ผ่าแนวคิดประธาน “เบนซ์” “รถอีวีไม่ได้เหมาะกับทุกประเทศ”

เข้ามานั่งดูแลตลาดประเทศไทยจะครบขวบปีในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ สำหรับ “โรลันด์ โฟลเกอร์” ประธาน บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เขาเริ่มทำงานแบรนด์ดาวสามแฉกในฐานะพนักงานของกลุ่มบริษัท เดมเลอร์ เอจี (Daimler AG) ในหน่วยงานด้านการผลิตและจัดจำหน่ายอะไหล่ (parts organization)

“โฟลเกอร์” เคยผ่านงานในประเทศไทยมาแล้ว เคยมาจัดตั้งระบบสแปร์พาร์ตให้กับ “ธนบุรีประกอบรถยนต์” ก่อนที่จะย้ายไปปฏิบัติงานฝ่ายขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยรับผิดชอบตลาดประเทศอินโดนีเซียเป็นหลัก และได้รับตำแหน่งประธานบริหารเมอร์เซเดส-เบนซ์ สำนักงานตัวแทน ประเทศสิงคโปร์ เขาเคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของหลากหลายกลุ่มธุรกิจของเดมเลอร์ ส่วนบ้านเราเกือบ 1 ปีเต็มกับการถือธงนำทัพได้เห็นอะไรเป็นรูปเป็นร่างบ้างเชิญติดตาม

ให้ความสำคัญทีมเวิร์ก

ตลอดระยะเวลา 8 เดือนที่ผ่านมา เมื่อถามถึงภาพความสำเร็จและสิ่งที่ต้องการปรับปรุง “โฟลเกอร์” ตอบอย่างทันควันว่า หากจะมองไปในความสำเร็จแล้ว ยังไม่กล้าบอกว่ามีอะไรบ้างคือความสำเร็จ เพราะสิ่งที่ผ่านมานั้น อย่างแรกที่ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จ คือ “ทีม” เนื่องจากตลอดช่วงที่ผ่านมาทีมได้ดำเนินงานตามครรลองที่บริษัทได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์ แต่อาจจะมีจุดที่ยังคงพัฒนาต่อเนื่อง คือ ความฉับไว การตัดสินใจ รวมทั้งการมอบหมายงานต่าง ๆ ที่ระดับผู้บริหารจะต้องให้ฝ่ายปฏิบัติการทำเพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น

สำหรับ “ผม” คือ “คนกลาง” ที่อยู่กลางระหว่างประเทศไทยกับบริษัทแม่ที่เยอรมนี “ทีม” ทำงานไปตามนโยบายของผม และผมคุยกับบริษัทแม่ ดังนั้น สิ่งที่ผมต้องทำคือการทำให้ทีมทั้ง 180 คนเห็นโจทย์เดียวกัน ทำไงตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้เกิดความพอใจ ประทับใจ ตอบสนองความต้องการไปในทิศทางเดียวกันได้

พร้อมเปิดรับทุกเรื่องราว

เมื่อถูกตั้งคำถามถึงความ “ท้าทาย” ที่นายใหญ่มีต่อตลาดประเทศไทย เขาบอกว่า การมีพนักงานที่ท้าทายถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะเชื่อว่าพนักงานเหล่านี้เป็นคนที่มีความคิดเป็นของตัวเอง เช่นเดียวกับตัวเขาเองซึ่งมาจากบริษัทแม่ มีความมั่นใจมาเต็มเปี่ยมและจากประสบการณ์ที่เคยดูแลตลาดมาเลเซียและอินเดียมาก่อนนั้น

ทำให้เข้าใจว่าทุกอย่างจะต้องมาจากการเริ่มต้น สิ่งสำคัญคือเราต้องเปิดรับตลอดเวลา ไม่ใช่น้ำเต็มแก้ว เขายกตัวอย่าง การมานั่งประจำประเทศไทย โฟลเกอร์ยอมรับว่า 2 เดือนแรกสิ่งที่เขาใช้ คือ การเปิดรับทุกความเห็น ส่วนการตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลรอบด้าน

