อีโคอีวีมาเร็วเชื่อไม่ตอบโจทย์ ผู้ประกอบการเมินขอเดินตามโรดแมปเดิม

ค่ายรถเมินลงทุนอีโคอีวี อ้างขอเวลาศึกษาก่อน 1 ปี ชี้ควรมีระยะเวลาให้เตรียมตัว ย้ำผู้ประกอบการเดินหน้าตามนโยบายรัฐ ทั้งอีวี ปลั๊ก-อินไฮบริดและไฮบริด

นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยภายหลังหารือค่ายรถยนต์เกี่ยวกับการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัด (อีโค อีวี) ว่า เบื้องต้นมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ 3 รายตอบรับและเข้าร่วมหารือเพื่อรับฟังข้อเสนอ รวมถึงแนวทางส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าระยะแรก ได้แก่ โตโยต้า ฮอนด้า และนิสสัน จากที่ได้เชิญผู้ผลิตเข้าหารือทั้งสิ้น 4 ราย แต่ตรีเพชรอีซูซุผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถปิกอัพไม่ได้เข้าร่วม 1 ราย ประกอบกับการหารือผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทุกรายแบบรายบริษัทหลายครั้งก่อนหน้านี้

ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าขณะนี้ยังไม่พร้อมที่จะลงทุนผลิตรถยนต์อีโคอีวีโดยผู้ผลิตมีข้อท้วงติงว่าปัจจุบันคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนหลักและลดหย่อนภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) อยู่แล้ว อีกทั้งหากรัฐจะมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนอีโคอีวี สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊ก-อินไฮบริด (PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ในภาวะที่ตลาดยังไม่ได้มีความต้องการมากนัก อาจยังไม่จูงใจให้เกิดการลงทุน เพราะไทยก็ยังไม่มีความพร้อมเรื่องสถานีชาร์จไฟฟ้ามารองรับด้วย

“ค่ายรถยนต์เห็นว่าขณะนี้ยังไม่ควรเร่งส่งเสริมให้เกิดการลงทุนอีโค อีวี เพราะมีมาตรการภาษีส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดที่ดีอยู่แล้ว จึงควรรอให้มาตรการดังกล่าวสิ้นสุดลงก่อนใน

ปี 2568 เพราะไม่ต้องลงทุนสูงในการผลิตชิ้นส่วนหลักของรถยนต์ไฟฟ้า 4-6 ชิ้นในประเทศภายใน 3 ปี ตามเงื่อนไขของ สศอ. ซึ่งระหว่างนี้ค่ายรถยนต์ขอกลับไปศึกษาความพร้อมและแนวทางการลงทุนก่อน แล้วค่อยกลับมาคุยกันอีกครั้งหลังจากนี้อีก 1 ปี”

ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่าผู้ผลิตรถยนต์ 91.8% ของรถยนต์ที่ทุกบริษัทเสนอขอรับการสนับสนุนไม่มีการลงทุนในชิ้นส่วนหลักของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเลย โดยเป็นการประกอบขั้นปลายสุด คือ ประกอบตัวถังและทดสอบแบตเตอรี่ แต่รถยนต์ทุกคันที่ทุกบริษัทเสนอขอรับการสนับสนุนมีราคาสูง 1-6 ล้านบาท จึงเป็นเรื่องยากที่ประชาชนผู้ใช้รถยนต์ส่วนใหญ่จะเข้าถึงได้ ซึ่งมองว่าย่อมไม่สามารถจำหน่ายได้อย่างแพร่หลายหรือมีขนาดการผลิตที่เพียงพอสำหรับการลงทุนผลิตชิ้นส่วนในประเทศ

นอกจากนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ 79.8% ของรถยนต์ทุกคันเป็นการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดที่ไม่สามารถชาร์จไฟฟ้าได้ จึงไม่เอื้อให้เกิดการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าที่จำเป็นต่อการพัฒนาไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัดได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการภาษีจากการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดในระยะแรก

นายณัฐพลกล่าวว่า นอกจากรถยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัดจะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้าได้ในราคาถูกที่ประมาณ 500,00-600,000 บาทแล้ว ยังช่วยให้เกิดการลงทุนผลิต

ชิ้นส่วนหลัก เช่น มอเตอร์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ ระบบควบคุมการขับขี่ ทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี เกิดการพัฒนาโครงข่ายการพัฒนาไฟฟ้า ช่วยพัฒนาการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัดไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต

อย่างไรก็ตาม สศอ.จะจัดทำข้อสรุปแนวทาง/ความคิดเห็น/ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะต่าง ๆ รายงานให้กระทรวงอุตสาหกรรมทราบ เพื่อพิจารณาตัดสินใจว่าประเทศไทยและอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะเดินออกจากข้อติดขัดของการพัฒนารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าต่อไปหรือไม่อย่างไร

แหล่งข่าวจากค่ายรถยนต์รายใหญ่ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากการเข้าหารือครั้งนี้เชื่อว่าภาครัฐมีความเข้าใจมากขึ้น ว่าสิ่งที่ค่ายรถยนต์ได้ลงทุนไปก่อนหน้านี้ ได้เดินไปตามโรดแมปที่ชัดเจน ซึ่งทางรัฐบาลได้กำหนดไว้ ตั้งแต่โครงการโปรดักต์แชมเปี้ยนตัวที่ 1 อย่างปิกอัพ หรือตัวที่ 2 อย่างอีโคคาร์เฟส 1 และเฟส 2 รวมทั้งนโยบายส่งเสริมการลงทุน รถยนต์ไฮบริด

ปลั๊ก-อินไฮบริด และรถอีวี ซึ่งทุกอย่างมีโอกาส และระยะเวลาของแผนงานที่แน่นอน โดยมีระยะเวลาที่เหมาะสมในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และการที่รัฐบาลจะมีโครงการใหม่เข้ามาแทรก ผู้ประกอบการมองว่าไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม เพราะแผนงานต่าง ๆ ได้ถูกวางตามโรดแมปแล้ว

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรมีระยะเวลาที่เพียงพอให้ผู้ประกอบการได้ตัดสินใจด้วย เช่นในปี 2568 จะเริ่มใช้อัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ ซึ่งยังมีสำหรับเรื่องนี้อีกพอสมควร และเทคโนโลยีอาจจะขยับไปก็ได้

“เราเข้าใจว่าเจตนาของรัฐบาลนั้นต้องการผลักดันให้รถอีโค อีวีเกิดเหมือนอีโคคาร์ แต่ค่ายรถยนต์ไม่ได้คาดหวัง เพราะหลายสิ่งที่ค่ายรถยนต์ทำกันอยู่ก็เดินไปตามนโยบายรัฐอยู่แล้ว และหวังว่าการหารือครั้งนี้จะทำให้เกิดความเข้าใจระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น”