพาะงานซ่อมและคลังอะไหล่ จากเดิมที่กำหนดให้ทุกดีลเลอร์ทำธุรกิจแบบฟูลสเกล ประกอบ 1.เซล มีพื้นที่โชว์รถยนต์เพื่อจูงใจงานขาย 2.เซอร์วิส เพื่อดูแลบริการหลังการขาย เน้นสร้างความพึงพอใจ และ 3.สแปร์พาร์ต หรือคลังอะไหล่ เพื่อซัพพอร์ตงานบริการหลังการขายแบบครบวงจร

ล่าสุดค่ายรถยนต์สัญชาติอเมริกัน เชฟโรเลตได้ประกาศเปิดเเนวรบแบบกองโจรเพื่อขยายเน็ตเวิร์กแทรกซึมเข้าทุกพื้นที่ให้ความสำคัญกับงานบริการหลังการขาย และต่อยอดขยายความร่วมมือกับศูนย์ฟาสต์ฟิต หรืออู่ซ่อมรถในท้องถิ่น

เชฟวี่ปูพรมเซอร์วิสทุกจังหวัด

นางสาวปิยะนุช จตุรภัทร์ ผู้อำนวยการทั่วไปฝ่ายขายและการตลาด บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงแผนขยายเครือข่ายรองรับงานบริการว่า พยายามปูพรมให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในจังหวัดที่เชฟโรเลตยังไม่มีศูนย์บริการ

ปัจจุบันเชฟโรเลตมีศูนย์บริการ 87 แห่งทั่วประเทศ และภายในปี 2562 บริษัทตั้งเป้าจะขยายเพิ่มให้ครบ 100 แห่งทั่วประเทศ ทั้งนี้ บริษัทได้ส่ง 4 โมเดลของโชว์รูมและศูนย์บริการ สำหรับการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย

ชู 4 โมเดลใหม่

ได้แก่ 1.รูปแบบ 3S ขนาดใหญ่ที่สามารถจอดโชว์รถได้ 10-15 คัน มี 10 ช่องซ่อม 2.รูปแบบ 3S ไลฟ์ ขนาดจะเล็กลง จอดโชว์รถได้ 8-10 คัน มี 8 ช่องซ่อม 3.โชว์รูม 2S ขนาด 4 ช่องซ่อม และ 4.โชว์รูม 2S ไลฟ์ ขนาด 2 ช่องซ่อม โดยโชว์รูมทั้ง 2 รูปแบบนี้คือ 2S และ 2S ไลฟ์ จะเน้นให้บริการหลังการขายสำหรับรถที่อยู่ในวอร์แรนตีเป็นหลัก และ 5.โชว์รูม ออโตไลต์ เซอร์วิส โอเปอเรชั่น (ASO) อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด โดยเบื้องต้นคาดว่าบริษัทจะเข้าไปจับมือกับศูนย์ซ่อมที่เป็นนักลงทุนท้องถิ่นเพื่อให้บริการรับซ่อมตามระยะให้กับลูกค้า ทั้งนี้ บริษัทเชื่อว่าการลงทุนข้างต้นจะช่วยการขยายเครือข่ายบริการหลังการขายให้ครอบคลุม โดยนักลงทุนจะมีกำไรและสามารถคืนทุนภายในระยะเวลา 2 ปี

ประเดิม 2S พื้นที่ฝั่งอันดามัน

นางสาวปิยะนุชกล่าวอีกว่า บริษัทได้เปิดเอาต์เลตมาตรฐานรูปแบบใหม่ “2S” แห่งแรกของประเทศไทย ที่จังหวัดภูเก็ต ฝั่งทะเลอันดามัน ภายใต้งบประมาณการลงทุน 5 ล้านบาท ไม่รวมที่ดินในรูปแบบสแตนด์อะโลน บนพื้นที่ขนาด 900 ตร.ม. โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน มี 4 ช่องซ่อม และให้การบริการหลังการขาย การซ่อมแซมรถยนต์ และการรับประกันโดยช่างเทคนิคผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพ

