ผ่าแนวคิดบอสใหญ่ “ซีพี-มอเตอร์” ดัน “MG” ทะลุ 2 แสนคัน เข็น “ปิกอัพ” ปะทะแบรนด์ญี่ปุ่น

“ธนากร เสรีบุรี” รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์เอ็มจีในประเทศไทย เปิดโอกาสให้ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมพูดคุยถึงมุมมองและทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจในอุตสาหกรรมยานยนต์ของ ซี.พี.

“ธนากร” ฉายภาพตั้งแต่ยุคบุกเบิกของ ซี.พี.กับอุตสาหกรรมยานยนต์ ย้อนกลับไปเมื่อ 34 ปีที่แล้วหรือในปี 2528 กับธุรกิจอะไหล่ และรถจักรยานยนต์ เมื่อปี 2528 เราทำจักรยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในจีน และชิ้นส่วนยานยนต์ทั้งคอมเพรสเซอร์ คาร์บูเรเตอร์ ในเมืองจีน และวันนี้กับแบรนด์เอ็มจี ล้มเหลวหรือสำเร็จ ส่วนคำถามที่ยังคาใจหลายคนกับแบรนด์รถยนต์ “เฌอรี่”ไปหาคำตอบกัน

1-2 ปี เอ็มจีขาดทุนพันล้านบาท

ธนากรยอมรับว่า ย้อนกลับไปเมื่อครั้งเปิดตัวรถยนต์เอ็มจีในประเทศไทย นั้นถือว่าเรามาไม่ถูกที่ไม่ถูกเวลา บวกกับการตัดสินใจเลือกนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า คือรถยนต์นั่งเอ็มจี5 และเอ็มจี6

เพราะคิดว่าเป็นรถหรู รถพรีเมี่ยม ซึ่งช่วงเวลานั้นตรงกับนโยบายรถคันแรกของรัฐบาล ทำให้เราขาดทุนไปกว่า 1,000 ล้านบาท แต่ยังไม่ถอดใจ เราปรับวิธีการยังเดินหน้าที่จะผลิตและทำตลาดในประเทศไทยต่อไป จึงได้ปรับแผน ปรับกลยุทธ์ทางการตลาด และนโยบายใหม่หมด

ตัดสินใจครั้งสำคัญ

เราตัดสินใจลงทุนในประเทศไทย ตอนนั้นเลือกอยู่ 2 อย่าง ระหว่าง “งานบริการ” กับงานขาย อะไรจะมาก่อน

สุดท้าย…เราเลือกงานขายก่อน เพราะสมัยนั้นเราไปหาตัวแทนจำหน่ายไม่มีใครสนใจแบรนด์ของเราเลย ย้อนกลับไปวันนั้นศูนย์บริการของเราเป็นห้องแถวเล็ก ๆ ก็ยังมี ผมบอกว่า ในเมื่อไม่มีใครสนใจลงทุนเรื่องของศูนย์บริการ ดังนั้นบริษัทของเราต้องเปิดเอง แต่ปัญหาคือว่าเราจะเอาใครไปคุม การเปิดเองมันง่าย การเอาคนไปคุมมันยาก

ผมตัดสินใจเอารถลงไปในตลาด วิธีการก็คือ 1.สินค้าเราต้องเป็นที่ต้องการของตลาด 2.ราคาต้องจูงใจ ดังนั้นที่เราประกาศราคา ทุกคนตกใจ โดยเฉพาะราคา เอ็มจี3 ออกมาได้รับการตอบรับที่ดีมาก ๆ และมีนักลงทุนวิ่งเข้ามาหา เพื่อขอเป็นดีลเลอร์ ซึ่งแตกต่างจากก่อนหน้าอย่างสิ้นเชิง ถ้ารถเราขายไม่ได้อย่าหวังเลยว่าจะเปิดศูนย์บริการ ไม่มีทาง และวันนั้นผมคิดว่าเราอาจจะต้องเปิดเองและยอมขาดทุน สุดท้าย

“ผมดีดลูกคิดแล้วว่า เรายอมขาดทุนที่รถดีกว่า”

