ลดกำลังผลิตรถปีนี้ 1.5 แสนคัน ฉุดเม็ดเงินอุตฯยานยนต์หายกว่าแสนล้าน

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนกันยายน 2562 อยู่ที่ระดับ 92.1 ปรับตัวลดลงจากระดับ 92.8 ในเดือนสิงหาคม โดยเป็นการปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 12 เดือน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 เนื่องจากผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังคงชะลอตัว

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,103 รายทั่วประเทศในเดือนกันยายน ผู้ประกอบการกว่าร้อยละ 70 ยังคงกังวลปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่ยังไม่มีทีท่าคลี่คลายลง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการกว่าร้อยละ 50 กังวลในเรื่องเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนกันยายน 2562 เงินบาทแข็งค่าแตะระดับต่ำสุดที่ 30.76 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยแข็งค่ากว่าร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2561 ทำให้ผู้ประกอบการส่งออกได้รับผลกระทบ ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจด้วยเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศที่ช่วยให้ผู้ประกอบการคลายความกังวลลงบ้าง แต่ยังมีปัจจัยกดดันภายในประเทศที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นยังไม่ฟื้น ประกอบกับการชะลอการลงทุนภายในประเทศสะท้อนจากการนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบในการผลิตลดลง รวมทั้งการบริโภคในประเทศที่ยังชะลอตัว นอกจากนี้ อุทกภัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทำให้กำลังซื้อในภูมิภาคลดลงด้วย

สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 103.4 โดยเพิ่มขึ้นจาก 102.9 ในเดือนสิงหาคม เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในช่วง 3 เดือนข้างหน้า จะได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านโครงการชิม ช้อป ใช้ ทั้งระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ซึ่งจะช่วยให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงช่วงปลายปี 2562

สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเห็นว่า รัฐบาลควร 1) ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นตลาดที่มีศักยภาพ โดยปรับเงื่อนไขการลงทุนและสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อจูงใจผู้ลงทุนมากขึ้น พร้อมกันนี้ ควรให้การ 2) สนับสนุนสินค้า Made in Thailand พร้อมส่งเสริมให้ใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ รวมทั้งรณรงค์ให้ผู้บริโภคใช้สินค้าไทย

แต่ส่วนที่น่ากังวล คือ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เปิดเผยจำนวนการผลิต ยอดขายภายในประเทศ และการส่งออกรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของประเทศว่าจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม-กันยายน 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,572,627 คัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน

1.96% แบ่งเป็น ผลิตเพื่อส่งออก 814,953 คัน ลดลงจากปี 2561 ระยะเวลาเดียวกัน 5.72% ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ผลิตได้ 757,674 คัน เพิ่มขึ้น 2.42% รถจักรยานยนต์ มกราคม-กันยายน 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,860,557 คัน ลดลงจากปี 2561 3.55% แยกเป็น รถจักรยานยนต์สำเร็จรูป 1,456,524 คัน ลดลง 6.47% และชิ้นส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ 404,033 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 8.68%

จากตัวเลขที่ปรากฏ ทำให้สมาชิกในกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ตัดสินใจลดเป้าหมายการผลิตในปี 2562 จากเป้าเดิม 2.15 ล้านคัน ลดเหลือ 2 ล้านคันน้อยกว่าปี พ.ศ. 2561 ที่ผลิตได้ 2.167 ล้านคัน หรือหดตัวลง 7.74% แบ่งเป็นผลิตเพื่อส่งออก 1 ล้านคันลดลงจากปีที่แล้วที่ผลิตได้ 1.142 ล้านคัน เนื่องจากการส่งออกชะลอตัว เป็นผลจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว

ขณะที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ตัวเลขเท่ากัน คือ 1 ล้านคัน ลดลงจากปีที่แล้วที่ผลิตได้ 1.024 คัน เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมและความเข้มงวดที่มากขึ้นในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ของสถาบันการเงิน


โดยระบุชัดเจนว่า การปรับลดกำลังผลิตรถยนต์ในประเทศเที่ยวนี้ ทำให้มูลค่าหรือเม็ดเงินในอุตสาหกรรมยานยนต์หดหายไปมากถึง 1 แสนล้านบาททีเดียว