“รถอีวี”เอฟเฟ็กต์รายได้รัฐลดฮวบ คลังบี้เก็บภาษีสินค้ากินไฟในบ้าน

แฟ้มภาพ

คลังตั้งการ์ดรับผลกระทบมาตรการส่งเสริม “รถยนต์อีวี” ฉุดรายได้ภาษีร่วง เร่งศึกษาแนวทางจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าใหม่ ๆ ชดเชยรายได้ที่หายไป แจง ครม.กำลังศึกษาเก็บภาษีสินค้าเชื้อเพลิงทั้งระบบตามการปล่อย CO2 และภาษีเครื่องใช้ไฟฟ้าตามค่าการสิ้นเปลืองพลังงาน

EV เอฟเฟ็กต์เก็บภาษีร่วง

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงการคลังได้รายงานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องข้อสรุปผลการดำเนินการ/ข้อเสนอแนะของหน่วยงานต่าง ๆ ในเรื่องผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษี จากกรณีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนของประเทศไทย ตามที่คณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีผลศึกษาว่า มาตรการส่งเสริมการลงทุนรถอีวีจะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐ โดยเฉพาะภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และเสนอว่า ภาครัฐควรหามาตรการรองรับการจัดเก็บภาษีจากแหล่งอื่นทดแทนรายได้ที่ต้องสูญเสียไป

คลังบี้ภาษีสิ้นเปลืองพลังงาน

ทั้งนี้ กมธ.การเศรษฐกิจฯได้จัดทำข้อสังเกตและข้อเสนอแนะใน 4 ประเด็น คือ 1.หามาตรการรองรับการจัดเก็บภาษีพลังงานในรูปแบบอื่นทดแทนรายได้ที่ขาดหายไป โดยกระทรวงการคลังได้ชี้แจงว่า ขณะนี้กำลังศึกษาแนวทางการปรับโครงสร้างการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าเชื้อเพลิงทั้งระบบ ได้แก่ ถ่านหิน น้ำมัน และผลิตภัณฑ์น้ำมัน ซึ่งใช้หลักการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในการกำหนดอัตราภาษี กล่าวคือหากปล่อยก๊าซ CO2 มาก ก็ต้องเสียภาษีมาก

“การเก็บภาษีเชื้อเพลิงตามการปล่อยก๊าซ CO2 เป็นการสร้างความเป็นธรรมแก่สินค้าเชื้อเพลิงทุกประเภท ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานแต่ละประเภทอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด” แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตยังอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อจัดเก็บภาษีเครื่องใช้ไฟฟ้าตามค่าการสิ้นเปลืองพลังงาน โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าใดมีการใช้พลังงานสูงก็จะเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่า

เพิ่ม “แบตฯ” เข้าร่างภาษีขยะ

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับข้อเสนอเรื่องการจัดเก็บภาษีจากขยะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นั้น ขณะนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยู่ระหว่างการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และซากผลิตภัณฑ์อื่น ๆ พ.ศ. …. ซึ่งจะมีการเพิ่มเติมเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ “แบตเตอรี่รถยนต์” ไว้ในร่างกฎหมายด้วย จากร่างเดิมที่ไม่ได้ระบุไว้

ขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ก็มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมแก่ผู้ประกอบการที่ยื่นแผนการและแนวทางในการกำจัดซากแบตเตอรี่ด้วย

สำหรับข้อกังวลเรื่องผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียมนั้น ทางกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า อาจไม่ใช่ประเด็นที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากรัฐบาลจะมีรายได้จากการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และพลังงานไฟฟ้ามาทดแทน