ต้องการอีโคโนมีออฟสเกล

เรามองว่าธุรกิจนี้ต้องมีอีโคโนมีออฟสเกล ต้องทำให้เป็นแมส เดิมรถยนต์ 5 ปี เปลี่ยนครั้งหนึ่ง แต่วันนี้มีการ “ไมเนอร์เชนจ์” ทุกหนึ่งปี ดังนั้นถ้าผลิตในปริมาณน้อย ๆ นั้นอยู่ไม่ได้ เวลาคืนทุนไม่พอ รถยนต์กว่าจะออกรุ่นใหม่ ถ้าปริมาณน้อยไป จะสู้คู่แข่งไม่ได้ เพราะสุดท้ายแล้ว ถ้าเราเตรียมขาย 50,000 คัน แต่ปรากฏว่าเราขายได้เพียง 30,000 คันซึ่งเมื่อถึงเวลามันต้องเปลี่ยนแล้ว อีก 20,000 คันต้องทิ้ง

“ตรงนี้ไม่คุ้ม” หากเราไม่ออกรุ่นใหม่มาก ก็ไม่มีคนซื้อรถยนต์ของเรา ตลาดก็ไม่มี ทำแบบนี้ไม่ได้ ดังนั้นต้องมีสเกล ขนาดต้องใหญ่ วันนี้เราพยายามหารือกับจีนว่า “ตลาดต่างประเทศคุณต้องสนใจ” โดยเฉพาะรถยนต์พวงมาลัยขวา ที่จะต้องส่งออกจากฐานผลิตในประเทศไทยเป็นหลัก แต่จีนก็ให้โจทย์เรามาอีกหนึ่งข้อคือ “รถยนต์พวงมาลัยซ้าย” ไทยสามารถผลิตส่งออกไปรองรับความต้องการของประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้เคียงได้ ปีนี้เราจะเริ่มผลิตรถยนต์พวงมาลัยซ้ายเพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย ดังนั้น

มีรุ่นใหม่ สเกลต้องใหญ่ จะทำให้เอ็มจีเราแข็งแกร่งกว่านี้ โรงงานของเราต้องมีขนาดใหญ่ เราสามารถออกแบบรถได้หลากหลายรุ่นมากขึ้น อนาคตโรงงานเล็ก ๆ จะอยู่ไม่ได้

ย้ำชัด “เฌอรี่” ไม่ใช่ “ซี.พี.”

ทุกคนเข้าใจผิด…คุณวิทิต ลีนุตพงษ์ มีความพยายามติดต่อกับเฌอรี่มานาน แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เลยผ่านมาทางพี่ชายคือ คุณสรวิทย์ ซึ่งเป็นเพื่อนกับผม เพื่อให้ช่วยเป็นตัวกลางกับเฌอรี่ ซึ่งสนิทกันดี โรงงานเราอยู่ตรงข้ามกัน ที่มณฑลอันฮุย ซึ่งผมรับหน้าที่ไปคุยให้ พอบอกว่า “เจิ้นต้า” หรือ “เจียงไต๋”

เขาก็ให้ความเชื่อถือ เพราะเขาไม่รู้จัก เขาตกลงกันเรียบร้อย วันนั้นผมบอกว่า

“ถ้าซี.พี.จะไปลงทุนด้วยแค่เป็นตัวแทนจำหน่าย ผมไม่เอา เราต้องมีโรงงานผลิตด้วย เนื่องจากเราเข็ดกับการเป็นตัวแทนจำหน่ายมาก เพราะถ้าเราทำดีแล้วเขาก็เปลี่ยนเจ้าอื่น อันนี้เราไม่เอา เสียเวลาเปล่า ๆ” คุณวิทิตเลยบอกว่างั้นเราเป็นตัวแทนจำหน่ายก่อน 2 ปี จากนั้นเราให้ออปชั่นคุณ 2 ปี แล้วเขาจะเข้ามาเมื่อไหร่ก็ได้ มาถือหุ้น 50%เราเลยบอกให้คุณวิทิตทำไปก่อน

พอหลังจาก 2 ปีแล้วยังไม่ได้พูดถึงเรื่องจะเข้ามาลงทุนโรงงานในไทยเราก็ไม่เอา “ซี.พี.” เราไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวเรื่องการบริหาร หรืออะไรทั้งสิ้น เราแค่ให้เขา 2 ฝั่งมาเจอกัน

ความมั่นใจกับเซ็กเมนต์กระบะ

เราสู้…เขาได้ ผมมั่นใจ เนื่องจากดูแล้วตลาดยังมี “รูม” อีกเยอะที่จะสู้ รถกระบะเรากว่าจะออกมาได้ จริง ๆ แล้วถือว่าล่าช้าไป 2 ปีแล้ว ผมเป็นคนยืนยันว่า ถ้าคุณภาพไม่ผ่านเราจะไม่เปิดตัว ตอนนั้นเราวางเครื่อง 2.8 ลิตรทะเลาะจีนแทบแย่

เดิมจีนเขาคิดว่าเขาใหญ่ เขาไม่ฟังเรา แต่สุดท้ายยอม ผมบอกว่าไปดูคู่แข่งเขาทำแต่รถที่มีขนาดเครื่องยนต์เล็กลง แต่แรงม้ามากขึ้น แต่ทำตรงข้ามแสดงว่าคุณกำลังถอยหลัง

สำหรับรถกระบะที่กำลังจะเปิดตัวออกมา ผมยืนยันได้ว่า เครื่องยนต์ กำลัง แรงม้า ของเรา ไม่ได้แพ้คู่แข่งเลย สิ่งที่เราจะเหนือกว่าคือ “ความเป็น สมาร์ทคาร์” มีลูกเล่น ให้ลูกค้าเล่น

ยันสู้ปิกอัพญี่ปุ่นสบาย

เราจะทำราคาที่ “ถูก” กว่า และ “ดี”กว่า ผมเชื่อว่ารถกระบะที่ออกมาจะทำให้คนไทยได้ใช้รถกระบะที่ถูกลง และญี่ปุ่นก็จะต้องทำราคาให้ถูกลง คือเขาคงสู้เต็มที่ ซึ่งเราขอส่วนแบ่งทางการตลาดเล็กน้อย คือ 10% ภายในระยะเวลา 2-3 ปี เราเตรียมส่งออกรถกระบะ ไปจำหน่ายยังต่างประเทศด้วย ทั้งออสเตรเลีย อังกฤษ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันมีการส่งออก

รถกระบะเอ็มจีเข้าไปทำตลาด แต่เป็นการส่งออกจากเซี่ยงไฮ้ ซึ่งอนาคตประเทศไทยจะเป็นผู้รับหน้าที่แทน ตลาดต่างประเทศต้องใช้ระยะเวลา พร้อมแต่งตั้งดิสทริบิวเตอร์เอง ในเอเชียโอเชียเนีย และในปี 2563 เราเตรียมส่งออกรถยนต์ไว้ 2 รุ่น ได้แก่ เอ็มจี แซดเอส และรถกระบะก่อน เราจะค่อย ๆ ทำไป

เพื่อปูเรื่องของ งานบริการหลังการขายไปก่อน ผมมั่นใจว่ารถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยจะเกิดแน่นอน แต่ต้องใช้เวลา ต้องปูทางเรื่องของสถานีชาร์จให้ครอบคลุม และผมเชื่อว่าคนมาก่อนได้เปรียบ เดิมเราจะเปิดตัวช่วงปลายปีแต่เราตัดสินใจเริ่มเร็วขึ้น

ยังไม่พอใจกับผลงาน “เอ็มจี”

รองประธานตอบยืนยันว่า ผลประกอบการที่ผ่านมายังถือว่า ธรรมดา ผมต้องทำให้ได้สองแสนคันก่อน ยิ่งเร็วยิ่งดี ตอนนี้ถือเป็นนโยบายของบริษัท ที่ผลิตภัณฑ์ต้องดี ตอบโจทย์การใช้ของลูกค้าคนไทย การให้บริการหลังการขายต้องดี ราคารถมือสองอยู่ในระดับที่รับได้ เพื่อเสริมความสะดวก คล่องตัวในการเป็นเจ้าของรถเอ็มจีได้ง่ายขึ้นและราคารถมือสองขายต่อได้ราคาดี

ดังนั้นในเร็ว ๆ นี้จะตั้งบริษัทลีสซิ่ง โดยจะเข้าไปซื้อกิจการลีสซิ่งขนาดเล็ก และเราเข้าไปบริหาร ตรงนี้จะช่วยลดขั้นตอนการทำงานไปได้หลายอย่างและให้บริการลูกค้าได้รวดเร็วมากขึ้น ทางด้านไฟแนนซ์ คาดว่าจะเปิดให้บริการในปีนี้