“มาสด้า” จี้แก้ปมชิ้นส่วนสะดุด หลังน้ำท่วมใหญ่ญี่ปุ่น-ปลื้ม 7 เดือนยอดฉิว

มาสด้าสะดุดน้ำท่วมญี่ปุ่นกระทบซัพพลายทั้งระบบส่งผลโรงงานปั๊มมาสด้า3 ป้อนความต้องการตลาดไม่ทัน จี้แก้ปัญหาเร่งด่วนยันพร้อมส่งมอบภายในเดือนหน้า ปลื้ม 7 เดือนยอดทะลุเป้า มั่นใจทั้งปีขาย 6.5 หมื่นคัน

นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหาร ฝ่ายการตลาดและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย)จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังเกิดเหตุภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์มาสด้า บางส่วนโดยเฉพาะรถยนต์นั่งขนาดกลาง มาสด้า3 ที่มีชิ้นส่วนบางรายการจะต้องนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นเพื่อมาประกอบ บางรุ่นยังไม่สามารถผลิตได้ ลูกค้าที่จองรถมาสด้า3 อาจจะต้องใช้ระยะเวลารอรับรถล่าช้ากว่าเดิมเล็กน้อย

“ตอนนี้เรายอมรับว่า ลูกค้ารถมาสด้า3 ต้องใช้ระยะเวลารอรับรถนานกว่าปกติ แต่ไม่ถึงกับนานมาก ทุกขั้นตอนได้รับการปรับแก้ไประดับหนึ่งแล้ว เชื่อว่าจะเข้ารูปเข้ารอยได้เร็ว ๆ นี้ ลูกค้าอาจจะต้องรอรถ และคาดว่าราวเดือนหน้า สถานการณ์น่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ” นายธีร์กล่าว

สำหรับยอดขายมาสด้าในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ถือว่ามียอดขายเกินความคาดหมายที่ตั้งไว้ โดยมียอดขาย 39,955 คัน จาก 27,810 คัน หรือเพิ่มขึ้นถึง 44%โดยในเดือนกรกฎาคม มียอดขายที่ 6,362 คัน เติบโตถึง 62% แบ่งเป็นมาสด้า2 ถึง 4,346 คัน โต 73% ซีเอ็กซ์-5 จำนวน 618 คัน โต 96% มาสด้า3 จำนวน 553 คัน เพิ่มขึ้น 46%รถปิกอัพมาสด้า บีที-50 โปร มียอดขายจำนวน 625 คัน เพิ่มขึ้น 38% มาสด้า ซีเอ็กซ์-3 ยอดขายอยู่ที่ 220 คัน ลดลง 14%

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ยอดขายเติบโตเพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลมาจากปัจจัยบวกทางด้านเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงขาขึ้นและทำให้เชื่อว่ายอดขายรถยนต์โดยรวมปีนี้ น่าจะมียอดขายเกิน 1 ล้านคัน และมาสด้าเองได้ปรับเป้าหมายยอดขายจาก60,000 คัน เป็น 65,000 คัน โต 27%จากยอดขายรวมเมื่อปี 2560 ทั้งหมดอยู่ที่ 51,355 คัน เพิ่มขึ้น 21% มีส่วนแบ่งการตลาด 5.9% ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเกินกว่าที่คาดหมาย

ส่วนช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ มาสด้าจะรุกตลาดอย่างเต็มสูบ ออกประกาศนโยบายก้าวสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน ด้วยการทำงานเป็นทีมภายใต้การบริหารงานโดยคนไทย เพื่อลูกค้าชาวไทยครอบคลุมทุกฟังก์ชั่น ภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์ก้าวสู่การเติบโตในช่วงครึ่งปีหลัง ได้แก่

1.กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจความเป็นหนึ่งเดียว หรือ One Mazda

2.กลยุทธ์ด้านการขาย ทั้งการจัดกิจกรรมในโชว์รูมและการออกโรดโชว์ตามห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ, “MAZDA NEXT EXPERIENCE” ส่วนการจัดงานตามห้างสรรพสินค้า ใช้ชื่องานว่า “MAZDA SKYACTIV FESTIVAL” เพื่อสร้างความแตกต่างให้ผู้บริโภคเกิดการจดจำนโยบายการสนับสนุนการขายในงานบิ๊กอีเวนต์ ซึ่งกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ

ประกอบด้วย 5 งานหลักประจำปีโดยเป็นงานแสดงรถยนต์ในเขตกรุงเทพฯการเดินหน้าการขยายพื้นที่โชว์รูมตามมาตรฐานใหม่ หรือ Mazda Corporate Identity ปัจจุบันแล้วเสร็จประมาณ 50% หรือ 62 โชว์รูม เป้าหมายของมาสด้าในปีนี้ คือ 90% และทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2562

ปัจจุบันมีโชว์รูมทั้งหมด 134 แห่งเป้าหมายคือขยายเพิ่มเป็น 140 แห่งภายในปีนี้

3.กลยุทธ์ด้านการเอาใจใส่ดูแลลูกค้า

4.กลยุทธ์ด้านการตลาด ที่จะเดินหน้าบุกตลาดเต็มที่ ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของกิจกรรมส่งเสริมการขาย การเดินสายออกโรดโชว์ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดด้วย