ยอดรถหรูโต-อีโคคาร์แผ่ว เผยเทรนด์รถใหม่ปี62 ‘เอสยูวี-เอ็มพีวี’ มาแรงสุด

นายขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธานจัดงาน "มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 35"

“มอเตอร์เอ็กซ์โป 2018” สะท้อนกำลังซื้อพรีเมี่ยมคาร์พุ่งแรงกว่า 10% อีโคคาร์ไม่กระเตื้อง ชี้เทรนด์รถใหม่ปีหน้า เอสยูวี-เอ็มพีวี ยังแรง รูดม่าน 13 วัน มอเตอร์ไซค์แรงทุบสถิติกระจุย กวาดยอดจองกว่า 9 พันคัน รถยนต์แตะ 4.5 หมื่นคัน ผู้จัดปลื้มเงินสะพัด 5.6 หมื่นล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าแนวโน้มความต้องการใช้รถยนต์ของผู้บริโภคชาวไทยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า สัดส่วนยอดขายรถยนต์ประเภทเอสยูวี, พีพีวี และเอ็มพีวี เติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสอดรับกับความต้องการของตลาดโลก ประกอบกับความอเนกประสงค์ ความสะดวกสบายของการใช้งานที่หลากหลาย ส่งผลให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่แนะนำรถยนต์ประเภทนี้ออกสู่ตลาด

เผยเทรนด์รถใหม่ปี62″เอสยูวี-เอ็มพีวี”มาแรง


โดยในปี 2562 คาดว่าจะมีรถยนต์รุ่นใหม่ทั้งโมเดลเชนจ์และไมเนอร์เชนจ์ ไม่ว่าจะเป็นมิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต, อีซูซุ มิวเอ็กซ์, นิสสัน เทอร์ร่า, โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์, ฟอร์ด เอเวอเรสต์ ออกสู่ตลาดต่อเนื่อง

ขณะที่กลุ่มรถเอ็มพีวีหรู อย่าง โตโยต้า อัลพาร์ด และ โตโยต้า เวลล์ไฟร์ ยังคงได้รับความสนใจ รวมถึงรถเอ็มพีวี เจ้าตลาดอย่างฮุนได เอช-วัน และรถในกลุ่มเอ็มพีวี อย่าง มิตซูบิชิ เอ็กซ์แพนเดอร์ ที่เพิ่งเปิดตัวปีนี้ และปีหน้าคาดว่าพี่ใหญ่ โตโยต้า น่าจะมีการขยับส่งอินโนวาใหม่ออกสู่ตลาด

เช่นเดียวกับค่ายซูซูกิ ที่เตรียมเปิดตัวรถยนต์ซูซูกิ เออร์ติก้า คาดว่าปีหน้าจะเห็นความชัดเจน เช่นเดียวกับรถคอมแพกต์เอสยูวีไซซ์เล็กอย่างซูซูกิ จิมนี่ ที่กำลังได้รับความนิยมในตลาดโลก ก็เป็นไปได้สูงที่จะนำเข้ามาในตลาดบ้านเรา

ด้านนายขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธานจัดงาน “มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 35” เปิดเผยว่า งานมอเตอร์เอ็กซ์โป ครั้งที่ 35 (28 พ.ย.-10 ธ.ค.)ที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มี 36 ค่ายรถยนต์ 23 ค่ายรถจักรยานยนต์ เข้าร่วม  รวมทั้งอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องต่าง ๆ โดยตลอดทั้ง 13 วัน มียอดจองรถยนต์ทั้งสิ้น 44,189 คัน เพิ่มจากปีก่อน 10.9% จาก 39,832 คัน ในปีก่อน ขณะที่ยอดจองรถจักรยานยนต์ทำได้ 9,169 คัน เพิ่มขึ้น 18.9% จากปีก่อนที่ 7,711 คัน มีเงินหมุนเวียนราว 56,000 ล้านบาท และมีผู้เข้าชมงาน 1,534,961 คน เพิ่มขึ้น 12.8%

สำหรับ 5 ค่ายรถยนต์ที่มียอดจองสูงสุด ได้แก่ ฮอนด้า 6,842 คัน รองลงมา ได้แก่ มาสด้า 6,509 คัน โตโยต้า 5,907 คัน อีซูซุ 4,437 คัน และ มิตซูบิชิ 3,619 คัน

ส่วนรถจักรยานยนต์นั้น 5 ค่าย ที่มียอดจองสูงสุด ได้แก่ เอ.พี.ฮอนด้า 1,531 คัน รองลงมา ยามาฮ่า 1,111 คัน แลมป์เบสต้า 1,012 คัน คาวาซากิ 775 คัน และ เวสป้า 605 คัน

 

ขณะที่สัดส่วนความนิยมของผู้ซื้อรถยนต์ในงานนั้น พบว่า รถยนต์นั่งยังคงได้รับความนิยมสูงสุด มีสัดส่วนใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา คือ 38.9% จาก 38.7% แบ่งเป็นรถยนต์นั่งซีดาน 25.4% แฮชต์แบก 13.5% รุ่นที่ได้รับความนิยมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ฮอนด้า ซีวิค, ฮอนด้า ซิตี้, มาสด้า 2, ฮอนด้า แจ๊ซ และ เอ็มจี 3

ส่วนรถยนต์นั่งอเนกประสงค์ (เอสยูวีและพีพีวี) มีสัดส่วน 34.3% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อยที่ 33.9% ซึ่งรถที่มียอดจองมากสุดในกลุ่มนี้ ได้แก่ มิตซูบิชิ ปาเจโรสปอร์ต, เอ็มจี แซดเอส, ฮอนด้า ซีอาร์-วี 5 และ ฟอร์ด เอเวอเรสต์รถปิกอัพ ขนาด 1 ตัน มีสัดส่วน 17.2% ลดจาก 17.9% รุ่นที่ขายดี ได้แก่ ฟอร์ด เรนเจอร์, อีซูซุ ดีแมคซ์, มิตซูบิชิ ไทรทัน, โตโยต้า รีโว่ และนิสสัน นาวาร่า

เช่นเดียวกับตลาดรถหรู ที่ยอดจองรวมที่ 4,213 คัน 5 ค่ายที่มียอดสูงสุด ได้แก่ เมอร์เซเดส-เบนซ์ 2,244 คัน, บีเอ็มดับเบิลยู 1,212 คัน, วอลโว่ 340 คัน, ออดี้ 198 คัน และปอร์เช่ 169 คัน ส่วนราคาเฉลี่ยของรถที่จองในงานเพิ่มจากปีก่อนที่ 1,271,837 บาท เป็น 1,286,898 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กระแสความนิยมสำหรับรถหรูที่เพิ่มขึ้นอย่างล้นหลาม มีอัตราเติบโตสูงกว่า 10% ขณะที่กลุ่มอีโคคาร์ไม่เติบโตเลย สะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อยังไปอยู่กับกลุ่มคนมีเงิน ประกอบกับอีโคคาร์ระยะหลังมีราคาเพิ่มขึ้นมากขณะที่อรรถประโยชน์เป็นรองเซ็กเมนต์อื่น ๆ อยู่มาก

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!