ผู้ผลิตชิ้นส่วนปรับทัพรับรถยนต์ไฟฟ้า กลุ่มทุนลุยผุดสถานีชาร์จทั่วประเทศ

ตอบรับเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้ามาแรง ส.ยานยนต์ฯระบุปี 2561 มียอดสะสมเกือบ 2,000 คันรวมปีนี้ทะลุหมื่นคัน ค่ายชิ้นส่วนปรับทัพอุตลุดหลังผู้ผลิตเริ่มมองหาพันธมิตร โหมลงทุนเน้นเทคโนโลยีน้ำหนักเบา กลุ่มทุนใหญ่-กลาง-เล็ก แห่ลงทุนโครงข่ายสถานีชาร์จ “อีเอ” ตั้งเป้าปีนี้พันแห่ง

กระแสตอบรับเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวีมาแรงมาก โดยเฉพาะในงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีค่ายรถยนต์นำเสนอรถยนต์ไฟฟ้า 7-8 รุ่น ตั้งแต่ออดี้ อีตรอน, จากัวร์ ไอ-เพซ, ฮุนได โคน่า, นิสสัน ลีฟ, ไมน์ สปาวัน และฟอมม์ นอกจากนี้ ค่ายเอ็มจียังได้นำรถยนต์ต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้า เอ็มจี แซดเอส มาอวดโฉมด้วย ซึ่งหลังสิ้นสุดงานมีรายงานว่า กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้ามียอดจองสูงถึง 6,166 คัน ส่งผลให้บรรดาผู้ผลิตชิ้นส่วนต้องเร่งมือกับการปรับตัวเพื่อรองรับกับเทรนด์ใหม่ที่กำลังมาอย่างคึกคัก

ชิ้นส่วนเริ่มขยับตัว 

นางอัชณา ลิมป์ไพฑูรย์ อดีตนายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนหลายรายได้รับการทาบทามจากค่ายรถยนต์ที่สนใจขยายตลาดรถยนต์ไฟฟ้า อาทิ กลุ่มอีเอ และฟอมม์ เพื่อทำหน้าที่ซัพพลายชิ้นส่วนให้กับโรงงานผลิต แต่ก็เชื่อว่าแนวโน้มของรถยนต์ไฟฟ้าอาจจะใช้เวลาอีกพักใหญ่

สำหรับการปรับตัวของกลุ่มชิ้นส่วนก่อนหน้านี้ กลุ่มไทยซัมมิทถือเป็นเจ้าแรก ๆ ที่มีการเคลื่อนไหวชัดเจน เริ่มตั้งแต่ผลิตตัวถังน้ำหนักเบาให้ค่ายรถยนต์เทสล่า และส่งออกชุดสายไฟจากโรงงานชลบุรีไปอเมริกา โดยมั่นใจว่าเทรนด์อุตฯรถยนต์จากนี้ไปก็คือ รถยนต์ไฟฟ้า, ระบบโมบิลิตี้ คาร์ออนดีมานด์ หรือการใช้รถเมื่อต้องการใช้ โดยไม่ต้องเป็นเจ้าของ และระบบอัตโนมัติ ไทยซัมมิทจึงลงทุน กับศูนย์ทดสอบ 3-4 แห่ง มูลค่า 300-400 ล้าน เพื่อพัฒนาวัตถุดิบกระบวนการผลิต และการออกแบบใหม่ ๆ ที่สามารถทำให้น้ำหนักเบาขึ้น

ชี้ใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี 

ขณะที่นายกรกฤช จุฬางกูร ประธานบริหาร บริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด ยอมรับกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รถยนต์ไฟฟ้ายังมีต้นทุนการผลิตและราคาขายสูง หลาย ๆ ประเทศรัฐบาลให้การส่งเสริมผู้บริโภคเพื่อให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น แต่สำหรับประเทศไทยอาจต้องใช้เวลาอีกระยะ ยิ่งถ้าค่ายญี่ปุ่นไม่กระโดดลงมาเล่นและช่วยผลักดันให้สามารถผลิตรถไฟฟ้าในราคาที่ถูกลงได้ คงลำบาก

