“ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ” Next Chapter อุตฯยานยนต์ “ผู้ผลิตรถยนต์”เปลี่ยนบทบาท”ศูนย์หน้า”เป็น”กองกลาง”

ในงานสัมมนาประชาชาติธุรกิจ “THAILAND 2020 ก้าวข้ามพายุเศรษฐกิจ” เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา นางสาวชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานอาวุโส กลุ่มบริษัท ไทยซัมมิท ขึ้นเวทีอภิปรายถึงภาพรวมของอุตฯยานยนต์ ภายใต้หัวข้อ Next Chapter อุตสาหกรรมยานยนต์ ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์โลกกำลังถูกดิสรัปต์ ทั้งผู้ผลิตรถยนต์และซัพพลายเออร์ผู้ผลิตชิ้นส่วน เพียงเเต่ดีกรีความรุนแรงของใครจะมากกว่ากัน ซึ่งอยู่ที่การปรับตัว การตั้งรับ และการพัฒนาเทคโนโลยี

นอกจากนี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะทำให้ในอุตสาหกรรมรถยนต์จะมีผู้เล่นที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อรถยนต์ไฟฟ้าเกิด มีรถยนต์แบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ จะเปลี่ยนระบบซัพพลายเชน เปิดโอกาสให้หลากหลายธุรกิจเข้ามีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งธุรกิจมีเดีย พลังงาน อินฟราสตรักเจอร์ ฯลฯ เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์อาจจะได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ผลิตชิ้นส่วน เพราะจากเดิม “ผู้ผลิตรถยนต์” คือผู้ควบคุมตลาด แต่อนาคตไม่ใช่แล้ว ธุรกิจอื่น ๆ สามารถเข้ามาเป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้มากขึ้น โดยเฉพาะยักษ์เทคโนโลยีทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น กูเกิล แอปเปิล ฯลฯ

ที่ประกาศจะเข้ามามีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมนี้ และสามารถมีรถยนต์ยี่ห้อของตนเองขึ้นมาได้ โดยไม่ต้องเป็นผู้ลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ แต่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็สามารถจ้างผู้ผลิตรถยนต์แทน

เปิด 4 ปัจจัยทำอุตฯยานยนต์เปลี่ยน

ชนาพรรณกล่าวว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมยานยนต์อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าในอนาคต 10-20 ปีข้างหน้า โมเดลธุรกิจที่เหมาะสมที่สุดของแต่ละซัพพลายเชนจะเป็นแบบใด

อุตสาหกรรมยานยนต์มีปัจจัยที่มีอิทธิพล 4 ตัวด้วยกัน ได้แก่ mobility, autonomous driving, digitalization, electrification ตัวแรกเชื่อว่า อนาคตคนจะไม่เลือกซื้อรถยนต์ แต่จะเลือกซื้อ mobility หรือการเคลื่อนย้ายที่เหมาะสมกับความต้องการตัวเองในช่วงนั้น ๆ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “mobility-as-a-service” หรือ MaaS ซึ่งอนาคตคนที่เลือกซื้อรถยนต์ จะมองไปที่เรื่องของการซื้อบริการ ส่งผลให้ธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์จะต้องมีการเปลี่ยนจาก “ธุรกิจการผลิต” มาเป็น “ธุรกิจการบริการ” ซึ่งถือเป็นการพลิกเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจแบบหน้ามือเป็นหลังมือ และเปลี่ยนจากระบบซัพพลายเชนที่มีผู้เล่นขนาดยาวเป็นเส้นตรงมาเป็นระบบอีโคซิสเต็ม หรือวงกลมขนาดใหญ่ มีหลายซัพพลายเชนอยู่ข้างใน มีหลากหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

ค่ายรถเปลี่ยนบทบาทจากศูนย์หน้าเป็นกองกลาง

บทบาทของ “ผู้ผลิตรถยนต์” จะเปลี่ยนไป สู่การเป็น “ผู้รับจ้างผลิต” ซึ่งหมายความว่าบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ จากเดิมที่เป็นผู้ควบคุมตลาดจะถูกลดระดับเป็นผู้ผลิตในเทียร์ 1 เท่านั้น เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีจะกลายเป็นเจ้าของแบรนด์ และเป็นผู้ส่งสินค้าและบริการถึงผู้บริโภคแทน

“ถ้าเปรียบกับเป็นนักฟุตบอล คือจากที่เคยเล่นในตำแหน่งกองหน้าอยู่ดี ๆ วันดีคืนดี ผู้ผลิตรถยนต์ถูกเปลี่ยนให้ไปเล่นในตำแหน่งมิดฟิลด์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างต้นทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบกับรายได้และกำไรในอนาคต”

