Connected Cars อนาคตของการขับขี่

คอลัมน์ มองข้ามชอต

โดย พิมใจ ฮุนตระกูล Economic Intelligence Center ธ.ไทยพาณิชย์

มื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา GM บริษัทรถยนต์ของสหรัฐประกาศว่าจะเริ่มใช้ Android automotive operating system (Android auto) ของ Google เป็นระบบอินโฟเทนเมนต์ (infotainment) ในรถรุ่นใหม่ของบริษัทตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นไป แปลว่าผู้ใช้รถ GM จะสามารถใช้แอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ของ Google เช่น Google Maps และ Google Assistant ผ่าน Play Store โดยไม่ต้องมีสมาร์ทโฟน

นอกจาก GM ที่ได้พาร์ตเนอร์กับ Google เพื่อพัฒนาระบบอินโฟเทนเมนต์ Volvo แล้วนั้น กลุ่ม Renault Nissan Mitsubishi ได้ประกาศว่าจะใช้ Android auto โดยบริษัทรถยนต์ยังสามารถดีไซน์การใช้งานของระบบให้เหมาะกับแบรนด์ของตนเองได้ ซึ่งการพาร์ตเนอร์กับบริษัทเทคโนโลยีในการพัฒนาซอฟต์แวร์นั้นไม่จำกัดเพียง Google เท่านั้น

ปัจจุบันระบบอินโฟเทนเมนต์ในรถยนต์ของ Apple หรือ Apple Car Play สามารถใช้ได้ในรถยนต์กว่า 500 รุ่น ในกว่า 60 แบรนด์ ซึ่งรวมถึง BMW Ford Chevrolet Toyota และ Honda เป็นต้น โดยการร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยี (big tech) เช่น Google และ Apple ทำให้ระบบอินโฟเทนเมนต์ในรถยนต์มีแอปพลิเคชั่นที่หลากหลายเท่ากับที่อยู่บน Play Store และ Apple App Store และมีฟังก์ชั่นการใช้งานเหมือนสมาร์ทโฟนที่ผู้บริโภคมีความคุ้นเคยอยู่แล้ว ในอนาคตรถยนต์จะ “ฉลาด” มากขึ้น

โดยสมาร์ทคาร์เป็นส่วนหนึ่งในเทรนด์ของ connected cars ซึ่งคือการที่รถยนต์สามารถส่งข้อมูลและเชื่อมต่อสื่อสารกับเครือข่ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต การส่งข้อมูลกลับไปให้ค่ายรถยนต์ หรือแม้แต่การสื่อสารกับรถยนต์คันอื่น ๆ ได้แบบ real time สมาร์ทคาร์เหล่านี้จะเปิดโอกาสทางธุรกิจให้แก่บริษัทที่สามารถเสริมสร้างประสบการณ์ของทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารให้ดีขึ้นด้วยการสร้างตัวเลือกเพื่อความบันเทิงที่มากขึ้นผ่านระบบอินโฟเทนเมนต์ที่มีอินเตอร์เฟซที่ใช้งานได้เหมือน

สมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ ระบบการสั่งงานด้วยเสียงและลำโพงอัจฉริยะ (smart speaker) โดยเทคโนโลยีเหล่านี้ ทำให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารรับสื่อหรือความบันเทิงแบบรายบุคคลได้ เช่น สามารถดู video on demand ฟังเพลงผ่านอินเทอร์เน็ต ร้องคาราโอเกะ หรือแม้กระทั่งซื้อสินค้าออนไลน์ได้ นอกจากนี้ยังนำข้อมูลการจราจรมาใช้เพื่อช่วยนำทางและแจ้งสภาพการจราจรให้ผู้ขับขี่ทราบได้อีกด้วย

ในด้านผู้ผลิตรถยนต์ connected cars นอกจากจะทำให้ประสบการณ์การขับขี่รถยนต์ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยให้การขับขี่ปลอดภัยขึ้น เช่น การส่งสัญญาณเตือนภัยระหว่างการขับขี่ในสภาวะที่อันตราย หรือการใช้ augmented reality (AR) ในแผงควบคุมทำให้ผู้ขับขี่สามารถกะระยะ ชะลอความเร็ว และเข้าโค้งได้ดีขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ

นอกจากนี้ connected cars จะทำให้เครื่องยนต์มีความปลอดภัยและเชื่อถือได้มากขึ้น โดยการเชื่อมต่อของรถยนต์กับอินเทอร์เน็ตจะทำให้บริษัทรถยนต์สามารถเก็บข้อมูลจากการใช้งานของรถพฤติกรรมของผู้ขับขี่ เส้นทาง ตำแหน่งที่ตั้ง รวมไปถึงสถานะของเครื่องยนต์ และชิ้นส่วนสำคัญต่าง ๆ เพื่อติดตามและวินิจฉัยประสิทธิภาพและความปลอดภัย ของรถยนต์ผ่านเซ็นเซอร์ และ IOT devices ในรถยนต์เพื่อใช้ในการปรับปรุงการออกแบบ ผลิต และการซ่อมบำรุงรถยนต์ต่อไป

