ไทยซัมมิท แนะค่ายชิ้นส่วน “รีอินเวนชั่น” รับอนาคตใหม่ “ไม่ใช่แค่ดูเฉพาะธุรกิจตัวเอง ธุรกิจรอบข้างก็ห้ามกระพริบตา”

“ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองประธานกรรมการ บริษัท ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด

พี่ใหญ่ไทยซัมมิทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพียวไทยรายใหญ่ของประเทศไทย กล่าวบนเวทีสัมมนา”พลิกเกมธุรกิจ พลิกอนาคต -The ReInvention 2018″ จัดโดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ”

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2561  รอยัลฮอล์ สยามพารากอน  ว่า ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเตรียมความพร้อมเพื่อรับคลื่นลูกใหม่ที่กำลังถาโถมเข้ามาเป็นสิ่งจำเป็น และอยากให้จับตาธุรกิจที่อยู่ข้างเคียงด้วย ไม่ใช่แต่มุ่งเน้นการปรับตัวของธุรกิจตัวเองเท่านั้น

เช่น ถ้าพูดถึงเรื่องของธุรกิจยานยนต์  คนมักจะถามว่ารถไฟฟ้ามาแล้ว “ไทยซัมมิท” หรือคนในวงการตกใจหรือไม่? คำตอบจริงๆ คือ…ทุกคนไม่ได้ตกใจ เพราะเตรียมการกันไว้แล้ว รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะกระทบตรงไหน

แต่อยากให้มองธุรกิจรอบๆ ข้างด้วย   อันนั้นแหละได้รับผลกระทบแน่ๆ

เช่นเดียวกับการมาของอินเทอร์เน็ต ที่มีธุรกิจหลายๆ อย่างต้องล้มหายตายจากไป การมาของรถยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนรถยนต์เกือบทุกอย่างยังคงอยู่ ดังนั้นเราก็ยังคงผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับรถยนต์ไฟฟ้าได้

แต่การมาของรถยนต์ไฟฟ้า มันคือการเปลี่ยน “ไลฟ์สไตล์”

เพราะฉะนั้นผลกระทบย่อมต้องมีเป็นวงกว้างไม่ใช่แค่ธุรกิจยานยนต์ โดยเฉพาะคนมักพูดกันว่าอีกหน่อยจะเป็นรถขับเคลื่อนอัตโนมัติ รถยนต์ไร้คนขับ ลองนึกดูใครบ้างล่ะ? ที่ได้รับผลกระทบ

คิดแบบง่ายๆ ถึงตอนนั้น ธุรกิจลอจิสติกส์จะทำอย่างไร?, แมสเซนเจอร์จะมีอยู่อีกต่อไปมั้ย?

ส่วนไทยซัมมิทต้องบอกว่าเราเห็นเทรนด์นี้มานาน เราเตรียมพร้อมมาอย่างดี สิ่งที่เรากังวลคือ  คนมักมองว่า ไทยซัมมิท เป็นเหมือน  “ซูเปอร์มาร์เก็ตของชิ้นส่วนยานยนต์” อยากได้อะไรก็มี

ฟังแล้วเหมือนน่าภาคภูมิใจ หลายคนในองค์กรคิดอย่างนั้น เหมือนกับว่าเรามีสินค้าเยอะ

แต่เอาเข้าจริงแล้วมันไม่ใช่  เพราะถ้าเราคิดแบบนั้น ทำให้ลูกค้าไม่สามารถรู้ได้ว่า “จุดแข็ง” ของไทยซัมมิทคืออะไร? ชิ้นส่วนที่แข็งแกร่งของไทยซัมมิทเป็นชิ้นส่วนตัวไหน

ดังนั้นการรับมือกับอนาคตใหม่  “ไทยซัมมิท” เราต้องโฟกัส มองดูเรื่อง “กำไร”

การขยายชิ้นส่วนใดดีที่สุด มีความเป็นไปได้มากที่สุด

ไทยซัมมิท พยายามศึกษาจากหลังบ้านออกไปสู่หน้าบ้าน มองและเลือกทำในสิ่งที่ตนเองถนัดควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยี อะไรไม่มีโอกาสเติบโต ไม่ทำกำไร “ตัดทิ้ง” ไป

ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น เทรนด์รถยนต์ไฟฟ้ากำลังมา เราต้องเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย สิ่งแรกที่ต้องเปลี่ยนคือ กระบวนการผลิต ปัจจุบันเราใช้ชิ้นส่วนที่ใช้ “เหล็ก” ในการปั๊มขึ้นรูป

แต่อนาคตเพื่อรองรับรถไฟฟ้า ซึ่งต้องการใช้วัสดุน้ำหนักเบา”อะลูมิเนียม”หรือ “แมกนีเซียม” ต้องเข้ามาแทนที่เหล็ก

หลายคนมองว่า เราต้องลงทุนอีกมหาศาล แต่จริงๆ แล้วเครื่องจักรยังใช้ของเดิม มีเพียงแต่วัสดุที่ใช้อาจต้องเปลี่ยนไปเท่านั้น

ดังนั้นผู้ประกอบการจำเป็นต้องเรียนรู้และพัฒนาเทคโนโลยี กระบวนการผลิต การเลือกใช้วัสดุ ให้เหมาะสมซึ่งผู้ผลิต ไม่ได้เปลี่ยนธุรกิจ เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการ ขั้นตอนรายละเอียดต่างๆ  ด้วยกระบวนการใหม่ๆ

ถือเป็นหนึ่งในการ “ดิสรัปชั่น”เพื่อไปสู่สิ่งใหม่ ๆ