เน้นความเป็นพรีเมี่ยม

ในแง่ยอดขายถ้าทำเหมือน 6 เดือนที่ผ่านมาถือว่าดีแล้ว แต่วันนี้คงต้องดูทิศทาง บรรยากาศ ภาครัฐ คงต้องพิจารณาเพิ่มเติมว่าเราจะทำอะไรให้มากขึ้นหรือน้อยลง เพราะมีปัจจัยมากมายที่เราต้องทำ เพื่อให้เราคงเป็นเบอร์หนึ่งได้ในตลาด

ผมยังมองว่า “คอร์แวลู” รวมทั้งคุณภาพมาตรฐานของเราที่เน้นความเป็นพรีเมี่ยม สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพสินค้า บริการ การช่วยเหลือ ความมั่นใจในตัวสินค้า ความมั่นใจในราคาขายที่ลูกค้ามีต่อแบรนด์ของเรา แบรนด์เมอร์เซเดส-เบนซ์ หากจะมองในเชิงของหลักการตลาดอาจดูแปลกสักหน่อย เพราะสินค้าที่มีราคาสูงควรจะขายได้จำนวนไม่เยอะ แต่เราพิสูจน์แล้วว่าเรามีคอร์แวลูที่ทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นและไว้วางใจ

ทุกโปรดักต์พร้อมลงตลาด

อีกอย่างที่เราเชื่อว่าเราเดินมาถูกทาง คือลอนช์ ลอนช์ ลอนช์…อะไรก็ตามที่เห็นในต่างประเทศ สำหรับเมืองไทยก็มาแน่ ๆ แต่อาจจะช้ากว่าเล็กน้อยตามระยะเวลา เพราะมีหลายเรื่องที่เราต้องประสานและดำเนินการ เพราะรถพวงมาลัยซ้ายที่ถูกเปิดตัวในต่างประเทศ กว่าจะเป็นพวงมาลัยขวา และยังต้องรอเรื่องซีเคดี สุดท้ายก็ถือการเปิดตัวเป็นแพลตฟอร์มแบบนี้ เพราะ 80% ของโลกใบนี้คือรถยนต์พวงมาลัยซ้าย จากนั้นใช้เวลา 3-4 เดือนจะเป็นรถยนต์พวงมาลัยขวา และ 6 เดือน หรือเกือบ 1 ปีก็จะเริ่มซีเคดีได้

ด้วยโลกที่หมุนไป เรามีความจำเป็นต้องปรับตัวเช่นเดียวกัน ทำให้แบรนด์เราหนุ่มขึ้น เด็กลง มีฐานลูกค้าที่กว้างขึ้นในหลายโปรดักต์ เช่น เอเอ็มจี เข้าถึงวัยรุ่นมาก อย่างในตลาดของเอเชียจะพบว่าเป็นพีระมิดหัวกลับ กลุ่มลูกค้าที่ใช้เอเอ็มจีจะเป็นกลุ่มวัยรุ่น แต่ถ้าในเยอรมนีหรือญี่ปุ่นจะเป็นผู้ใหญ่

ฝังแบรนด์เบนซ์ในใจลูกค้า

สำหรับประเทศไทยต้องขอบคุณทางธนบุรีพานิชที่เป็นผู้ทำให้แบรนด์เมอร์เซเดส-เบนซ์เข้าไปอยู่ในใจของทุกคน เมื่อบริษัทแม่เข้ามาทำตลาดจึงถือเป็นเรื่องง่าย และบริษัทแม่ก็ตระหนักตรงนี้เป็นอย่างดีว่าทำอย่างไรจะสามาถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของลูกค้าให้ได้มากที่สุด ลูกค้าชาวไทยมีความต้องการที่เป็นอัตลักษณ์ที่ค่อนข้างชัดเจน ดังนั้น เราเองต้องมีรถยนต์หลากหลายเซ็กเมนต์ให้ครอบคลุมตอบสนองความต้องการของลูกค้า

รถอีวีไม่ได้เหมาะกับทุก ปท.

