โตโยต้าทุ่มอีก 110 ล้าน ชูสาทรโมเดลเฟส2 MOU คมนาคม-กทม-ตำรวจ-จุฬาฯ แก้ไขจราจรในเขตเมืองและปริมณฑล

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ (ซ้าย) นินนาท ไชยธีรภิญโญ (ขวา)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานและร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือด้านวิชาการเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมี นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นตัวแทนของมูลนิธิโตโยต้า โมบิลิตี (Toyota Mobility Foundation) พร้อมด้วย นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสมพงษ์ เวียงแก้ว รองปลัดกรุงเทพมหานคร พลตำรวจโทสุทธิพงษ์ วงษ์ปิ่น ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศาสตราจารย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ร่วมลงนามในพิธีดังกล่าว เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2561   ห้องราชดำเนิน กระทรวงคมนาคม

ทั้งนี้ การลงนามในบันทึกความร่วมมือด้านวิชาการเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นการร่วมมือระหว่าง 6 หน่วยงาน ในระยะเวลา 5 ปี โดยเริ่มจากถนนพระราม 4 ในปลายปีนี้ ถือเป็นการต่อยอดและขยายผลจากแผนงานของโครงการสาทรโมเดล ซึ่งช่วยให้สภาพการจราจรบนถนนสาทรเหนือ จากสี่แยกสาทร ถึงสี่แยกวิทยุ ในชั่วโมงเร่งด่วนเช้าคล่องตัวมากขึ้น ความเร็วของรถเพิ่มขึ้นสูงสุดจาก 8.8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 14.8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ค่าเฉลี่ยการระบายรถเพิ่มขึ้น 422 คันต่อชั่วโมง ไปสู่การปฎิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่อื่นๆ ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งมีการจัดตั้งสถาบันด้านการสัญจรอย่างยั่งยืน (Sustainable Mobility Institute : SMI) เพื่อเป็นองค์ความรู้ด้านวิชาการในการแก้ไขปัญหาการจราจรอย่างยั่งยืนในระยะยาวต่อไป

นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ตัวแทนมูลนิธิโตโยต้าฯ กล่าวว่าสาทรโมเดลเฟสแรกประสบความสำเร็จ ช่วยเรื่องจราจรได้มาก ดังนั้นสาทรโมเดลระยะที่ 2 จะเริ่มจากถนนพระราม 4 สุขุมวิท และเจริญกรุง เชื่อมกับสาทรโมเดลระยะแรก ดำเนินการใน 5 ปี (2561-2565) เตรียมงบประมาณไว้แล้ว 110 ล้านบาท โดยร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) และจุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย

สาทรโมเดลระยะที่ 2 จะเริ่มที่แยกสะพานไทย-เบลเยี่ยม ตัด ถ.วิทยุ ไปด้านขวาบริเวณบ่อนไก่ไปถึงแยกคลองเตย ด้านซ้ายจะไปถึงแยกสามย่าน ซึ่งจุฬาฯ มีโครงการพัฒนาร่วมกับเอกชนคือ “สามย่าน มิดทาวน์” ดังนั้น ถ.พระราม 4 จะเน้นบริหารจัดการจราจรมากที่สุด ได้แก่ จอดแล้วจร, เหลื่อมเวลาทำงาน และเปิดปิดสัญญาณไฟจราจรให้เหมาะสม