สมโภชน์ อาหุนัย มอง “Game Changer” สร้าง “แวลูธุรกิจ” สู่ “บิ๊กรีเทิร์น”

“สมโภชน์ อาหุนัย” ซีอีโอ บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ (EA) ขึ้นเวทีสัมมนา Game Changer Part II เกมใหม่ เปลี่ยนอนาคต ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

เขาเห็นการเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่ประเทศไทยโตด้วยทรัพยากรที่มีอยู่เยอะแยะมากมาย แล้วก็ทำหน้าที่รับจ้างผลิตสินค้า ส่งออก ได้ค่าจ้างแรงงาน แต่ทุกวันนี้ประเทศเริ่มมีปัญหามีคนสูงอายุเยอะ สุดท้ายประเทศก็ติดบ่วงเรื่องรายได้ปานกลาง เขาเชื่อว่าการทำหน้าที่ผู้ผลิตโดยซื้อเทคโนโลยีมาใช้เพื่อผลิตไม่สามารถตอบได้ว่า ประเทศจะเติบโตไปอย่างไร เพราะฉะนั้น สิ่งเดียว คือ “ต้องเปลี่ยน”

เปลี่ยนทุกอย่างให้มีคุณค่า

สมโภชน์ยกตัวอย่างบริษัท อีเอ พยายามมองต่าง โดยบอกกับตัวเองว่า ต้องสร้างเทคโนโลยีเอง เปลี่ยนจากเซอร์วิสต่าง ๆ ที่เป็นเทรดดิชั่นนอลให้มีแวลูแอดเดรสให้มากขึ้น และคนที่จะอยู่รอดต่อไปในอนาคตไม่ใช่คนที่ฉลาดเท่านั้น แต่ต้องยกระดับตัวเองได้อย่างเหมาะสม เขาย้อนให้ดูว่า อีเอในอดีต ปี 2009 เริ่มจากการทำไบโอดีเซล ซึ่งตอนนั้นประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมผลิตภัณฑ์ในประเทศทดแทนการนำเข้า อีเอก็เอาปาล์มมาผลิต ต่อมากระแสเรื่องพลังงานทดแทนโดดเด่นขึ้น ก็ขยายไปทำโซลาร์ฟาร์มในปี 2011 จากนั้นอีกไม่กี่ปี เขาก็กระโดดไปลงทุนเพิ่ม “วินด์ฟาร์ม”

“เราก็มองว่าของที่มีอยู่นั้นมันไม่สามารถสร้างการเติบโตให้กับบริษัทในอนาคต เพราะแวลูมีน้อย หนำซ้ำทุกคนรู้จักพลังงานทดแทนมากขึ้น การแข่งขันมากขึ้น ผลตอบแทนจากการลงทุนก็น้อยลงเรื่อย ๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้เรานึกถึงนิวแชปเตอร์ของอีเอ”

ก้าวสู้ธุรกิจสตอเรจ

สมโภชน์กล่าวอย่างภาคภูมิว่า เขาตัดสินใจก้าวสู่ธุรกิจเอนเนอร์จี้สตอเรจ และคิดไกลไปถึงอีวีชาร์จจิ้งสเตชั่น เพื่อให้รถอีวีที่กำลังจะมาเติบโตได้เร็วขึ้น และพร้อมกับลงทุนในธุรกิจอีวีด้วย

“เราเป็นเจ้าแรกที่สร้างรถยนต์อีวี สัญชาติไทยและขยับไปอีเฟอร์รี่ ตามมาด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์มต่าง ๆ ส่วนของเก่าก็ต่อยอดไบโอดีเซลเก่าให้เป็นกรีนดีเซล”

สร้างผลตอบแทนสู่ผู้ลงทุน

จุดหนึ่งที่อีเอแตกต่างคือ ผลผลิตเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีของคนไทยซึ่งพัฒนาขึ้นมาเอง อีเอไม่ได้ซื้อเทคโนโลยี ทุกอย่างทำเอง ออกแบบโซลาร์ฟาร์มตั้งแต่ต้นจนจบ แล้วสุดท้ายก็เข้าไปโอเปอเรต สมโภชน์ระบุว่า นี่คือ “ดีเอ็นเอ” ของอีเอ ซึ่งนำมาต่อยอดธุรกิจได้ดีมาก

เขาเชื่อว่ายุคต่อไปของประเทศไทย ต้องมีนวัตกรรม ถ้าไม่มี ยืนอยู่ในสังคม หรือการค้าโลกที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูงไม่ได้แน่ เขายืนยันว่า เพราะประเทศไทยไม่ได้มีทรัพยากรเหมือนเก่า จำเป็นต้องสร้างนวัตกรรม สร้างแวลู