ส่วนผู้ผลิตชิ้นส่วนจะเป็นอย่างไร มีบทวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญในเยอรมนีพบว่า ต้นทุนเฉลี่ยของการผลิตรถยนต์นั่ง 1 คัน ในเยอรมนีอยู่ที่ประมาณ 600,000 บาท แต่ใน 10 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 670,000 บาท ซึ่งแสดง

ให้เห็นว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และผู้ผลิตรถยนต์สามารถเพิ่มมูลค่าเพิ่มเข้าไปในรถยนต์ได้ ทำให้ราคาขายเพิ่มขึ้น

รถอีวีอาจไม่กระทบผู้ผลิตชิ้นส่วน

“บทวิเคราะห์ดังกล่าวถือเป็นบทวิเคราะห์ที่เรียกว่า หักปากกาเซียน ลบความเชื่อเดิม ๆ ที่มองว่า หากเกิดการดิสรัปต์หรือมีรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาในตลาด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จะล้มหายตายจากไป เนื่องจากมีการใช้ชิ้นส่วนในรถยนต์ลดลงนั้นอาจไม่จริงเสมอไป แต่ต้องมีการลงทุนและพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้อง เช่น กลุ่มผู้ผลิตบอดี้รถยนต์, เบาะที่นั่ง อุปกรณ์ ตกแต่งภายใน เพราะอนาคตคนจะไม่ใช่แค่นั่งในรถ แต่จะเป็นการอาศัยในรถ และจะนานตราบเท่าที่ระบบ autonomous เอื้อประโยชน์มากที่สุด ทั้งนี้ หากกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนมีการลงทุนต่อยอดในทางที่ถูก เขาจะกลายเป็นตัวดิสรัปต์ที่ดี ขณะที่กลุ่มผู้ผลิตเครื่องยนต์, ถังน้ำมัน อาจจะเสียประโยชน์และถูกดิสรัปต์

นอกจากนี้ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยังต้องมองเรื่องของ digitalization เนื่องจากในช่วง ที่ผ่านมา ผู้ผลิตวุ่นวายกับโรงงานใหม่ เครื่องจักรใหม่ ระบบการผลิตที่แข่งขันลดต้นทุน โดยเฉพาะต้นทุนเเรงงาน หลายเจ้าเป็นบริษัทที่แข็งแกร่ง แต่สิ่งเหล่านี้ในอนาคตจะกลายเป็นภาระของบริษัท ทั้งดอกเบี้ย การใช้จ่าย เช่นเดียวกับสถานการณ์การแย่งแรงงานในตลาด จะยิ่งทำให้ต้นทุนของแต่ละบริษัทเพิ่มขึ้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับอุตสาหกรรมให้เข้ากับอุตสาหกรรม 4.0 โดยมองไปที่เรื่องของกลยุทธ์องค์กร และกลยุทธ์ด้านไอทีให้เป็นเรื่องเดียวกัน

ขณะที่ปัจจัย electrification หรือการเกิดของรถยนต์ไฟฟ้า มีทั้งแรงผลักและแรงดึงในตลาด แรงผลักคือ นโยบายของรัฐบาล ให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ กับผู้ใช้และผู้ผลิต ส่วนแรงดึง คือ ความต้องการของผู้บริโภคที่ยอมรับ และเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า

รถยนต์ไฟฟ้ามาจริงหรือ?

ชนาพรรณกล่าวว่า ในปี 2030 จะมีรถยนต์ไฟฟ้าและรถไฮบริดรวมกัน 130 ล้านคันทั่วโลก ข้อมูลจากการลงนามของ 11 ประเทศ และ 29 องค์กรทั่วโลก ที่จะผลักดันนโยบายเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้า มีการเซ็นสัญญาร่วมกันคือ นโยบาย EV30@30EV กำหนดว่า ภายในปี 2030 จะมีการผลักดันให้รถยนต์ไฟฟ้ามีสัดส่วนการขายถึง 30% และทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเป็น 250 ล้านคันทั่วโลก แต่ในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์วันนี้ มองเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าว่าไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นหรือโฟกัสสำหรับคนในวงการอีกต่อไป แต่สิ่งที่หลายคนกำลังสนใจ คือ รถบรรทุกที่ใช้ไฟฟ้า หลายค่ายออกมาประกาศเเล้วว่าจะทำอย่างจริงจังในเชิงพาณิชย์ ใครทำให้รถวิ่งไกลสุด เบาสุด สามารถบรรทุกได้มากสุด คนนั้นชนะ และขณะนี้มีค่ายรถบางค่ายได้เริ่มขึ้นไลน์ผลิตแล้ว