“การผลิตรถอีวีต้องพึ่งพาตลาดในประเทศ ถ้าตราบใดที่ค่ายญี่ปุ่นยังไม่สามารถทำราคาให้ต่ำลงได้ โอกาสรถประเภทนี้ในประเทศไทยเองคงเกิดยาก และเชื่อว่าคนไทยจะไม่ซื้อรถยนต์อีวีที่ขนาดตัวถังเท่ากับอีโคคาร์ในระดับราคาล้านกว่าบาทอย่างแน่นอน โดยส่วนตัวเชื่อว่าประเทศไทยจะใช้ระยะเวลาอย่างน้อยอีก 10 ปี ที่จะเดินไปสู่อีวีได้”

แต่ในฐานะเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ขนาดใหญ่ การพัฒนาวัสดุใหม่ให้บางและเบา รวมถึงเครื่องจักรหลักที่ใช้ผลิตอยู่ปัจจุบันจะสามารถนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ร่วมกันกับเครื่องจักรที่มีอยู่เดิมอย่างไรบ้าง ปัจจุบันจึงได้มีการส่งเสริมให้เกิดงานด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรในการออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ รองรับการขับเคลื่อนธุรกิจยานยนต์ที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต

แห่ลงทุนสถานีชาร์จรองรับ 

นายธนพัชร์ สุขสุธรรมวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด ในเครือบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความนิยมในรถยนต์ไฟฟ้าชัดเจนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เอ็มพีวี สปาวัน รถอีวีของคนไทยที่เอาเข้าไปร่วมงานมอเตอร์โชว์ มีลูกค้าเข้ามาลงทะเบียนจองสิทธิ์มากถึง 4,558 คัน และมีผู้ลงทะเบียนออนไลน์เพิ่มเข้ามาอีกเป็น 4,562 คัน ก่อนที่จะเปิดตัวในช่วงปลายปีนี้ และพร้อมส่งมอบปีหน้า

“ในจำนวนนี้มีกลุ่มสหกรณ์แท็กซี่ทำเอ็มโอยูกับเรามากถึง 3,500 คัน ซึ่งจริง ๆ แล้วเขามีความต้องการมากกว่านี้ แต่เนื่องจากเราเกรงว่าจะติดปัญหาเรื่องการผลิตและส่งมอบ จึงได้ทำข้อตกลงลอตแรกไว้แค่นั้น ส่วนความคืบหน้าของการติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ขณะนี้ได้ติดตั้งไปแล้วกว่า 400 แห่งทั่วประเทศ และบริษัทจะพยายามทำให้ครบตามเป้าหมาย 1,000 แห่งภายในปีนี้ หลังจากได้เพิ่มงบประมาณในการก่อสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าจาก 600 ล้านบาท เป็น 800 ล้านบาท”

นางวชิรญาณ์ การุณกรสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท พร้อมชาร์จ จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ภายใต้แบรนด์ “อีคิว” จากประเทศอังกฤษ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงความคืบหน้าการติดตั้งเครื่องชาร์จไฟฟ้าตามเป้าหมาย 1,000 เครื่อง ภายในระยะเวลา 10 เดือน (ต.ค. 2561-ก.ค. 2562) ว่า คืบหน้าไปมาก บริษัทจำหน่ายในรูปแบบของการขายผ่านไปสู่ลูกค้าผู้ใช้งานโดยตรง และช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านพันธมิตรทางธุรกิจอย่างศูนย์บริการรถยนต์ คลินิกรักษาความงามยานยนต์มืออาชีพ อย่าง “โปลิ-เคม” และศูนย์บริการคาร์สปาควบคู่กัน เพื่อสร้างโอกาสในการทำตลาดเพิ่มมากขึ้น บริษัทเห็นโอกาสและเทรนด์ของอุตสาหกรรมยานยนต์และพฤติกรรมของผู้ใช้รถยนต์ส่วนใหญ่เริ่มมีการปรับเปลี่ยนและให้ความสำคัญไปสู่รถยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้ามากขึ้น บริษัทในฐานะผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ครบวงจร เชื่อว่ายิ่งมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับเพียงพอก็จะทำให้รถยนต์ไฟฟ้ามาได้เร็วขึ้น

ด้าน ดร.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เปิดเผยว่า ในปี 2561 ที่ผ่านมา พบว่ารถยนต์ไฟฟ้าแบบ 100% หรือ battery electric vehicle (BEV) นั้น มียอดขายสะสม 1,454 คัน แบ่งเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 1,100 คัน รถยนต์ 201 คัน รถโดยสารไฟฟ้า 85 คัน รถสามล้อไฟฟ้า 58 คัน รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊ก-อิน ไฮบริด ประมาณ 10,000 คัน

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!