นายใหญ่ “มิตซูบิชิ” ลั่น เทรดวอร์ไม่กระทบอุตฯรถยนต์อาเซียน

ถือเป็นผู้บริหารค่ายรถยนต์ที่เดินทางมาเมืองไทยบ่อย แถมยังเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนไทยได้พูดคุยแลกเปลี่ยน อัพเดตสถานการณ์อุตฯยานยนต์โลก รวมถึงความเคลื่อนไหวของแบรนด์มิตซูบิชิอย่างต่อเนื่องทุกปี

เช่นเคยเที่ยวนี้จัดเต็ม เริ่มจากฉลองส่งออกครบ 4 ล้านคัน พบรองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งสนิทสนมกันเป็นอย่างดี และฉายภาพความแข็งแกร่ง และการเสริมสร้างศักยภาพของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ไทยแลนด์ ที่ปัจจุบันไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดนอกญี่ปุ่นของมิตซูบิชิ ไปหาคำตอบจาก “โอซามุ มาสุโกะ” ประธานคณะกรรมการ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น

ปรับใหญ่รอบ 20 ปี

โดยทั่วไปแล้ว โรงงานเมื่อมีอายุเกิน 20 ปีขึ้นไปจะต้องมีการปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้น จากที่ไม่เคยมีการปรับปรุงมาก่อน ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา มิตซูบิชิตั้งใจเพิ่มความคล่องตัว และเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจด้วยการนำเสาหลัก 5 ต้น เข้ามาเสริม

คือ 1.การจ้างงาน 2.การพัฒนาบุคลากร 3.การลงทุน 4.การถ่ายทอดเทคโนโลยี และ 5.การส่งออก ซึ่งเป็นแนวคิดริเริ่มในการดำเนินธุรกิจในไทย แต่ทั้งนี้ มิตซูบิชิยังได้เพิ่มอีก 2 เสาหลัก คือ 1.การตอบแทนสังคม และ 2.การดูแลสิ่งแวดล้อม เมื่อเดือนที่ผ่านมา ได้เปิดตัวรถยนต์มิตซูบิชิ เอาต์แลนเดอร์ ปลั๊ก-อิน ไฮบริด ที่อินโดนีเซีย ส่วนประเทศไทยเอง มิตซูบิชิได้ขอรับการส่งเสริมการลงทุน เพื่อผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้ากับทางรัฐบาลไทย ซึ่งได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ไทยจะเป็นประเทศแรกของภูมิภาคอาเซียนที่มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของมิตซูบิชิ และจะเริ่มผลิตในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563

เทเม็ดเงินเฉียดหมื่นล้าน

มิตซูบิชิมีแนวคิดเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมามิตซูบิชิ ไทย ได้ผลิตรถยนต์ครบ 5 ล้านคัน และปีนี้เรามีการส่งออกรถยนต์ครบ 4 ล้านคัน เราหวังว่าจะเห็นโรงงานของเรามีคุณภาพ ได้รับความเชื่อมั่นจากทั่วโลกและมิตซูบิชิมองไป 30-50 ปีข้างหน้าว่า จะพยายามยกระดับคุณภาพ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถการผลิต จนได้มีการตัดสินใจปรับปรุงโรงงานพ่นสีแห่งใหม่ ซึ่งใช้เงินลงทุน 3,600 ล้านบาท หรือ 12,000 ล้านเยน แม้ว่าการลงทุนตรงนี้จะยังไม่เพียงพอและทำให้ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันมากที่สุดตามระดับที่เราต้องการ โดยปัจจุบันเรายังมีการพิจารณาการปรับปรุงด้านอื่น ๆ อีก ทั้งการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย การนำเอาโรบอต ระบบอัตโนมัติมาใช้ในการผลิต ซึ่งเรากำลังศึกษาอยู่ และคาดว่าใช้เงินลงทุนอีก 3,900 ล้านบาท หรือ 13,000 ล้านเยน น่าจะได้ข้อสรุปในเดือนกันยายน

