นับถอยหลัง1ม.ค.63 ภาษีใหม่เขย่าราคา”บิ๊กไบก์-มอไซด์”ขยับ

ภาษีมอไซค์ใหม่
โครงสร้างภาษีมอเตอร์ไซค์ใหม่คิดตามอัตราปล่อยไอเสีย ดีเดย์ 1 ม.ค. 63 ป่วนราคาขายกระทบกำลังซื้อทั้งตลาดกลุ่ม จยย.ซีซีต่ำ ปรับขึ้นหลักร้อย ส่วนบิ๊กไบก์ทะลุแสนบาท คลังชี้ค่ายยุโรปบางยี่ห้อลดปล่อย CO2 ได้ต่ำมากเสียภาษีแค่ 9% ฉุดต้นทุนต่ำลงหลักแสนบาท คลังคาดเก็บภาษีเข้ารัฐเพิ่ม30-40%

แหล่งข่าวกลุ่มผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตมอเตอร์ไซค์ใหม่ ซึ่งเปลี่ยนจากเดิมที่เก็บตามปริมาตรกระบอกสูบมาเป็นเก็บตามปริมาณการปล่อยไอเสีย ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2563 ว่าน่าจะกระทบตลาดในระดับหนึ่ง เนื่องจากทำให้ต้นทุนการผลิตแต่ละคันเพิ่มสูง ส่งผลให้ราคาขายขยับตามและผู้ผลิตมีความจำเป็นต้องผลักภาระนี้ไปยังผู้บริโภค

แนะรีบซื้อก่อนปรับราคาปีหน้า

โดยแหล่งข่าวจากบริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด กล่าวยอมรับว่า บริษัทไม่ได้มีความกังวลกับการปรับภาษีสรรพสามิตแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว แน่นอนว่าอัตราภาษีที่คิดตามค่ามลพิษนั้นจะส่งผลให้ราคาจำหน่ายรถจักรยานยนต์บางรุ่นปรับเพิ่มขึ้น แต่บางรุ่นก็อาจจะปรับลดลงด้วยเช่นกัน ช่วงแรกอาจจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของลูกค้า ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจโดยรวมช่วงนี้ก็ชะลอตัวน่าจะส่งผลกระทบต่อยอดขายแน่นอน

ไม่ต่างจากฝ่ายบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า ต้นทุนภาษีที่เพิ่มขึ้นน่าจะทำให้กลุ่มรถจักรยานยนต์ขนาดเล็กจำเป็นต้องปรับราคาขายราว ๆ 300-1,000 บาท แล้วแต่รุ่น ส่วนรุ่นใหญ่ตอนนี้ยังไม่สามารถสรุปได้เพราะฝ่ายเทคนิคกำลังเร่งทำตัวเลขให้เข้าเกณฑ์แต่ละระดับอัตราภาษี

ตลาดรถจักรยานยนต์ถือเป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจในระดับฐานราก หากมีการปรับขึ้นราคาขายจริงก็น่าจะทำให้ตลาดช็อกไปชั่วขณะ แต่อย่างไรก็ตาม ลูกค้าสามารถปรับตัวและรับกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ ยิ่งการซื้อจักรยานยนต์ส่วนใหญ่เป็นระบบเช่าซื้อ ราคาที่สูงขึ้นมีผลต่อค่างวดต่อเดือนที่เพิ่มไม่สูงนัก

ส่วนจักรยานยนต์ในกลุ่มบิ๊กไบก์นั้น เท่าที่ทราบอัตราภาษีเดิมเก็บ 17% ส่วนภาษีใหม่หากปล่อยไอเสียเกิน 130 กรัม/กม. ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในระดับนี้ เสียภาษีใหม่ 18% จำนวน 1% ของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาขายกระโดดขึ้นไปมากเป็นหลักหมื่น ตรงนี้ได้รับผลกระทบแน่ ๆ จำเป็นต้องเร่งโหมทำโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นให้ลูกค้ารีบตัดสินใจซื้อก่อนบังคับใช้อัตราภาษีใหม่

ด้านนายกฤษฎา อุตตโมทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารกิจการองค์กร บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้บีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด ได้จับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งทีมงานยังอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดและคำนวณผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับรถจักรยานยนต์แต่ละรุ่น ซึ่งโดยรวม ๆ เชื่อว่าจะเป็นการปรับขึ้นราคาอย่างแน่นอน ดังนั้น ช่วงรอยต่อของการปรับภาษี 2 เดือนนี้ (พ.ย.-ธ.ค.) ถือเป็นช่วงสุดท้ายที่ผู้บริโภคจะได้ซื้อรถในราคาปัจจุบัน ส่วนปีหน้าเชื่อว่าจะต้องมีการปรับราคาขายอย่างแน่นอน ยิ่งบิ๊กไบก์เป็นรถซีซีสูงต้องได้รับผลกระทบตรงนี้ชัดเจน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เตรียมความพร้อมรับมือกับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่มาพอสมควร แต่ที่ทุกฝ่ายยังกังวลคือความชัดเจนเรื่องการบังคับใช้มาตรฐานไอเสียระดับ 7 เทียบเท่ายูโร 4 ซึ่งก่อนหน้านี้มีแนวโน้มว่าจะเริ่มใช้ แต่ยกเลิกไปทำให้การวางแผนผลิตต้องชะงักไป แต่ตอนนี้เชื่อว่าทุกยี่ห้อกล้าที่จะลงทุนเพราะถ้าทำได้ก็จะยิ่งทำต้นทุนการผลิตต่ำลงตามโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่

