“EV” ในจีนเสี่ยงฟองสบู่แตก รัฐอุ้มจน “ซัพพลายล้น”?

นอกจากกระแสของ “รถยนต์ไฟฟ้า” (EV) ทั่วโลกที่กำลังมาแรง รัฐบาลจีนได้ส่งเสริมอย่างเต็มที่ เพื่อหวังจะช่วยบรรเทาสภาวะ”มลพิษทางอากาศ” โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2025 ยอดขายรถยนต์ที่ใช้พลังงานแบบใหม่ ทั้งรถแบตเตอรี่ไฟฟ้า และรถไฮบริด จะเพิ่มขึ้นเป็น 7 ล้านคันต่อปี หรือคิดเป็น 20% ของตลาดรถยนต์ทั้งหมดในจีน

บลูมเบิร์กรายงานว่า กว่า 15 ปีแล้วที่รัฐบาลจีนให้งบประมาณสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตและพัฒนารถไฟฟ้ามาตลอดตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา ไปจนถึงการให้เงินอุดหนุนผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาตั้งแต่ 20,000-44,000 หยวน/คันทำให้ในปัจจุบันมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนในจีนมากถึง 486 รายเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

นายโทมัส ฝาง ผู้ให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์ของ Roland Berger ในเซี่ยงไฮ้กล่าวว่า มีคาดการณ์ว่ากลุ่มบริษัทพัฒนาและผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหลายร้อยแบรนด์ในจีน จะสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้มากถึง 1.6 ล้านคันในปีนี้ ซึ่งยังไม่รวมเป้าหมายการผลิตจากผู้ผลิตรถยนต์ดั้งเดิม ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ โตโยต้าและฮอนด้าได้ประกาศเตรียมจะรุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในจีนด้วยเช่นกัน

นโยบายสนับสนุนของรัฐบาลเป็นหนึ่งในปัจจัยดึงดูดให้บริษัทผู้ผลิตรถเข้ามาในตลาดจีน แต่เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังของจีนประกาศเตรียมจะตัดงบประมาณสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2020 ดังนั้นมองว่าจะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะตัดสินว่าใครจะรอดในอุตสาหกรรมนี้

นักวิเคราะห์หลายคนเคยแสดงความกังวลว่า จะเกิดภาวะฟองสบู่แตกในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในจีนหรือไม่ เพราะแม้ว่าในปัจจุบันจะมีรถหลากหลายแบรนด์เกิดขึ้น และมีกำลังการผลิตที่มากขึ้น แต่ในปี 2018 พบว่า ตัวเลขยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในจีน ที่รวมทั้งแบบแบตเตอรี่, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด, ไฮบริด และฟิวเซล คิดเป็นเพียง 4% ของตลาด

รถยนต์ทั้งหมดในจีน ซึ่งมียอดจำหน่ายรวมกว่า 23.7 ล้านคัน

รายงานระบุอีกว่า ในตลาดโลกนั้นมีสตาร์ตอัพหลายสิบรายที่เข้าสู่ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าระดับโลก และสามารถระดมทุนได้รวมกันเกินกว่า 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่ปี 2011 ซึ่งกลุ่มที่ได้เงินทุนสูงล้วนเป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนทั้งสิ้น เช่น NIO, WM Motor, Xpeng Motors และ Youxia Motors

อย่างไรก็ตาม ในจำนวนเงินดังกล่าวที่ได้จากการระดมทุนนั้น ส่วนใหญ่กลับถูกนำมาใช้เพื่อ “การสร้างแบรนด์” และพัฒนานวัตกรรม ไม่ใช่สำหรับการยกระดับภาคการผลิต นักวิเคราะห์ในวงการรถยนต์อีวีมองว่า กำลังการผลิตตามเป้าหมายก็คือ 3.9 ล้านคัน/ปี ถือว่าเป็นไปได้ยาก และอาจทำกำไรได้ลำบาก แม้ว่าตลาดจีนจะเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหญ่

ในแง่ของผู้บริโภค และปี 2018 ที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์อีวีทะลุ 1 ล้านคันเป็นครั้งแรก แต่สาเหตุก็มาจากการอุดหนุนราคารถยนต์อีวีของรัฐบาล ขณะเดียวกันดีมานด์การซื้อรถยนต์อีวีจริง ๆ ในตลาดจีนยังไม่สูงพอ

ดังนั้น หากมาตรการตัดงบฯช่วยเหลือในอุตฯรถยนต์อีวีมีผลบังคับใช้ เป็นไปได้ที่บริษัทกว่า 400 ราย อาจจะเหลือเพียงไม่กี่สิบรายเท่านั้น เพราะพวกเขาสามารถอยู่รอดทำธุรกิจได้ในปัจจุบัน จากการช่วยเหลือไม่ใช่กำไรที่เกิดขึ้นจริง

นอกจากนี้ ภาพรวมของตลาดรถยนต์แบบดั้งเดิมในจีนก็ลดลง 10 เดือนต่อเนื่อง นับตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอการเติบโตลง รวมไปถึงความตึงเครียดของสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกา ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในด้านการใช้จ่ายเกือบทั้งหมด

ทั้งนี้ นายคุ่ย ด่องชู เลขาธิการทั่วไปของสมาคมรถยนต์โดยสารแห่งชาติจีน กล่าวว่า แนวโน้มที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์อีวีของจีน โดยเฉพาะในกลุ่มสตาร์ตอัพ จะถูกบีบให้ออกไปจากตลาดเป็นไปได้สูง ขณะที่ก่อนหน้านี้แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าดั้งเดิม อาทิ BYD, Volkswagen และ BMW ก็ต่างพยายามอย่างหนักที่จะเข้ามาแย่งมาร์เก็ตแชร์ในตลาดนี้ รวมไปถึง Tesla ที่เตรียมเปิดโรงงานผลิตในจีน

“ดีมานด์ที่ไม่สอดคล้องกับซัพพลายงบประมาณที่รัฐเคยสนับสนุนอาจสูญสลายไป เหลือเพียงแบรนด์เก่าแก่สตาร์ตอัพน้องใหม่ของจีนที่พยายามมาร่วมอุตสาหกรรมนี้ อาจกลายเป็นผู้แพ้”