เพิ่มศักยภาพอุตฯรถอีวี ตั้งกองทุนบี้รีไซเคิลแบต

คลังชง ครม.ตั้งกองทุนส่งเสริมรถอีวี คุมเข้มรีไซเคิลแบตเตอรี่ กำหนดเพดานไม่ทำตามโทษปรับจำคุกไม่เกิน 1 ปี หลายฝ่ายเชื่อช่วยป้องรถอีวีจีนได้เพียบ

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 อย่างแท้จริง โดยเฉพาะการผลักดันเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า ล่าสุดได้มีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและการบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว โดยได้ยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อตั้งกองทุนดังกล่าวตอนนี้เปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในสัปดาห์นี้

“หลักการที่ต้องมีกองทุนขึ้นมาคือในการผลิตรถยนต์ไฮบริด เวลายื่นขอรับการส่งเสริมจาก BOI ผู้ผลิตจะต้องมีแผนจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้วด้วย โดยหากไม่ได้ทำตามแผนจะถูกเรียกเก็บเงินเข้ากองทุน ซึ่งตามร่างกฎหมายกำหนดเพดานไว้ที่ 1 ล้านบาทต่อแบตเตอรี่ 1 ลูก ซึ่งราคารถยนต์อนาคตจะขึ้นอยู่กับแบตเตอรี่ไม่ต่ำกว่า 50% ของราคาขายรถแต่ละคัน ดังนั้น การบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้วจึงมีความจำเป็น”

ทั้งนี้ สำหรับร่าง พ.ร.บ.กองทุนส่งเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและการบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว กำหนดให้จัดตั้งกองทุนขึ้นมา โดยมีฐานะเป็นนิติบุคคล วัตถุประสงค์ คือ 1) สนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า 2) สนับสนุนและส่งเสริมการกำจัดและรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ 3) พัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการกำจัดและรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ถูกวิธีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 4) สนับสนุนการลงทุนหรือช่วยเหลือผู้ประกอบการในระบบกำจัดหรือรีไซเคิลแบตเตอรี่ 5) สร้างความตระหนักถึงการกำจัดและรีไซเคิลแบตเตอรี่อย่างมีระบบและถูกวิธี และ 6) ดำเนินการอื่นใดเกี่ยวกับการบริหารกองทุนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์

กองทุนดังกล่าวมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐในกำกับของกรมสรรพสามิต โดยมีคณะกรรมการกองทุนที่มีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธาน คณะกรรมการกองทุนจะมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายการบริหารงาน กำหนดอัตราค่าธรรมเนียม อัตราดอกเบี้ยสำหรับการกู้เพื่อสร้างระบบการกำจัดและรีไซเคิลแบตเตอรี่ รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์ในการรับเงินอุดหนุนของกองทุน

ทั้งนี้ กองทุนจะมีอำนาจจัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมตามที่คณะกรรมการประกาศ แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อแบตเตอรี่ 1 ใบ โดยผู้ผลิตหรือนำเข้าสินค้าและแบตเตอรี่ มีหน้าที่นำส่งเงินค่าธรรมเนียมสำหรับแบตเตอรี่ที่ผลิตหรือนำเข้าแล้วแต่กรณี พร้อมชำระภาษีสรรพสามิต หากไม่นำส่งหรือส่งไม่ครบ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5 เท่าถึง 20 เท่าของเงินค่าธรรมเนียมที่ต้องนำส่งหรือที่นำส่งไม่ครบถ้วน หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากนำส่งเกินเวลาที่กำหนดจะต้องเสียเงินเพิ่มในอัตรา 1.5% ต่อเดือน ขณะที่ผู้ผลิตหรือนำเข้าแบตเตอรี่ต้องแจ้งการผลิตหรือนำเข้าแบตเตอรี่ให้คณะกรรมการทราบทุกครั้งก่อนการผลิตหรือนำเข้า หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ในปัจจุบัน ขณะนี้ทางกรมสรรพสามิตก็ได้เริ่มพิจารณาปรับปรุงใหม่ เพราะต้องปรับทุก 5 ปีอยู่แล้ว ตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ซึ่งกรณีที่มีผู้ประกอบการเรียกร้องให้ปรับช่วงอัตราภาษีตามปริมาณปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ใหม่ เพราะมองว่าช่วงอัตราภาษีปัจจุบันห่างกันเกินไป

“เรื่องตั้งกองทุนแบตเตอรี่น่าสนับสนุนมาก เพราะทุกภาคส่วนต้องมีความรับผิดชอบ และอนาคตประเทศไทยจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น มาตรการนี้ก็น่าจะทำให้เราแข่งขันกับต่างประเทศโดยเฉพาะรถไฟฟ้าจากจีนได้เป็นอย่างดี”