สรรพสามิตยันบิ๊กไบก์ปรับราคา

นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี ในฐานะรองโฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ตามโครงสร้างภาษีใหม่ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไปนั้น โครงสร้างภาษีใหม่จะมีทั้งรถจักรยานยนต์ที่เสียภาษีเพิ่มขึ้นและเสียภาษีลดลง โดยเฉพาะกรณีรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่เกิน 1,000 ซีซีขึ้นไป หากไม่ปรับปรุงเทคโนโลยีให้ปล่อยก๊าซ CO2 ลดลงก็ต้องเสียภาษีอัตรา 18%

อย่างไรก็ดี มีค่ายรถยุโรปที่สามารถปรับปรุงเทคโนโลยีที่ทำให้ปล่อยก๊าซ CO2 ลดลง จนกระทั่งจะเสียภาษีที่อัตรา 9% ได้ ทำให้เสียภาษีลดลงจากปัจจุบัน

“ค่ายยุโรปทำตัวเลขการปล่อยไอเสียได้ดี น่าจะมีหลายยี่ห้อจ่ายภาษีลดลงคันละราว 1 แสนบาท หรือราว 10% จากราคาขายรถคันละ 1 ล้านบาท”

ทำ Ecosticker ระบุราคาขาย

นายณัฐกร กล่าวอีกว่า กรมได้ประสานกับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ให้มีการจัดทำ ecosticker เช่นเดียวกับรถยนต์ โดยรถจักรยานยนต์ที่จัดจำหน่ายตามโครงสร้างภาษีใหม่ ต้องติด ecosticker นี้ด้วย ซึ่งจะระบุถึงราคาจำหน่าย อัตราการปล่อยก๊าซ CO2 รวมถึงภาษีด้วย ซึ่งจะดำเนินการติด ecosticker ตั้งแต่เดือน ธ.ค.นี้

ส่วนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้านั้น นายณัฐกร กล่าวว่า ตามโครงสร้างภาษีใหม่จะเก็บรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่อัตรา 1% ทุกคัน โดยไม่คำนึงว่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดังกล่าวจะจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกได้หรือไม่ จากปัจจุบันยังไม่มีการจัดเก็บ

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมสรรพสามิต ระบุว่า ปัจจุบันรถจักรยานยนต์ที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศมีอยู่ราว 1.5 ล้านคันต่อปี โดยส่วนใหญ่มากกว่า 90% จะมีขนาดเครื่องยนต์ต่ำกว่า 125 ซีซี ซึ่งจากโครงสร้างภาษีใหม่ รถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่จะต้องเสียภาษีเพิ่มประมาณ 100-200 บาทต่อคัน มีเฉพาะรถบิ๊กไบก์ซึ่งมีราว 1,000 คัน ที่หากมีเครื่องยนต์เกิน 1,000 ซีซี ในกรณีปล่อยก๊าซ CO2 มาก ก็จะเสียภาษีเพิ่มจาก 17% เป็น 18% แต่หากปล่อยก๊าซต่ำก็จะเสียภาษีลดลงได้

กวาดภาษีเพิ่ม 800 ล้านบาท/ปี

ปัจจุบันมีการเก็บภาษีรถจักรยานยนต์อยู่ราว 2,000 ล้านบาทต่อปี โครงสร้างใหม่คาดว่าจะทำให้เก็บได้เพิ่มราว 30-40% หรือราว 600-800 ล้านบาทต่อปี

รายงานข่าวแจ้งว่า โครงสร้างภาษีรถจักรยานยนต์ในปัจจุบันที่เก็บตามขนาดเครื่องยนต์ หากไม่เกิน 150 ซีซี จะเสียภาษีที่ 2.5% ขณะที่ 150-500 ซีซี เสีย 4% ส่วน 500-1,000 ซีซี เสีย 8% และ 1,000 ซีซีขึ้นไป เสีย 17%


ส่วนโครงสร้างภาษีรถจักรยานยนต์ใหม่ หากเป็นรถใช้พลังงานไฟฟ้า (EV) เก็บที่ 1% รถที่ปล่อยก๊าซ CO2 ไม่เกิน 50 กรัมต่อกิโลเมตร เสียที่อัตรา 3% รถที่ปล่อยก๊าซ CO2 ตั้งแต่ 51-90 กรัมต่อกิโลเมตร เสียที่อัตรา 5% รถที่ปล่อยก๊าซ CO2 ระหว่าง 91-130 กรัมต่อกิโลเมตร เสียที่อัตรา 9% และรถที่ปล่อยก๊าซ CO2 เกิน 130 กรัมต่อกิโลเมตรขึ้นไป เสียที่อัตรา 18% ส่วนอื่น ๆ เสียที่ 20% และรถจักรยานยนต์ต้นแบบเพื่อการวิจัยพัฒนาเสียที่ 0%