ปี63 ผลิต “รถอีวี” เกิน 5 หมื่น บีโอไอไฟเขียวลงทุน 9 ราย

สถาบันยานยนต์ระบุประเทศไทยตอบรับเทรนด์รถอีวี คาดปีหน้าผลิตเกินครึ่งแสน หลังค่ายรถยนต์-ค่ายแบตเตอรี่ 9 รายผ่านบีโอไอทุ่มลงทุนกว่า 5.4 หมื่นล้าน

นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน กรรมการสถาบันยานยนต์ ผู้ทำการแทนผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิดเผยถึงแนวโน้มการใช้รถยนต์อีวี, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และไฮบริด ว่า เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากยอดผลิตทั้งสิ้น 8,900 คัน เพิ่มเป็น 25,200 คัน ในปี 2561 ขณะที่ปีนี้คาดว่าตลาดทั้ง 3 แบบจะมียอดผลิตเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 36,000 คัน และเพิ่มเป็น 50,000 คัน ในปีถัดไป

ปัจจุบันมีค่ายรถที่ได้รับอนุมัติจากบีโอไอ เป็นรถไฮบริด 4 ราย รถปลั๊ก-อิน ไฮบริด 4 ราย และรถไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่อีก 1 ราย รวมทั้งสิ้น 9 ราย โดยมีกำลังการผลิตรวมประมาณปีละ 500,000 คัน นับเป็นมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นจำนวน 54,000 ล้านบาท

รวมทั้งยังมีค่ายรถยนต์ที่รอการอนุมัติรถไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่อีกจำนวน 7 ราย และการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า มีผู้ที่ได้รับการส่งเสริมแล้ว 5 ราย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นทำการผลิตได้ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป อีกทั้งในปี พ.ศ. 2561ได้มีการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเป็นที่เรียบร้อยแล้วกว่า 400 แห่ง

สถาบันยานยนต์และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้ดำเนินการจัดทำแผนการสร้างมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์สมัยใหม่แล้วเสร็จ ทั้งมาตรฐานเต้ารับ เต้าเสียบ และที่อยู่ระหว่างการจัดทำ คือ มาตรฐานตู้ชาร์จ และมาตรฐานแบตเตอรี่ และอยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดมาตรฐานอื่น ๆ เพื่อให้ครอบคลุมยานยนต์สมัยใหม่

นอกจากนี้ มีการสร้างศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกของอาเซียน ซึ่งสถาบันยานยนต์ได้จับมือร่วมกับ บริษัท ทูฟ ซูด (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญในการทดสอบแบตเตอรี่ระดับโลกในการดำเนินการ โดยใช้งบประมาณลงทุนเบื้องต้น 300 ล้านบาทบนพื้นที่กว่า 3,000 ตารางเมตร

แบ่งออกเป็น โซนการทดสอบสมรรถนะของแบตเตอรี่ โซนการทดสอบความปลอดภัยของแบตเตอรี่ ซึ่งจำเป็นต้องมีห้องทดสอบนิรภัยที่สามารถรองรับการลุกไหม้ หรือการระเบิดของแบตเตอรี่จากการทดสอบ โดยตั้งอยู่ภายในบริเวณพื้นที่เดียวกับศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งมีการทดสอบสมรรถนะของแบตเตอรี่ ทดสอบความปลอดภัยของแบตเตอรี่ และมีห้องทดสอบนิรภัยที่สามารถรองรับการลุกไหม้ หรือการระเบิดของแบตเตอรี่จากการทดสอบได้อีกด้วย โดยคาดว่าศูนย์ทดสอบนี้จะเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2563รวมถึงมีการพัฒนาบุคลากร สถาบันยานยนต์ได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อศึกษาและถ่ายทอดข้อมูล และองค์ความรู้เกี่ยวกับยานยนต์สมัยใหม่ เช่น แบตเตอรี่ มอเตอร์

ด้านนายสุทธิศักดิ์ วิลานันท์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด กล่าวถึงแนวโน้มของเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยในปัจจุบันพบว่า กว่า 90% เป็นการผลิตชิ้นส่วนแบบเครื่องยนต์แบบสันดาป ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนถ่ายไปสู่ยานยนต์ไฮบริด และยานยนต์สมัยใหม่ตามลำดับ

โดยผู้ประกอบการไทยมีการปรับตัวทางด้านเครื่องจักรและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการผลิตและดีมานด์ที่จะเกิดขึ้น เห็นได้จากข้อมูลนำเข้าเครื่องจักรและชิ้นส่วนในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.ปีนี้ โต 5% มูลค่า 182,000 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 มีมูลค่ากว่า 174,000 ล้านบาท และ 3 ประเทศหลักที่มีมูลค่าการนำเข้าเครื่องจักรสูงสุด คือ ญี่ปุ่น, จีน และเยอรมนี

ล่าสุดบริษัทได้เตรียมจัดงาน “แมนูแฟคเจอริ่ง เอ็กซ์โป 2019” ซึ่งมีผู้ผลิตมากกว่า 2,400 แบรนด์ จาก 46 ประเทศเข้าร่วมงาน คาดว่าจะมีมูลค่าการซื้อขายเครื่องจักรจากงานครั้งนี้ไม่น้อยกว่า 8,000 ล้านบาท ที่ศูนย์ประชุมไบเทค