“เอาต์เลตแบบ 2S ของเรา ลูกค้าสามารถนั่งพักผ่อนได้ที่โซนรับรองลูกค้า ออกแบบและตกแต่งให้เป็นมุมพักผ่อน เพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้แก่ลูกค้า เราสามารถรองรับลูกค้าทั้งในจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียงที่ไม่มีศูนย์บริการมาตรฐานของเชฟโรเลต และหากลูกค้าต้องการนำรถมาจอดขายก็สามารถทำได้”

เชื่อลูกค้าซื้อรถออนไลน์มากขึ้น

สำหรับปีนี้ เชฟโรเลตมีแผนจะขยายเอาต์เลตแบบ 2S อย่างน้อย 4 แห่ง ได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ, บ่อวิน จังหวัดชลบุรี, อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่อีก 5-6 แห่งที่มีแผนจะขยายเข้าไป อาทิ จังหวัดเลย, พะเยา, มหาสารคาม, กาฬสินธุ์, ร้อยเอ็ด

“อีกปัจจัยที่เราหันมาขยายเอาต์เลตแบบ 2S เพราะวันนี้เชฟโรเลตเราขายรถผ่านระบบออนไลน์สูงถึง 70% ลูกค้าใช้บริการแค่ช่วงรับรถเป็นส่วนใหญ่ เราพยายามปรับรูปเเบบการให้บริการให้สอดคล้องกับพฤติกรรมนี้ด้วย” นางสาวปิยะนุชกล่าว

ฟอร์ดลุยสมอลไซซ์เอาต์เลต

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า แนวคิดขยายเน็ตเวิร์กลงลึกระดับอำเภอชั้นรอง ก่อนหน้านี้ ค่ายฟอร์ดได้ทำไพลอตโปรเจ็กต์ ด้วยการส่ง “สมอลไซซ์” โชว์รูมกรุยทางเพื่อใกล้ชิดกับลูกค้าให้มากขึ้น โดยรูปแบบจะเป็น “สมอลโชว์รูม” มีโชว์รูมและศูนย์บริการแค่ 4 ช่องซ่อม มีพื้นที่ให้ลูกค้าได้พักผ่อนได้นิดหน่อย ตั้งเป้าไว้ 10 แห่ง โดยมีการพาสื่อมวลชนไปชมเอาต์เลตต้นแบบขนาดเล็ก ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

มิตซูฯชิงธงทำเอาต์เลต 1 เอส

นายเอกอธิ รัตนอารี กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การขยายเน็ตเวิร์กเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เป็นแนวปฏิบัติของทุกค่ายรถยนต์อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องเลือกให้เหมาะสมกับไทมิ่งและพื้นที่ ปัจจุบันมิตซูบิชิมีโชว์รูมอยู่ทั่วประเทศที่ 221 แห่ง และมีแผนจะขยายเพิ่มเป็น 231 แห่ง

โดยปีนี้บริษัทมีแผนที่จะขยายโชว์รูมในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล โดยเฉพาะย่านดาวน์ทาวน์ ภายใต้รูปแบบเอาต์เลตขนาด 1 เอส ซึ่งเน้นพื้นที่แสดงรถยนต์เพื่อการจัดจำหน่ายเท่านั้น โดยขณะนี้มีเปิดแล้ว 1 แห่ง ภายในปีนี้บริษัทตั้งเป้าจะเปิดเอาต์เลตแบบ 1 เอส อีกอย่างน้อย 4-5 แห่ง ในเขตพื้นที่ของกรุงเทพฯและปริมณฑล จากปัจจุบันที่มีโชว์รูมและศูนย์บริการมิตซูบิชิในพื้นที่ดังกล่าวอยู่ 46 แห่ง

“เบื้องต้นเราให้สิทธิ์การขยายพื้นที่ของเอาต์เลตแบบ 1 เอส สำหรับดีลเลอร์ซึ่งทำแบบ 3 เอสอยู่แล้วมาเป็นอันดับแรก ๆ เนื่องจากเรามองว่าพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลมีราคาที่ดินค่อนข้างสูง ดังนั้นจึงอยากจะช่วยเพิ่มโอกาสและช่องทางขายให้กับดีลเลอร์”

เช่นเดียวกับมาสด้า ล่าสุดได้มีการเจรจากับห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน เซ็นทรัลพระราม 3 เพื่อเปิดเอาต์เลตที่มีเฉพาะพื้นที่โชว์รถยนต์ เน้นเฉพาะงานขายเพียงอย่างเดียว