ภาษีศุลกากรอยู่ในเทรนด์ขาลง

ขณะที่ผลกระทบต่อรายได้ภาษีศุลกากร ทางกระทรวงการคลังได้ชี้แจงว่า การส่งเสริมยานยนต์ขับเคลื่อนไฟฟ้าไม่น่ากระทบต่อการจัดเก็บรายได้ศุลกากรมากนัก เนื่องจากมาตรการยกเว้นอัตราอากรขาเข้ายานยนต์ไฟฟ้า ไม่ได้ยกเว้นเป็นการทั่วไป ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังก็มีนโยบายปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี และขยายฐานภาษีมาโดยตลอด เพื่อเพิ่มรายได้ภาษีและชดเชยการสูญเสียรายได้จากภาษีศุลกากร

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีศุลกากรที่หายไปจากนโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) นั้น ต้องบอกว่าปัจจุบันรายได้ภาษีศุลกากรลดลงตลอดอยู่แล้ว เพราะปัจจุบันการนำเข้ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าจากจีน กรณีเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจะไม่เสียอากรขาเข้า หรือเป็น 0% เนื่องจากมีข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน อย่างล่าสุดที่มีการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนมาทำแท็กซี่ V.I.P. ก็ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า แต่หากเป็นรถโดยสารไฟฟ้าต้องเสียภาษี 30%

“อย่างไรก็ดี จะมีมาตรการ nontariff barriers (อุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี) ในการตรวจสอบเกี่ยวกับแบตเตอรี่ ที่เมื่อหมดอายุใช้งานแล้วกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งก็จะดูว่าผู้นำเข้ามีแผนในการกำจัดอย่างไร” อธิบดีกรมศุลกากรกล่าว

ตั้งศูนย์ช่วยเหลือธุรกิจใน ปท.

นอกจากนี้ กมธ.การเศรษฐกิจฯเล็งเห็นว่า การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนให้ไทยเป็นฐานผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้า ภาครัฐควรมีนโยบายชัดเจนในการส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศให้ครอบคลุมทุกมิติ รวมถึงควรกำหนดมาตรการเพื่อเยียวยาอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สันดาปภายใน ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าด้วย ซึ่งเรื่องนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการจัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีความเปราะบางสูง

ศึกษาอัตราค่าไฟฟ้า “รถอีวี”

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อเสนอของ กมธ.ที่ให้พิจารณาจัดเก็บอัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ประเด็นนี้ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อยู่ระหว่างศึกษา เพื่อกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ คาดว่าผลศึกษาจะแล้วเสร็จภายในปี 2561 จากเดิมที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติได้จัดเก็บค่าไฟฟ้าชั่วคราว สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าที่อัตราเฉลี่ยในช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (peak) 4.20 บาท/หน่วย

ขณะที่รายงานของกระทรวงการคลังกังวลว่า หากมีการจัดเก็บค่าไฟฟ้าเพิ่มอาจส่งผลกระทบต่อดีมานด์การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะหากค่าไฟฟ้าใกล้เคียงราคาน้ำมัน รวมทั้งอาจมีปัญหาความยากลำบากที่จะแยกแยะการจัดเก็บ ว่าเกิดจากการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าหรือไม่ ซึ่ง กกพ.กำลังศึกษาค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม น่าจะเสร็จในปีนี้

คลังเก็บภาษีเชื้อเพลิงตาม CO2

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง กล่าวว่า นโยบายส่งเสริมการผลิตรถอีวีที่รัฐบาลดำเนินการอยู่นั้นจะไม่กระทบกับรายได้ภาษีของรัฐ เพราะหันไปเก็บภาษีน้ำมันเชื้อเพลิง ตามการปล่อย CO2 ทดแทน โดยเชื้อเพลิงใดมีการปล่อยก๊าซ CO2 มาก ก็จะต้องเสียภาษีมากกว่า

“เราส่งเสริมรถยนต์ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้า เพราะต้องการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้าจะสร้างมลพิษน้อย ขณะที่รถยนต์ไฮบริดก็รองลงมา ส่วนพวกน้ำมันเชื้อเพลิง เราก็จะมีการเก็บภาษีตามปริมาณก๊าซ CO2 ที่ปล่อยออกมา” นายวิสุทธิ์กล่าว