“อมรรัชดา” แยกทางทีซีซูบารุ “สิงคโปร์” ปรับใหญ่เสริมความแข็งแกร่ง

ซูบารุรื้อใหญ่ ปรับโครงสร้างธุรกิจ แยกการตลาด-การขายออกจากกันชัดเจน หวังเพิ่มประสิทธิภาพงานบริการหลังการขาย ประกาศโละสาขาตัวเอง 2 แห่ง ลดเป้าขายทั้งปีเหลือ 2.4 พันคัน หลังเจอปัญหาส่งมอบรถไม่ทัน ดีลเลอร์โอดถูกยัดสต๊อกอะไหล่ นโยบายราคายังสับสน “อมรรัชดา” โบกมือลา

แหล่งข่าวจากบริษัท ทีซี ซูบารุ (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือตันจงกรุ๊ป เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทอยู่ระหว่างเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในองค์กรครั้งใหญ่ ภายใต้การนำทัพของนายแซมสัน ฉั่ว ผู้จัดการทั่วไปชาวสิงคโปร์ โดยได้แยกงานการตลาดและการขายออกจากกัน และแต่งตั้งผู้ดูแลแต่ละส่วนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและสอดรับกับสถานการณ์ตลาด รวมถึงยกระดับความพึงพอใจในการทำตลาดและบริการให้โดดเด่นขึ้น

“นโยบายนี้ถูกกำหนดหลังจากบริษัทแม่ตันจงกรุ๊ป กลุ่มทุนใหญ่จากสิงคโปร์ ได้ประกาศความร่วมมือกับซูบารุ คอร์ปอเรชั่น เพื่อลงทุนตั้งโรงงานประกอบซูบารุฟอเรสเตอร์ในบ้านเรา ซึ่งจะเริ่มในปี 2562”

แหล่งข่าวกล่าวว่า งานด้านการตลาด จะควบรวมทั้งโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และการจัดอีเวนต์ต่าง ๆ ขณะที่งานด้านการขายจะผนวกการดูแลเครือข่ายจัดจำหน่าย และที่ให้ความสำคัญมากที่สุดคืออาฟเตอร์เซลส์เซอร์วิสหรือบริการหลังการขาย ซึ่งบริษัทแม่ให้น้ำหนักสูงสุด เพื่อเตรียมรองรับโอกาสการขยายตัวของซูบารุในประเทศไทย

“ที่เตรียมไว้คือโรงงานประกอบ คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ไตรมาสแรกของปีถัดไปเพื่อรองรับความต้องการตลาดใน ประเทศมากถึง 50% และส่งออกไปยังมาเลเซีย, เวียดนามอีก 50% จากกำลังการผลิต เบื้องต้น 6,000-8,000 คันต่อปี”

แหล่งข่าวยังกล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายปีนี้บริษัทพยายามบอกดีลเลอร์ทุกรายให้เตรียมความพร้อม ทั้งการดูแลการขายแบบโฮลเซลและรีเทลด้วยตัวเอง โดยบริษัทจะขยับไปดูแลงานในระดับอินเตอร์เนชั่นแนลมากขึ้น โดยเฉพาะการดิวกับบริษัทแม่และซูบารุประเทศญี่ปุ่น จากเดิมที่การดำเนินธุรกิจจากตัวแทนจำหน่าย จะต้องกลับมาร่วมศูนย์ที่ซูบารุประเทศไทย เช่น การสต๊อกอะไหล่จะสต๊อกไว้ที่สำนักงานใหญ่ย่านเสรีไทย แต่จากนโยบายใหม่จะให้ดีลเลอร์เป็นผู้สต๊อกอะไหล่เอง เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการ เป็นต้น

ส่วนนโยบายด้านเครือข่ายจัดจำหน่ายปัจจุบัน ซูบารุมีโชว์รูมและศูนย์บริการ 30 แห่งทั่วประเทศ เป็นการลงทุนโดยทีซี ซูบารุ 6 แห่ง และ 24 แห่งเป็นของตัวแทนจำหน่าย ตามนโยบายการลงทุนเองจะให้เหลือแค่ 3 แห่ง โดย 2 แห่งจะเปิดโอกาสให้ดีลเลอร์ที่สนใจเข้ามาลงทุน

ขณะที่เป้าหมายยอดขายปีนี้จะลดเป้าลงจาก 3,000 คัน เหลือเพียง 2,400 คันเพื่อแก้ปัญหาการส่งมอบรถไม่ทัน

แหล่งข่าวตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ซูบารุในเขตพื้นที่ กทม. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ไม่ค่อยแฮปปี้กับนโยบายทีซี ซูบารุ โดยเฉพาะผลกระทบจากการดีลิเวอรี่รถให้ดีลเลอร์ล่าช้า ทำให้เสียโอกาสไปเยอะมาก และไม่คุ้นเคยกับวิธีการบริหารงานและการทำงานสไตล์สิงคโปร์ของบริษัทแม่ซึ่ง มีการเปลี่ยนแปลงไปมาไม่เหมาะสมกับตลาดประเทศไทย โดยเฉพาะการกำหนดราคารถที่มีผลกระทบมากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งตอนนี้ก็มีดีลเลอร์บางรายขอถอนตัว อาทิ ซูบารุอมรรัชดา

ผู้สื่อข่าวสอบถามไปทางนางสาววรรณภา ตั้งบรรยงค์ ประธานกรรมการบอร์ดบริหาร กลุ่มอมรรัชดา กล่าวยอมรับว่า เพิ่งตัดสินใจแยกทางกับซูบารุไปเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา