ซีอีโอ “โตโยต้า” ฟันธง ตลาดรถครึ่งปีหลัง “ห้ามกะพริบตา”

ผ่านพ้นครึ่งปีแรกไปเรียบร้อยสำหรับตลาดรถยนต์เมืองไทย แม้ตัวเลข 6 เดือนแรกของปีจะโตเพิ่มขึ้น 7% จำนวนทะลุ 5 แสนคัน แต่ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ครึ่งทางที่สวยหรู ส่วนช่วงเวลาที่เหลือของปีอีก 6 เดือน แม้หลายฝ่ายจะมองว่ามีรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ หลากหลายรุ่น หลากหลายเซ็กเมนต์จ่อคิวเปิดตัว แต่นายใหญ่ค่ายโตโยต้า “มิจิโนบุ ซึงาตะ” เชื่อว่ายังเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนต้องเฝ้าระวังทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกรวมทั้งโตโยต้าเองก็ต้องปรับตัวกันอุตลุด

Q : ผลประกอบการครึ่งปีแรก

สำหรับตลาดรถยนต์โดยรวมช่วงครึ่งปีแรกมียอดขาย 523,770 คัน โต 7.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 206,540 คัน โต 8.5% รถเพื่อการพาณิชย์ 317,230 คัน โต 6.2% ซึ่งเป็นผลมาจากมีรถใหม่ออสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งเก๋ง ปิกอัพ และรถหรู รวมทั้งทุกค่ายอัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย

ขณะที่โตโยต้าครึ่งปีแรกมียอดขาย 171,502 คัน เพิ่มขึ้น 20.8% มีส่วนแบ่งตลาด 32.7% จากปัจจัยหลักการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาจนถึงต้นปีนี้ ทั้งคัมรี รีโว่ แซด เอดิชั่น รวมทั้งกิจกรรมส่งเสริมการขาย ยาริส และเอทีฟ ขณะที่ตลาดส่งออกโตลดลงจากสงครามการค้าระหว่างอเมริกาและจีน แต่ก็ต้องยอมรับว่าดีกว่าที่คาดการณ์ ลดลงเพียง 5% จากคาดการณ์ไว้ 8%

Q : มีแผนปรับเป้าขายทั้งปีหรือไม่

โตโยต้าประกาศไปตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาแล้วว่า ยอดขายรถยนต์โดยรวมปีนี้น่าจะอยู่ที่ 1 ล้านคัน และผ่านมาครึ่งทางทำได้ 5.43 แสนคัน โต 7% นั้น ถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่าคาดการณ์ด้วย หากจะมองย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมาจะเห็นได้ว่าปี 2561 ที่ผ่านมา เป็นปีแรกที่ตลาดรถยนต์เมืองไทยมีการเติบโตเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 1.040 ล้านคัน หลังจากก่อนหน้าที่ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปีนี้ถือเป็นปีที่ต้องจับตามองว่าตลาดรถยนต์จะสามารถรักษายอดขายให้ได้ใกล้เคียงกับปีก่อนหรือไม่

ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมกระทบเยอะ เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าตลาดลดลงในรอบ 30 เดือน ซึ่งมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ดังนั้น คงต้องดูกันว่าจะส่งผลต่อตลาดทั้งปีหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม โตโยต้าประเมินยอดขายรวมไว้แค่ 1 ล้านคัน ลดลง 4% แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 387,229 คัน ลดลง 3.1% รถเพื่อการพาณิชย์ 612,769 คัน ลดลง 4.6%

ขณะที่ยอดขายโตโยต้ามั่นใจว่าจะทำได้ตามเป้าเดิมที่ประเมินไว้ตั้งแต่ต้นปีคือ 3.3 แสนคัน ส่วนแบ่งตลาด 33% ส่วนตลาดส่งออกก็น่าจะหดตัวลงเช่นกัน จากความต้องการที่ลดลง

ในภูมิภาคอเมริกากลาง อเมริกาใต้ และโอเชียเนีย โดยโตโยต้าตั้งเป้าส่งออกทั้งปี 5.77 แสนคัน ลดลง 2% จาก 6 เดือนที่ทำได้ 270,000 คัน ลดลง 8%

Q : กำลังผลิตในไทยจะลดลงเท่าไหร่จากประกาศลงทุนในอินโดนีเซีย

ที่ผ่านมาบริษัทแม่มีความพยายามหารือกับภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และไม่ว่าโตโยต้าเข้าไปลงทุนในประเทศใด ๆ ก็พร้อมสนองตอบต่อนโยบายของประเทศนั้น ๆ รวมทั้งดูความเหมาะสมของสถานการณ์และตลาดให้ได้มากที่สุด เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดมาตอบสนองความต้องการของลูกค้า

อย่างในประเทศไทยเราตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขึ้น เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ก็หวังว่าจะมีการผลิตเพิ่มมากขึ้น ส่วนโอกาสแนะนำรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับตลาดประเทศไทยนั้น เชื่อว่ายังมีเวลาอีกพอสมควรในการศึกษาความต้องการของตลาดร่วมกับซัพพลายเออร์ และที่บริษัทแม่ตัดสินใจลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าในอินโดนีเซีย บริษัทยืนยันได้ว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย

โตโยต้าไม่ได้มีการลำดับประเทศก่อนหลังในการลงทุนว่า รถยนต์ไฟฟ้าจะต้องไปลงประเทศใดก่อน และก็ไม่จำเป็นจะต้องเริ่มที่รถยนต์ไฟฟ้าก่อนเสมอไป รถยนต์ไฮบริดเองก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นก่อนที่จะต่อยอดไปที่รถยนต์ไฟฟ้าได้ โตโยต้าพร้อมนำเสนอโซลูชั่นที่ดีที่สุดให้กับประเทศนั้น ๆ

Q : นโยบายรัฐบาลใหม่สอดคล้องแผนลงทุนโตโยต้าแค่ไหน

ถือว่าสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาของโตโยต้า และหวังว่าการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฮบริดขึ้นในประเทศไทยนั้นจะนำไปสู่ตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย ประเทศไทยมีโรดแมปที่ชัดเจนที่จะไปสู่รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าในอนาคต

Q : บริษัทแม่กังวลกับรัฐบาลชุดนี้อย่างไรบ้าง

ด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมีความแข็งแกร่ง แม้ว่าหลายหน่วยงานจะมีการประกาศลดจีดีพีก็ตาม แต่โตโยต้าเชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและก้าวผ่านไปได้ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเองก็มีความแข็งแกร่งและมีแนวโน้มเติบโตมาอย่างต่อเนื่องแม้ว่าบางช่วงตลาดจะหดตัวแต่ท้ายที่สุดก็สามารถกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับไทยเพิ่งมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ โตโยต้าก็ต้องแสดงความยินดีกับคนไทยด้วย และเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง และรักษาแนวโน้มการเติบโตไปได้ และยังคงสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

ทั้งนี้ โตโยต้าเห็นความชัดเจนในการขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐ ทั้งนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โครงการอีอีซี การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรเพื่อพัฒนาศักยภาพการแข่งขัน