สำหรับเมืองไทย มีหลายคนตั้งคำถามว่า จะมาจริงมั้ยเพราะปีที่แล้วขายได้แค่ 325 คัน และถ้ารถยนต์ไฟฟ้ามาจริงไม่ได้ดิสรัปต์แค่ค่ายรถยนต์และชิ้นส่วนเท่านั้น รัฐบาลก็ถูกดิสรัปต์ด้วย เพราะจากการรวบรวมรายได้ภาษีสรรพสามิตของประเทศไทย จะเห็นว่า 35.9% เป็นรายได้จากการนำเข้าน้ำมัน ขณะที่ 22.8% เป็นรายได้จากนำเข้ารถยนต์ ตรงนี้เกือบ 60% ของรายได้ทั้งหมดมาจากรถที่ใช้เครื่องยนต์ ซึ่งอนาคตถ้าเป็นรถยนต์ไฟฟ้าหมด รายได้ตรงนี้ก็จะหายไป

ชนาพรรณกล่าวถึงอุตฯรถยนต์ทั่วโลก ปี 2017 ถือว่าพีกสุด มีตัวเลขผลิตเฉียด 97 ล้านคัน จุดนี้เองที่เป็นสาเหตุทำไมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์วุ่นวายอยู่กับการขยายโรงงาน เครื่องจักร ส่วนประเทศไทย ปี 2012 มีนโยบายรถยนต์คันแรก ทำให้ยอดผลิตขึ้นไปถึง 2.45 ล้านคัน จากนั้นยอดขายก็ลดลงเรื่อย ๆ ปี 2018 มียอดผลิตถึง 2.17 ล้านคัน ส่วนปีนี้เดิมประกาศจะไปให้ถึง 2.5 ล้านคัน แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ประกาศลดเหลือเพียงแค่ 2 ล้านคัน ก็ถือว่ากระทบพอสมควร

แนะผู้ผลิตชิ้นส่วนปรับตัว

สำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โอกาสทำกำไรมีอยู่แค่ 2 ลักษณะเท่านั้น คือ process ที่เป็นเลิศ หรือ product ที่เป็นเลิศ เราจะเเข่งขันกันที่ 2 ตัวนี้เท่านั้น แต่ที่ผ่านมาเราเผชิญกับดิสรัปชั่นเช่นเดียวกัน มีคำถามว่าเราจะปรับตัวอย่างไร ซึ่งต้องบอกว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จะหวังพึ่งพาผู้ผลิตรถยนต์อย่างเดียวนั้นไม่ได้ เพราะต้องไม่ลืมว่าผู้ผลิตรถยนต์แต่ละรายต้องวุ่นวายกับกิจการภายในของเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นการทุ่มเทบุคลากรไปคิดค้น การพัฒนาอาร์แอนด์ดีรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์ไฮบริดบริหารธุรกิจ การแก้ไขสถานภาพทางการเงิน และที่สำคัญที่สุด สินค้า
ที่จะออกในช่วง 10 ปีนี้จะสามารถทำกำไรได้ดีเหมือนเเต่ก่อนหรือไม่ยังไม่รู้เลย ในทางกลับกัน ผู้ผลิตรถยนต์ก็หวังพึ่งผู้ผลิตชิ้นส่วนมากกว่าเดิมที่ผ่านมา และต้องการให้ซัพพลายเออร์ของเขาเเข็งเเรงขึ้นมาก ๆ ดังนั้น ทางรอดของซัพพลายเออร์ คือ การลดต้นทุนการผลิตกับสิ่งที่ผลิตในปัจจุบัน และการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ยิ่งอนาคตเมื่อซัพพลายเชนไม่ได้เป็นเส้นตรงยาวอีกต่อไป ซึ่งหมายความว่าทุกฝ่ายในองค์กรจะต้องมาร่วมมือกันเพื่อคิดค้นและตอบสนองความต้องการของลูกค้า

ดังนั้น เราจะออกแบบองค์กรของเราอย่างไร คนก็ยังเป็นความท้าทายอยู่เสมอ เราต้องเลือกรับพนักงานที่มีสกิลเเบบใหม่ เพราะการดิสรัปชั่นนั้น บังคับให้บริษัทต้องเตรียมรับอุปสรรคใหม่ที่ไม่เคยรู้มาก่อน

ขณะเดียวกัน ต้องอัพเดต และอัพเกรดสกิลพนักงานของตัวเอง และป้องกันไม่ให้พนักงานดี ๆ ของเรา ต้องสมองไหลไปอยู่กับคู่เเข่ง

สิ่งสำคัญคือจะบาลานซ์ 2 ตัวนี้อย่างไร มุ่งไปด้านใดมากกว่า และต้องไม่ลืมกลับไปดูเรื่องของ made 4 automotive forces ที่จะเป็นตัวชี้นำในอนาคต

สุดท้าย “ชนาพรรณ” ขออวยพรเพื่อนร่วมอุตสาหกรรมว่า May the force be with you.