บุกเบิกโอลิโอเคมิคอล

อีเอนำวัสดุจากพืชมาเพิ่มมูลค่า เรียกว่าเป็น โอลิโอเคมิคอล พัฒนาเป็นกรีนดีเซล หรือน้ำมันดีเซลสังเคราะห์ที่เกิดจากพืช 100% สามารถใส่เครื่องยนต์ได้แบบไม่มีข้อจำกัด เขาสามารถเพิ่มมูลค่าน้ำมันปาล์ม นวัตกรรมตัวนี้ อีเอวิจัยพัฒนา และก็ไปจดลิขสิทธิ์ไว้เรียบร้อยแล้ว โรงงานทำไพลอตแพลนนิ่งแล้ว คาดว่าจะเสร็จสิ้นประมาณปลายปี 2562 นี้ คาพาซิตี้ 1 ลิตรต่อชั่วโมง กำลังเล็งขยายเฟส 2 เพิ่มขึ้นไปอีก

ตัวที่สองที่อีเอมองคือ รถยนต์อีวี เชื่อว่ามาแน่ ดังนั้นเขามองข้ามไปอีกขั้นว่า อีเอควรจะมุ่งไปที่แบตเตอรี่เพื่อเก็บพลังงาน มีการพัฒนาสารเก็บความร้อนเรียกว่า พีซีเอ็ม ซึ่งสารตัวนี้เวลาอุณหภูมิร้อนจะดูดความร้อนเก็บเข้าไป พอกลางคืนจะคลายความร้อน ในญี่ปุ่นมีโครงการซีโร่อิมิชั่นเฮาซิ่ง หรือโครงการที่ทำให้บ้านใช้พลังงานน้อยที่สุด เอาสาร

ตัวนี้นำไปใช้ กลางวันไม่ต้องเปิดแอร์ ใช้สารตัวนี้ดูดความร้อน พอกลางคืน อากาศเย็นลง สารตัวนี้ก็จะคลายความร้อนออกมา อีเอเป็นบริษัทแรกที่ผลิตสารตัวนี้ได้จากพืช จดลิขสิทธิ์ทั่วโลกแล้วเช่นกันมีการนำไปให้ลูกค้าทดสอบ ได้การตอบรับที่ดี เขาย้ำว่าพีซีเอ็มมีมานานแล้ว แต่ยังไม่มีใครทำมาจากพืชเหมือนอีเอ

สมโภชน์ฉายภาพกลับมาด้านพลังงาน เขาบอกว่าโลกเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยนตามให้เร็ว ปกติไฟฟ้ามาจากโรงไฟฟ้า ส่งตามสายมาถึงบ้านผู้ใช้ไฟ โลกเปลี่ยนมีโซลาร์เซลล์เกิดขึ้น โครงสร้างของธุรกิจพลังงานเปลี่ยน มีการพูดถึง ดีคอนเวอร์ไนซ์ การผลิตพลังงาน โดยเกิดคาร์บอนอิมิชั่นน้อยที่สุด และดีเซ็นเตอร์ไลน์ การสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วไปมากขึ้น

สู่สมาร์ทเอนเนอร์จี้ซิสเต็ม

เขายังมองลึกไปถึงวิธีการดิสทริบิวชั่นเอนเนอร์จี้ ตอนนั้นเองเกิดคำว่า สมาร์ทเอนเนอร์จี้ซิสเต็ม พอระบบซับซ้อน ระบบการจัดการแบบเดิม ๆ ใช้ไม่ได้ อีเอเห็นสิ่งเหล่านี้ ถ้าจะอยู่รอดให้ได้ต้องปรับให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งนี่เองคือ “ยุทธศาสตร์” อีเอคิดว่าต้องทำอะไรบ้าง เพื่อตอบโจทย์ และคำตอบง่าย ๆ คือ มองว่าอะไรที่เปลี่ยนบ้าง ยืนตรงไหน และอะไรที่จะทำให้เกิดการเติบโต ซึ่งเมื่อนำมาวิเคราะห์แล้ว เกมเชนจ์ นั่นคือ แบตเตอรี่

พลังงานทดแทนมาจากธรรมชาติ ไม่สามารถคอนโทรลได้ในเวลาที่เราต้องการ สิ่งที่ขาดหาย คือ สิ่งที่จะกักเก็บเพื่อเอามาใช้ในเวลาที่ต้องการ แบตเตอรี่ คือ สิ่งที่มีความจำเป็นที่สุด และจะทำให้อุตฯพลังงานเติบโตอย่างยั่งยืน เมื่อได้คำตอบ เขาลงทุนสร้างโรงงานแบตเตอรี่เริ่มต้น 1 จิกะวัตต์อาวร์ และขยายไป 50 จิกะวัตต์อาวร์ ตอนนี้ใหญ่สุด คือ เทสล่า แต่แค่ 35 จิกะวัตต์อาวร์เท่านั้น