ในอนาคตรถยนต์จะสามารถจดจำและเรียนรู้ความชอบส่วนบุคคลจนเสมือนมีคนขับรถส่วนตัว ที่สามารถตอบสนองความต้องการของทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งที่ชัดเจนอีกต่อไป ส่งผลให้บริษัทรถยนต์สามารถเก็บข้อมูลของผู้ขับขี่และผู้โดยสาร เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์และสร้างรายได้เสริมได้

ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลพฤติกรรมการขับขี่ของผู้ใช้รถจะถูกส่งไปบริษัทประกัน เพื่อใช้วิเคราะห์และกำหนดเบี้ยประกันภัยรถยนต์ตามความเสี่ยงของผู้ขับขี่ไม่ว่าจะเป็นความเร็วในการขับรถ การเหยียบเบรก และการใช้เข็มขัดนิรภัย นอกเหนือจากประกันรถยนต์แล้ว ข้อมูลที่ได้จาก connected cars ยังอาจสามารถนำไปใช้ในการคิด premium ของประกันสุขภาพและประกันชีวิตได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์มีเซ็นเซอร์ที่สามารถตรวจจับน้ำหนักที่เปลี่ยนไปของผู้ขับ ซึ่งอาจแสดงถึงพฤติกรรมหรือสุขภาพที่เปลี่ยนไป

หรือใช้ข้อมูลตำแหน่งที่รถ (location data) ไปจอดเพื่อใช้ในการกำหนดเบี้ยประกันสุขภาพ เช่น ระหว่างเจ้าของรถไปร้านอาหารและบาร์ กับเจ้าของรถที่ไปยิมหรือออกกำลังกายที่สวน ในอนาคต location data ยังสามารถนำไปใช้เพื่อส่งโฆษณาที่เฉพาะเจาะจงสู่ผู้ขับขี่ได้อีกด้วย เช่น ร้านค้า สามารถส่งโฆษณาไปให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงได้

เห็นได้ว่าการเพิ่มขึ้นของข้อมูลที่เกิดขึ้นระหว่างการใช้รถมีศักยภาพที่จะสร้างรายได้ใหม่ ๆ ให้แก่บริษัทรถยนต์อย่างมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ผลิตรถยนต์จะพาร์ตเนอร์กับ big tech ในการพัฒนาระบบอินโฟเทนเมนต์ในรถยนต์ และเร่งลงทุนในบริการใหม่ ๆ ที่ใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ได้จากการใช้งานรถยนต์
และจะทำให้ผู้ขับขี่ใช้รถยนต์เหมือนสมาร์ทโฟนมากขึ้น เช่น GM marketplace ที่เป็นแอปพลิเคชั่นที่ให้ผู้ขับขี่สามารถซื้อกาแฟ จองร้านอาหาร จองโรงแรม และซื้อน้ำมันผ่านทัชสกรีนบนรถยนต์ก่อนที่จะถึงที่หมายได้

โดยในปี 2019 GM ได้เปิดเผยแพลตฟอร์มใหม่ที่จะทำให้รถยนต์สามารถรองรับข้อมูลที่ใช้สำหรับการเชื่อมต่อ (connected) และการขับเคลื่อนอัตโนมัติ โดยระบบของ GM นี้จะสามารถประมวลข้อมูลได้ถึง 4.5 terabyte ต่อชั่วโมง หรือ 5 เท่าของข้อมูลที่รถ GM สามารถประมวลได้ในปัจจุบันสื่อให้เห็นว่าระดับการเชื่อมต่อในรถยนต์จะดีขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่รถยนต์มีการเก็บและใช้ข้อมูลในการขับเคลื่อน และสามารถนำข้อมูลการใช้งานมานำเสนอสินค้าและบริการที่เฉพาะเจาะจงแก่ผู้ขับขี่และผู้โดยสารมากขึ้น

ในอนาคตปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้รถและรถยนต์จะเปลี่ยนไป ข้อมูลจากการใช้รถยนต์จะเป็นที่ต้องการจากบริษัทต่าง ๆ เพื่อนำไปวิเคราะห์และโน้มน้าวพฤติกรรมผู้ขับขี่ให้ใช้สินค้าและบริการของตน โฆษณาบนท้องถนนจะเข้ามาอยู่ในรถยนต์มากขื้น และผู้ผลิตรถยนต์จะสามารถพัฒนาและปรับปรุงรถยนต์ให้เหมาะกับการใช้งานจริงของผู้ขับขี่มากขึ้น

โดยภาพรวม connect cars จะอำนวยความสะดวกสบายให้แก่ผู้บริโภคมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีใหม่นี้จะทำให้เกิดประเด็นใหม่ ๆ ที่สังคมจำเป็นต้องตระหนัก เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านการสื่อสารโทรคมนาคมที่จะทำให้เทคโนโลยีเหล่านี้เติบโตและสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง และความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่นำไปสู่การยอมรับเทคโนโลยีในสังคม

โดยเฉพาะความเข้าใจด้านการเก็บและใช้ข้อมูลของทั้งบริษัทรถยนต์และ big tech และสิทธิในการเป็นเจ้าของข้อมูลที่เกิดจากการใช้รถ จะเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองและเฝ้าระวังเพื่อให้มั่นใจว่าความเป็นส่วนตัว และการเก็บความลับของข้อมูลของผู้ขับขี่จะไม่ถูกละเมิด