ยันสงครามการค้าไม่กระทบ

หากจะมองกันให้ดีตามทฤษฎีของเศรษฐกิจ จะมีลักษณะเป็นวงจรอยู่ มีทั้งช่วงที่ดีและไม่ดี มิตซูบิชิได้เตรียมใจเอาไว้แล้ว เพียงแต่เมื่อเทียบกับปีก่อนทั้งเศรษฐกิจโลกไม่ได้ดีอย่างคาดการณ์ไว้ อย่างที่เห็น “สงครามการค้า” อเมริกา และจีน หรือการออกจากอียูของ อังกฤษ เราจึงเห็นข้อจำกัดสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดีนัก

แต่มิตซูบิชิในภูมิภาคอาเซียนถือว่าค่อนข้างน่าพอใจ และสถานการณ์ยังดีอยู่ทั้งไทย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนามที่เศรษฐกิจดีมาก มิตซูบิชิได้ทุ่มเทกำลังในอาเซียนค่อนข้างมาก และจะเพิ่มขึ้นเพื่อให้มิตซูบิชิสามารถแข่งขันและอยู่รอดต่อไปให้ได้

เปิดกว้างรับสตาร์ตอัพรุ่นใหม่

วันนี้ค่ายรถยนต์ทั่วโลกกำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ มีความท้าทายไปสู่เรื่องของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ปัจจุบันมีคำพูดที่คุ้นหูคือ “CASE” หรือ C=connection, A=autonomous, S=share, E=electric การแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับ CASE นั้น ลำพังแค่บริษัทรถยนต์เพียงรายเดียวจะไม่สามารถแก้ไขได้

บริษัทรถยนต์ทุกรายจำเป็นต้องจับมือร่วมกันทำงาน ทั้งเป็นพันธมิตรกับค่ายอื่น หรือจับมือในการประกอบ หรือจับมือกับต่างอุตสาหกรรม ท่ามกลางกระแสตรงนี้ มิตซูบิชิได้จับมือกับ

เรโนลต์-นิสสัน เพื่อมองหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งความร่วมมือกับนิสสันเองนั้น เรามองไปที่ CAE ส่วน S=share นั้น ปัจจุบันเรามี MAAS ย่อมาจาก M=mobility A=As A=A S=service ที่จะกลายเป็นโมเดลธุรกิจต่อไป สำหรับค่ายรถอาจจะยังไม่ทราบว่าจะต้องทำอะไรบ้าง

อย่างเมื่อเดือนที่เราได้ร่วมทุนกับ “โกเจ็ค” ของอินโดนีเซีย ปัจจุบันเราพยายามศึกษาเรียนรู้โมเดลธุรกิจใหม่จากทางโกเจ็ค และหวังว่าอนาคตน่าจะมีการทำโครงการบางอย่างร่วมกัน หากบริษัท “สตาร์ตอัพ” ในไทยที่มีความสนใจ มิตซูบิชิก็พร้อมจะเปิดรับ และสร้างโอกาสใหม่ ๆ เพื่อร่วมกัน

บุกปลั๊ก-อิน ไฮบริดเต็มสูบ

รถโมเดลหลักของมิตซูบิชิในไทย คือ ไทรทัน, ปาเจโรสปอร์ต, มิราจ และแอททราจ ส่วนรถยนต์ในกลุ่มเอสยูวีอื่น ๆ สำหรับประเทศไทยนั้นต้องใช้เวลารอดูทิศทางไปอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเรามีเอาต์แลนเดอร์ และอิคลิป ครอส ที่เป็นรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริดอยู่ กลยุทธ์ของมิตซูบิชิเราจะมุ่งไปสู่รถยนต์ไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนตลาดโลก สำหรับแลนเซอร์และปาเจโรยังไม่มีแผนในการพัฒนาโมเดลถัดไป

วอนรัฐดูแลค่าเงินบาท


นายใหญ่ “มาสุโกะ” สิ่งที่กังวลเกี่ยวข้องกับประเทศไทย คือเรื่องของ “ค่าเงินบาท” ที่สูงมาก เนื่องจากมิตซูบิชิ 80% เป็นการส่งออกค่าเงิน มีผลกระทบต่อ “กำไร-ขาดทุน” ของกิจการ เราจำเป็นต้องแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ เราอยากร้องขอภาครัฐให้เข้ามาสนับสนุนดูแลเรื่องค่าเงินบาท และคาดว่าอุตสาหกรรมส่งออกทุกแห่งก็คิดเห็นเช่นเดียวกัน