“โฟลเกอร์” ยอมรับว่า วันนี้ในเมอร์เซเดส-เบนซ์ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า รถยนต์ “อีคิวซี” ควรจะมาทำตลาดได้หรือยัง นั่นไม่ใช่แค่การนำรถเข้ามาจำหน่าย แต่เราต้องพยายามผลิตให้มากที่สุดด้วย ย้อนกลับไปตอนครั้งแรกที่มีการผลิตรถยนต์ว่ายากแล้วพอเข้าสู่การผลิต เครื่องยนต์เบนซินและดีเซลให้ออกมาพร้อมกันก็ยากกว่า และเมื่อมีกลุ่มปลั๊ก-อิน ไฮบริดยิ่งยากเข้าไปอีก ตอนนี้จะเอารถยนต์อีวีเข้ามา จึงเป็นเรื่องที่ยากสำหรับเรามาก ๆ แม้ว่าบริษัทอื่นเขามีกันแล้ว แต่ลองดูว่าเขามีรถในจำนวนเท่าใด สำหรับเราต้องมองไปที่หลักหมื่น และต้องยอมรับว่ารถยนต์อีวีนั้นมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ เราสร้างอีวีขึ้นมาเพื่อให้สมบูรณ์ 100% ไม่ใช่แค่ถอดเครื่องออกแล้วเอามอเตอร์ไฟฟ้ากับแบตเตอรี่ใส่เข้าไป วันนี้จึงเป็นที่ถกกันในบริษัทว่าพร้อมแล้วหรือยัง ? หากจะถามว่าพร้อมไหม ? วันนี้เราพร้อมแล้ว มีการเตรียมตัวทุกฝ่ายแล้ว ปัญหาคือ หากแนะนำรถแล้วเมืองไทยเองจะได้รถกี่คัน จะได้เท่าไร คุ้มหรือไม่กับการที่เราจะรีบเปิด ถ้าเราได้โควตารถมาแค่ 5 คัน วันนี้ยังอยู่ในช่วงของการตัดสินใจ รอบริษัทแม่ว่าจะมีการเซ็นอนุมัติให้รถยนต์ไฟฟ้าอีคิวซีมาในปริมาณเท่าไร

“โฟลเกอร์” ยังได้ย้ำว่า รถยนต์อีวีไม่น่าจะเหมาะกับทุกประเทศ แต่น่าจะเหมาะกับเมืองใหญ่เพื่อลดปัญหามลพิษมากกว่า ส่วนการวิ่งออกไปในต่างจังหวัดปลั๊ก-อิน ไฮบริดน่าจะมีความเหมาะสมมากกว่า ขณะที่การติดตั้งขยายสถานีชาร์จนั้นปัจจุบันบริษัทมีติดตั้งไป 100 จุด แต่ไม่ใช่หน้าที่ของเราในการทำ แต่เราต้องการคืนกำไรให้กับสังคม


สุดท้ายเบนซ์ยืนยันการมีรถอีวีนั้นค่ายรถยนต์ไม่จำเป็นจะต้องลงทุนเรื่องของสถานีชาร์จไฟเหมือนเช่นเดียวกับสถานีบริการน้ำมัน ควรมีหน่วยงานหรือบริษัทที่เป็นกลางเข้ามารองรับ และการชาร์จไฟนั้นควรใช้ได้ร่วมกันไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ยี่ห้ออะไร เพราะการลงทุนทำสถานีชาร์จใช้เงินมหาศาล และวันนี้ก็ยังไม่มีใครสามารถตอบได้ว่า ค่าใช้จ่ายต่อการชาร์จ 1 ครั้งควรเป็นอัตราเท่าใด