อีเอจับมือกับสถาบัน ตปท.ในไต้หวัน ร่วมกันพัฒนาแบตใหม่ ๆ ในอนาคต เขายืนยันว่าการเข้าสู่อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ ไม่ใช่สุดท้าย มันแค่เริ่มต้น เป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตและเปลี่ยนแปลงสูง เพราะฉะนั้น ต้องมีพาร์ตเนอร์และทันสมัย แข่งขันในตลาดโลก

แบตเตอรี่เอาไปทำอะไรได้บ้าง อย่างแรกเก็บพลังงาน เพื่อเอาไปใช้ในเวลาที่ถูกต้อง 2.ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งแนวโน้มมาแน่ ๆ เนื่องจากประสิทธิภาพดีกว่า และตอบโจทย์เรื่องมลพิษได้เป็นอย่างดี 3.เอาไปทำชาร์จจิ้งสเตชั่น คือถ้ามีรถอีวี แต่ไม่มีสถานีชาร์จ ไปไม่รอดแน่ และสุดท้าย สิ่งที่ต้องทำ คือ เอนเนอร์จี้เทรดดิ้งแพลตฟอร์ม เราพูดถึงสมาร์ทซิสเต็ม ระบบซื้อขายพลังงานจะเปลี่ยนไป

เข้าถึงก่อนได้เปรียบ

มีหลายคนบอกว่า เอนเนอร์จี้สตอเรจทำให้ภาระต้นทุนประเทศสูงขึ้น เขาค้านว่าเป็นความคิดไม่ถูกต้อง ยกตัวอย่าง ในหนึ่งวัน 24 ชม. ใช้ไฟแตกต่างกันไป เช่น สร้างโรงไฟฟ้าเพื่อใช้ตลอดทั้งวัน แต่การใช้งานจริงไม่ถึง ตรงนี้แหละ ทำให้ต้นทุนสูง มีรายงานศึกษาของหน่วยงานราชการ ช่วงพีกต้นทุนประมาณ 4 บาทต่อยูนิต บางช่วงถึง 9 บาท

แต่ช่วงกลางคืน เหลือแค่บาทกว่า ๆ ดังนั้นเอนเนอร์จี้สตอเรจตอบโจทย์ได้มาก สามารถเอาไฟถูก ๆ ไปเก็บไว้ก่อน แล้วค่อยเอามาใช้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม เมืองนอกใช้กันมาก ทำให้ค่าไฟโดยรวมมีต้นทุนถูกลง เทรนด์ของสตอเรจกำลังจะมา ความต้องการมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นใครที่เข้าถึงก่อนย่อมได้เปรียบ

บุกรถยนต์ไฟฟ้า อีวีเฟอร์รี่

พอมีแบตเตอรี่ ก็เข้าไปทำรถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์อีวีชื่อมายด์ ย่อมาจาก มิชั่น อิน โน อิมิชั่น ปราศจากมลพิษ เป็นรถสัญชาติไทย วิศวกรคนไทย แต่ไม่ใช่เริ่มจากศูนย์ วิศวกรมีประสบการณ์มาอย่างโชกโชนกับการทำงานกับต่างชาติ มีความฝันร่วมกัน มาร่วมกันสร้างรถ ออกบูทงานมอเตอร์โชว์ ได้รับความสนใจ มีคนลงชื่อจอง 4,558 คัน หลังจากนั้นก็นำเทคโนโลยีตัวเดียวกัน จากรถยนต์แอปพลายไปใช้ในเรือ ตรงนี้ตอบโจทย์มาก ๆ

เรือที่อยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาใช้ดีเซล ถ้าเอาแบตเตอรี่ไปใช้ ก็สามารถลดได้ทั้งควันและเสียง ที่สำคัญ เรือเป็นพาหนะที่ใช้พลังงานต่ำกว่าพาหนะอื่น ๆ ค่อนข้างเยอะ พอเปลี่ยนมาเป็นไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงกว่ามาก การสร้างเรือไฟฟ้าขึ้นมา สามารถให้บริการในราคาที่ใกล้เคียงกับผู้ให้บริการเดิม เรียกว่าได้ของใหม่ จ่ายราคาเดิม ให้บริการจากนนทบุรี มาถึงวัดพระยาไกร ระยะทาง 20 กม. ใช้เวลา 40 นาที เรือลำหนึ่งจุ 200 คน ใช้แบต 800 กิโลวัตต์อาวร์ วิ่งไปกลับได้ 2 รอบ ใช้เงินแค่ 1,000 ล้านบาท ที่น่าสนใจมาก คือ มีขนส่งทางรางระบบหนึ่งหลายหมื่นล้าน ยกตัวอย่างแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ใช้เงิน 4-5 หมื่นล้านขนคนได้ต่อวัน 6-8 หมื่นคนต่อวัน เชื่อมั้ยว่าแม่น้ำเจ้าพระยา วันหนึ่งขนคนประมาณ 4 หมื่น แล้วยังสามารถเปลี่ยนภูมิทัศน์ให้ดีขึ้น ใช้เงินแค่ 1,000 ล้านบาทคุ้มค่ามาก

โหมขยายสถานีชาร์จ

และเพื่อให้ 2 โปรเจ็กต์นี้ตอบโจทย์ เขาเริ่มทำอีเอ แอนี่แวร์ คือทำสถานีชาร์จให้เต็มเมือง เมืองไทยเป็นเมืองที่เหมาะมาก ไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป สถานีชาร์จ 1,000 แห่งอยู่ใน กทม. และปริมณฑล 600 แห่งทำให้มีสถานีชาร์จทุก 5 กม. ตอบโจทย์ความกังวลของคนที่เปลี่ยนรถจากเครื่องยนต์มาเป็นอีวี จับมือกับแลนด์ลอร์ด ดีพาร์ตเมนต์สโตร์ ซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ ที่คิดว่าจะมีคนใช้

คิดกลับด้าน-มองต่างมุม

วันนี้โลกเปลี่ยนเร็วมาก ดังนั้น แนวคิดที่เป็นเอาต์ไซด์อินจะต้องนำมาใช้ในการสร้างยุทธศาสตร์ หรืออิมพลีเมนต์ต่าง ๆ ระบบออนไลน์แพลตฟอร์ม ระบบดิจิทัลต้องเข้ามาแทนที่ ถ้ายังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ก็จะไม่มีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจ หรือควบคุมได้ มีการพัฒนานวัตกรรมของขึ้นมา เชื่อว่าซื้อมาเอามาใช้ หรือขายไป ไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่ม แต่ได้พัฒนาระบบของขึ้นอีกอัน

เรียกมันว่า มัลติไดเมนชั่นนอล เอนเนอร์จี้เทรดดิ้งแพลตฟอร์ม ซื้อขายพลังงานในอนาคต ตรงแตกต่างกับคนอื่นเพราะสามารถสเกลขึ้นไปถึงขั้นเป็นโฮลเซล หรือระดับรีจินอล ก็สามารถทำได้ ตรงนี้

จะข้อมูลแบบเรียลไทม์ของการใช้ไฟในประเทศ ทั้งดีมานด์และซัพพลาย ทำให้สามารถบริหารโรงไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น สามารถออกแบบได้เลยว่าช่วงเวลาไหนควรเดินเครื่องอะไร เพื่อให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของประเทศต่ำลง แข่งขันได้

อย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง

ภาพรวมทั้งหมดมันเกิดดิสรัปชั่น แต่ดิสรัปชั่นที่ดีจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อทำให้ทุกคนได้ประโยชน์ ถ้าคนใดคนหนึ่งเสียประโยชน์ ก็จะทำให้ดิสรัปชั่นดีเลย์ มันต้องเกิดประโยชน์ 1+1 มันต้องได้ 3 ได้ 4 ไม่ใช่ต่ำกว่า 2 ถ้าต่ำกว่า 2 ก็คือมีคนเสียประโยชน์ แล้วเขาก็จะมาต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ก็นำระบบเอนเนอร์จี้เทรดดิ้งแพลตฟอร์มมาดูแล สุดท้ายประเทศก็จะแข่งขันได้ในระยะยาว

นอกจากนี้ยังต้องทำตัวให้เป็นตัวกลางซื้อขายกับต่างประเทศด้วย ประเทศไหนเหลือซื้อ ประเทศไหนอยากใช้ก็ขาย หาเงินตราเข้าประเทศ ต้นทุนต่ำลงคนไทยใช้ไฟถูกลง อีกหน่อยไม่ต้องมองว่า อุตสาหกรรมพลังงานเป็นแค่ตัวสร้างเสถียรภาพ แต่น่าจะเป็นตัวทำกำไรด้วย

สุดท้ายอยากฝากว่า โลกไม่ใช่ linear มีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ทุกอย่างต้องพัฒนา อย่ากลัวสิ่งใหม่ อย่ากลัวที่จะโดดลงไปในน้ำ โดดไปเพื่ออะไร…หัดว่ายครับ ไม่ใช่ยืนดูแล้วบอกว่า ว่ายน้ำเป็น วันนี้ต้องกล้าที่จะคิดใหม่ คิดแบบเอาต์ไซด์อิน เพื่อให้ทันกับโลกแห่งอนาคต สำหรับอีเอ ทั้งหมดที่ทำหวังว่าจะเป็นฟันเฟืองตัวเล็ก ๆ ที่ผลักดันให้ประเทศไทย อุตสาหกรรรมไทย เศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนและแข็งแรงต่อไป